วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วิวัฒนาการวงจรอุบาทว์ทางการเมืองไทย: จาก 2475 ถึง การเมืองหลังระบอบทักษิณ

บทความนี้ มีการอธิบายเพิ่มเติมสถาณการณ์การเปลี่ยนแปลงการเมืองล่าสุด จาก ๒๔๗๕ จน ถึง รัฐบาล ยิ่งลักษ์ ชิณวัตร วิวัฒนาการวงจรอุบาทว์ทางการเมืองไทย: จาก 2475 ถึง การเมืองหลังระบอบทักษิณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทิวากร แก้วมณี[1] การศึกษาพัฒนาการทางการเมืองบ่อยครั้งจะเป็นการศึกษาเพื่อหาคำตอบของสถานภาพของการพัฒนาความเป็นประชาธิปไตยในระบบการเมือง ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาเร็วๆนี้การเมืองไทยมีข้อเท็จจริงของความขัดแย้งของกลุ่มทางการเมืองและสังคม พร้อมกับการมีการทำงานที่มีความต่อเนื่องของโครงสร้างทางการเมืองประชาธิปไตยตัวแทน-รัฐสภา ในที่ซึ่งคุณภาพของนักการเมืองและตัวแทนรัฐสภามีสภาพของการผูกขาดของกลุ่มชนชั้นธุรกิจ นายทุนท้องถิ่น เจ้าพ่อและผู้มีอิทธิพล ซึ่งมาพร้อมกับกระบวนการเลือกตั้งที่มีการใช้เงินทุนและการซื้อเสียง คุณภาพของนักการเมืองและการเปิดกว้างในการแข่งขันทางการเมืองมีนัยยะของการไม่พัฒนาการแตกต่างไปจากช่วงการเมืองไทยเดิมๆในอดีต ในอดีตที่ผ่านมาการเมืองไทยในยุคระบบราชการก็มีปัญหาในลักษณะเช่นเดียวกันคือปัญหาการผูกขาดอำนาจของระบบการเมืองไทยที่ถูกผูกขาดในมือของทหารและราชการ เครื่องมือทางการเมืองที่ใช้ในการได้มาซึ่งอำนาจคือ การทำรัฐประหารและการสร้างกฏระเบียบใดๆของรัฐผ่านรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และประกาศ อันนำมาซึ่งอำนาจของทหารและราชการ ในโลกปัจจุบันการผูกขาดดังกล่าวดูเหมือนจะคลี่คลายและถูกแทนที่การผูกขาดทางอำนาจในรูปแบบใหม่ (New Authoritarian)[2] พร้อมกับความซับซ้อนของการเติบโตขององคพยพในหลายระดับและมิติของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งมีข้อเท็จจริงของการเติบโตซึ่งความต้องการและการพัฒนาการทางอุดมการณ์ การเกิดกระแสของอำนาจภาพนอกรัฐ จากระบบการค้าการลงทุน ลัทธิและอุดมการทางการเมืองประชาธิปไตย ตลอดจนผลประโยชน์ของประเทศมหาอำนาจและโครงสร้างการเมืองของประเทศมหาอำนาจที่กำลังเปลี่ยนแปลง ในงานบทความชิ้นนี้จะได้ทำการตรวจสอบพัฒนาการทางการเมืองของการเมืองไทยร่วมสมัยและจะได้ชี้ถึงพัฒนาการดังกล่าวว่าเกี่ยวพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการวิวัฒน์ของวงจรอุบาทว์ที่เกิดขึ้นในการเมืองไทย 1. จุดกำเนิดวงจรอุบาทว์การเมืองไทย จุดกำเนิดวงจรอุบาทว์ทางการเมืองไทยเป็นข้อสังเกตแบบแผนการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยุคการเมืองระบบราชการ (bureaucratic politics) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการก่อตัวมาตั้งแต่สยามหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 หากแต่ข้อสังเกตแบบแผนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังกล่าวนั้นได้พัฒนาการเป็นแนวความคิด(หรือทฤษฎี)ที่สามารถที่จะอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยได้อย่างชัดเจนว่ามีแบบแผนการเปลี่ยนแปลงที่ย่ำอยู่กับที่[3] กระบวนการทางการเมืองของผู้มีอำนาจรัฐและอำนาจทางการเมืองในยุคระบอบราชการนั้นมาจากการทำรัฐประหารของทหาร โดยทหารจะทำการรักษาอำนาจเป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อสร้างกติกาทางอำนาจผ่านการร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อกติกาทางอำนาจลงตัวอันเป็นการกำหนดสถานภาพทางอำนาจของรัฐบาล, อำนาจของรัฐสภา,และที่มาของสมาชิกรัฐสภา ที่มักจะถูกกำหนดให้สานต่ออำนาจของผู้ทำรัฐประหารผ่านกระบวนการที่ดูเหมือนเป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ซึ่งบ่อยครั้งจะมีการกำหนดให้มีสองสภา คือ สภาล่าง(สภาผู้แทนราษฎร)และสภาสูง ซึ่งสมาชิกรัฐสภาส่วนหนึ่งจะมาจากการแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจในการทำรัฐประหาร ด้วยวิธีทางตรงหรือทางอ้อมก็ดี อันเป็นวิธีการสืบต่ออำนาจ หรือการผ่องถ่ายอำนาจสู่โครงสร้างทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งอำนาจส่วนหนึ่งจะมีการปล่อยให้กลุ่มนักการเมืองและพรรคการเมืองเข้ามาร่วมใช้อำนาจด้วยการเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งโดยมากสมาชิกกลุ่มดังกล่าวนี้จะเข้าสู่อำนาจรัฐจากการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาล่างโดยทำหน้าที่ภายใต้อำนาจ และกรอบกติกา ตลอดจนผลประโยชน์ทางการเมืองที่ได้วางไว้แล้วโดยกลุ่มทหารที่ทำการยึดอำนาจ อย่างไรก็ดีหากการดำเนินการทางการเมืองที่ได้วางไว้แล้วผ่านการใช้อำนาจบริหาร นิติบัญญติ เกิดผลประโยชน์ทางการเมืองไม่ลงตัว ความขัดแย้งทางการเมืองของกลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งจะนำไปสู่การท้าทายอำนาจของทหารกลุ่มใหม่ หรือกลุ่มเดิมที่ไม่สามารถทนต่อกระบวนการประชาธิปไตยที่มองว่าเป็นความขัดแย้งและก่อให้เกิดความสูญเสีย และวิกฤตการณ์ของชาติที่ต้องได้รับการแก้ไข และกระบวนการประชาธิปไตยไม่สามารถนำพาระบบให้ผ่านพ้นจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองรัฐสภาซึ่งในท้ายที่สุด รัฐบาล,รัฐสภา,รัฐธรรรมนูญตลอดจนกระบวนการประชาธิปไตยก็ถูกท้าทายอีกครั้งโดยวิธีการรัฐประหาร เมื่อเกิดรัฐประหารก็ถือเป็นการบรรจบของวงจร เกิดรัฐประหารอีกครั้งถืออาจถือเป็นการเริ่มต้นของกลุ่มทหารและกลุ่มการเมืองใหม่ที่ท้าทายกลุ่มการเมืองเก่า หรืออาจหมายถึงกลุ่มทหารกลุ่มเดิมที่ต้องการจัดสรรผลประโยชน์และจัดการกับกติกาใหม่ ที่บางครั้งกลุ่มนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งได้ถูกมองว่าได้ท้าทายอำนาจของทหารจนต้องยึดอำนาจกลับคืนมา หากพิจารณาการเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรูปแบบวงจรอุบาทว์พบว่า การรัฐประหารครั้งแรกที่ก่อการโดยจอมพล ป. พิบูลย์สงครามในปี 2476 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการรัฐประหาร ซึ่งก็น่าจะถือว่าเป็นการรัฐประหารที่มีจุดมุ่งหมายกระชับอำนาจของกลุ่มคณะราษฏรที่ยังมีการรวมตัวกันของสมาชิกอย่างหลวมๆ อันเป็นการเกรงกลัวการรื้อฟื้นอำนาจของฝ่ายเจ้าขึ้นมาอีกครั้ง ความชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบวงจรอุบาทว์ในช่วงการเมืองจาก 2475 ถึง 2490 นั้น ยังไม่ชัดเจนนัก เพราะเหตุว่า กลุ่มอำนาจที่จะมาท้าทายอำนาจของกลุ่มคณะราษฏรนั้นยังไม่ก่อตัวเป็นที่ชัดเจน ความขัดแย้งภาพในกลุ่มคณะราษฏรนั้นแม้ว่าจะมี แต่ผู้นำของกลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือจอมพล ป. ซึ่งมีอำนาจทางทหาร(บก) ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นนายปรีดี ซึ่งไม่มีอำนาจทางทหาร(บก)เป็นการหนุนหลังเป็นที่ประจักษ์เช่นกลุ่มจอมพล ป. ประกอบกับในช่วงเวลานั้น การก่อตัวของพลังทางการเมืองของนักการเมืองและพรรคการเมือง ที่เป็นส่วนหนึ่งของการท้าทายอำนาจทหารยังมีความอ่อนแอ เพราะการเลือกตั้ง,กระบวนการประชาธิปไตย และการจัดตั้งพรรคการเมือง ยังเพิ่งเป็นจุดเริ่มต้นจึงมีพลังทางการเมืองของพรรคการเมืองน้อยเกินกว่าที่ก่อการท้าทายผลประโยชน์และสร้างความขัดแย้งให้กับกลุ่มของคณะราษฏร นอกเสียจากความขัดแย้งของสองผู้นำในกลุ่มคณะราษฏรเสียเองซึ่งในช่วงหลังๆก็เป็นกลุ่มที่เริ่มจะใช้อำนาจผ่านพรรคการเมืองและกระบวนการรัฐสภามากขึ้นเรื่อยๆ Dhiwakorn Kaewmanee (2007) อธิบายว่า สงครามโลกครั้งที่สองยุติได้ส่งผลต่อการสุญเสียอำนาจของจอมพล ป. และทหาร และเป็นการเปิดช่องให้มีการพัฒนาการเมืองตามกระบวนการรัฐสภามากขึ้น นักการเมืองคณะราษฏรที่ไม่มีทหารเป็นฐานทางการเมืองจำเป็นต้องจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อท้าทายอำนาจของทหารในระบบการเมืองราชการ “..after having attaining the position of prime minister in 1946 for the first time, Pridi immediately drafted a new constitution. The revolutionary significance of the new constitution was the development of parliamentary forces. Contrary to the previous constitution, Pridi’s constitution primarily aimed to control the military and ensure the power of civilian government and parliament. …” (Dhiwakorn, 2007:103) ภาพ: วงจรอุบาทว์เก่า ลิขิต (2536:73) ความชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยมีความชัดเจนมากขึ้น ตึ้งแต่ปี 2490 เมื่อการเมืองรัฐบาลของกลุ่มปรีดี เกิดวิกฤติ มีการกล่าวหาและโจมตีความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาการคอรัปชั่นของรัฐบาล และปัญหาความสงสัยในการสิ้นพระชนม์ของรัชกาลที่ 8 จึงเป็นผลให้กลุ่มทหารได้ใช้อำนาจเข้ายึดอำนาจในปี 2490 กระบวนการวงจรอุบาทว์ได้เริ่มขึ้นตามด้วยการร่างรัฐธรรมนูญและการประกาศการเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาลและการตรวจสอบและการทำงานในรัฐสภา ในช่วงเวลายุคนี้ การเมืองมีการผสมผสานของความขัดแย้งและการแข่งขันของนักการเมืองรัฐสภากับทหารและข้าราชการมากขึ้นในระดับหนึ่งซึ่งมีพลังของการขัดแย้ง ต่อรอง ทั้งนี้เพราะสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยได้อำนาจจากประชาชนจากการเลือกตั้งและคอยทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจของทหารและข้าราชการที่ใช้อำนาจฝ่ายบริหารโดยผ่านกระบวนการประชาธิปไตยจึงเป็นผลให้ทหารเข้าทำการยึดอำนาจและพยายามคุกคามกระบวนการประชาธิปไตยในช่วงการเมืองสฤษดิ์ในเวลาต่อมา อย่างไรก็ดีเป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งในช่วงการเมืองนี้ว่า นักรัฐสภาที่ได้รับการเลือกตั้งที่เป็นฝ่ายค้านกับรัฐบาลได้ถูกทำร้ายและถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ นักการเมืองรัฐสภาจำนวนไม่น้อยถูกทำร้ายอย่างป่าเถื่อนจากผู้มีอำนาจจากภาครัฐ จนนำไปสู่การยึดอำนาจของทหารซึ่งไม่ประสงค์จะเปิดสภาที่จะมาคอยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล สิ่งนิ้สะท้อนว่าการถ่วงดุลและกระบวนการประชาธิปไตยมีพลังไม่มากก็น้อยที่จะถ่วงดุล และตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาล 2. วงจรอุบาทว์ในยุคกึ่งประชาธิปไตย( Semi-democracy) ยุคการเมืองกึ่งประชาธิปไตย เป็นช่วงเวลาที่ทหารได้ลดบทบาททางการเมืองไปบางส่วนหลังจากที่ครองอำนาจรัฐและการเมืองมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2500 ต่อเนื่องมาจากรัฐภายใต้อำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ต่อเนื่องมาจนถึงการท้าทายอำนาจจากการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาในปี 2516 การท้าทายครั้งนั้นเป็นการจบยุคการที่ทหารมีอำนาจสูงสุดในการครอบงำอำนาจรัฐและอำนาจทางการเมือง ระบอบการเมืองหลังจากนั้นจึงเป็นการรวมกันของใช้อำนาจของทหารและนักรัฐสภา-พรรคการเมืองที่กลับเข้ามาสู่อำนาจอีกครั้ง อันเป็นที่เรียกว่า กึ่งประชาธิปไตย ซึ่งหมายถึง เป็นการใช้อำนาจผสมผสานของอำนาจเผด็จการและอำนาจประชาธิปไตย(ชัยอนันต์ อ้างใน Dhiwakorn 2007:chapter 5) โดยอำนาจเผด็จการ หมายถึงอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชนแต่เป็นอำนาจที่เกิดขึ้นจากรากฐานอำนาจของทหารและสถาบันราชการ ในขณะที่อำนาจประชาธิปไตยที่นักการเมือง พรรคการเมืองมีความเป็นตัวแทนได้อำนาจจากประชาชนผ่านกระบวนการประชาธิปไตยนั่นคือการเลือกตั้ง (แม้จะบริสุทธิ์ หรือไม่บริสุทธ์ ยุติธรรม หรือ ไม่มีคุณภาพของการเลือกตั้งที่ดี ตรงนั้นวงการวิชาการยังไม่ก้าวหน้าพอที่เกิดคำถามนี้ในบริบททางวิชาการขณะนั้น ดู Diamond, 2005) พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้นำทางการเมืองขณะนั้นที่รักษาอำนาจกว่า 1 ทศวรรษด้วยระยะเวลาการทำงานถึง 3 รัฐบาล ซึ่งพลเอกเปรมมีสถานภาพการเป็นผู้นำทหารที่คอยประสานประโยชน์ของทหารภายใต้การทำงานที่ต่อเนื่องของกลไกประชาธิปไตย และกระบวนการรัฐสภา การเมืองในช่วงนี้ มีความต่อเนื่องของการเลือกตั้ง การทำงานของสภา การตรวจสอบถ่วงดุลของสมาชิกสภากับคณะรัฐมนตรี ในขณะที่ทหารก็ยังทรงอภิสิทธ์ในระบบการเมืองแบบกึ่งประชาธิปไตยในการร่วมใช้อำนาจการเมืองในฐานะสมาชิกรัฐสภาที่มาจากนายกรัฐมนตรี รวมถึงทหารยังเป็นหน่วยราชการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ บทบาททางราชการ รวมถึงสถานภาพทางสังคม สูงส่งเหนือกว่าบรรดาวิชาชีพและหน่วยราชการต่างๆ ในช่วงเวลา 1 ทศวรรษนี้ เป็นระยะเวลาที่ยาวเพียงพอและมีความต่อเนื่องอย่างไม่เคยเกิดมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทยที่กระบวนการประชาธิปไตยอย่างการเลือกตั้ง และกระบวนการทางรัฐสภา มีความต่อเนื่อง พร้อมๆกับการพัฒนาการของภาคประชาสังคมและบริบทในการเมืองโลกที่เอื้อต่อการเติบโตของกระบวนการประชาธิปไตยในประเทศไทย(ดูรายละเอียดในงานอื่นของผู้เขียน Dhiwakorn 2007) ในช่วงเวลานี้พรรคการเมือง ก็มีการทำหน้าที่ในระบบการเมืองอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับความต่อเนื่องทางอำนาจของนักเลือกตั้ง (สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร) ในการสร้างกลไกทางการเลือกตั้งกับประชาชนและหัวคะแนน ตลอดจนการแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจที่อิงแอบกับอำนาจรัฐที่ตนเองได้มา เป็นที่น่าสังเกตว่า อัตราส่วนของนักการเมืองที่เข้ามาในช่วงการเมืองกึ่งประชาธิปไตยมีพื้นฐานอาชีพของการเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่น และผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นมากขึ้นเรื่อยๆ และนักการเมืองท้องถิ่นเหล่านั้นก็มักจะมีสายสัมพันธ์กับผู้นำพรรคการเมืองในระดับชาติจึงได้ถูกชักชวนให้เป็นผู้แทนในส่วนท้องถิ่นเมื่อมีการเลือกตั้ง และเพื่อจะชนะการเลือกตั้ง ซึ่งต้องมีกิจกรรมการรณรงค์หาเสียง การจ้างทีมงานเดินหาเสียง ค่าจ้างรถ ค่าทำป้ายประกาศต่างๆ เหล่านี้เป็นกิจกรรมที่ต้องมีการใช้เงินทุนเข้ามาเป็นทรัพยากรทางการเมือง รวมทั้งการต้องหาเงินทุนส่วนตัวเข้าสนับสนุนโครงการของราชการที่ยังไม่การจัดสรรเพียงพอและทั่วถึง ตลอดจนยังขาดประสิทธิภาพอย่างมากในการแก้ไขปัญหาและความต้องการของคนในท้องถิ่น ในขณะที่นักเลือกตั้งที่มีพื้นฐานจากราชการ ที่ในอดีตที่มักจะได้เปรียบจากเครือข่ายกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คนรู้จักนับหน้าถือตา อำนาจหน้าที่ที่เคยทำไว้เป็นบุญคุณ เป็นผลงานจากการใช้อำนาจและจัดสรรงบประมาณ อันเป็นบารมีที่สั่งสมมาครั้งทำราชการ เป็นทรัพยากรทางการเมือง อย่างไรก็ดีนักเลือกตั้งที่ใช้ทรัพยากรการเมืองระบบราชการ ได้เริ่มพ่ายแพ้อิทธิพลของ”เงิน” เรื่อยๆ การรณรงค์หาเสียงที่มีประสิทธิภาพและเข้าถึงประชาชนที่มากกว่าจะเป็นสิ่งที่ได้เปรียบ ดังนั้นนักเลือกตั้งจึงเริ่มตั้งแต่การทุ่มทุนที่มากกว่าในการรณรงค์หาเสียง การลงทุนในป้ายประกาศที่มีจำนวนมากและกระจายในพื้นที่เพียงพอ การใช้เงินเป็นค่าจ้างทีมงาน รถประกาศหาเสียง การเข้าอุปถัมป์ในโครงการต่างๆของวัด ตำบล หมู่บ้าน ชาวบ้าน การแจกสิ่งของของที่ระลึก การเลี้ยงอาหารการกินในโอกาสต่างๆ ซึ่งเป็นการสร้างบารมีอันซื้อหามาได้ด้วยเงินทุนที่ต้องเพิ่มปริมาณให้มาก ซึ่งไม่รวมถึงการ “การซื้อเสียง” โดยตรงซึ่งเป็นพัฒนาการการเมืองที่เกิดขึ้นที่หลังจาก“การใช้เงินซื้อบารมี” ที่เกิดขึ้นก่อนการซื้อเสียงและมีมาอย่างนมนานในสังคมและรัฐไทย 3. ยุคการเมืองระบอบธุรกิจการเมือง(Money Politics) และวงจรอุบาทว์ใหม่(New Political Vicious Circle)[4] เงินทุน(Money)เป็นทรัพยากรที่นักการเลือกตั้งจำเป็นต้องใช้ในการรณรงค์หาเสียง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า อดีตข้าราชการที่ลงมาเป็นนักเลือกตั้งจะมีต้นทุนที่เป็นต่อมีอยู่เดิม อันเกิดจากการเป็นที่รู้จักและการสะสมบารมีจากการดำรงตำแหน่งหน้าที่ราชการ รวมถึงอดีตข้าราชการที่มีความใกล้ชิดหรืออยู่ในพรรคเดียวกันกับผู้มีอำนาจรัฐในส่วนกลางก็มักจะได้รับการช่วยเหลือการรณรงค์การเลือกตั้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐและกลไกต่างๆของรัฐ การใช้เงินที่เป็นทรัพยากรทางการเมืองที่สามารถสร้างอำนาจและบารมีนั้น มีการใช้ไม่เว้นแต่การสร้างจากวงการราชการ การใช้เงินและอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรในตำแหน่งหน้าที่สามารถสร้างอำนาจบารมีผ่านระบบอุปถัมป์ที่มีมาอย่างนมนานก่อนหน้าช่วงเวลากึ่งประชาธิปไตยในสังคมไทย ซึ่งจำเป็นต้องมีการถกเถี่ยงว่าเริ่มต้นมาจากนักธุรกิจหรือข้าราชการเองหรือไม่ เป็นที่น่าสังเกตอีกว่า การซื้อเสียงมีลักษณะในแนวทางเช่นเดี่ยวกับการติดสินบนซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดคู่กับรัฐไทยมาอย่างนมนานคือการใช้เงินตอบแทนสิ่งที่ตัวเองต้องการเป็นสิ่งตอบแทน มากกว่านี้ข้าราชการก็เคยใช้เงินในรูปของการจัดสรรงบประมาณของรัฐเพื่อสร้างบารมีและระบบอุมถัมป์ ซึ่งเป็นพื้นฐานการสร้างความนิยมในภายหลังเมื่อลงรับเลือกตั้งแข่งขันกับกับการเมืองที่มาจากภาคธุรกิจ มากกว่านี้ ข้าราชการก็มักจะใช้อำนาจหน้าที่ของตนแทรกแซงการเลือกตั้ง อาทิ ในรูปแบบของคำสั่งกระทรวงมหาดไทย หรือกองทัพให้ช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้งเข้าไปเป็นนักรัฐสภา[5] งานวิจัยของ ชาญณวุติ ไชยรักษา เรื่อง นักการเมืองถิ่นพิษณุโลก (2549) ได้สะท้อนภาพดังนี้ว่า การอยู่ในตำแหน่งอำนาจหน้าที่และเคยสร้างบุณคุณและบารมีมาแล้ว เอื้อต่อการได้รับการช่วยเหลือจากระบบราชการ และได้รับควานิยมในท้ายที่สุด “การเลือกตั้งเมื่อ 6 มค 2489 คราวนี้ พระยาสุนทรพิพิธ ซึ่งเคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกอยู่ 7 ปี กำนันผู้ใหญ่บ้านได้รับการแต่งตั้งจากท่านผู้นี้ บางที่กำนันเก่าซึ่งเป็นบิดาของกำนันใหม่ ก็ได้รับการแต่งตั้งจากท่านผู้นี้เหมือนกัน ส่วนข้าราชการบนศาลากลางและศาลอำเภอทุกแห่งนั้น ร้อยทั้งร้อยเคารพนิยมท่านเจ้าคุณทั้งนั้น เป็นระเบียบกระทรวงมหาดไทยให้นายอำเภอประชุมอบรมราษฎรทุกตำบลให้รู้จักและเข้าใจการเลือกตั้ง .....ท่านผู้สมัครที่เป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดไปปรากฎตัวและปราศัยแก่ราษฎรในตำบลที่สำคัญทุกแห่ง....” (จงกล ไกรฤกษ์ 2546 ในชาญณวุต 2549:69) และ งานชาญณวุต ยังสะท้อนอีกว่า จอมพล ป.ได้ใช้เงินงบประมาณของรัฐจัดสรรมาจนกลายเป็นอำนาจ บารมีของตระกูลพิบูลสงครามที่ส่งผลให้น้องภรรยาได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร “น.ท.ทินกร (น้องภรรยานายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม) ได้รับการเลือกตั้งประการหนึ่ง คือทุนทางสังคม (social capital) ในฐานะที่ตระกูลพิบูลสงครามให้การช่วยเหลืออุปถัมป์นำงบประมาณมาจัดสรรเพื่อพัฒนาจังหวัดพิษณุโลกโดยตลอด” (ชาญณวุติ 2549 ทำการย้ำข้อมูลโดยผู้เขียน) อย่างไรก็ดี การใช้เงินในรูปแบบ ”การซื้อเสียง” จ่ายเงินกับผู้สนับสนุนเริ่มปรากฎขึ้นบ้างในบางพื้นที่ในปี 2512 โดยในระดับหัวคะแนนจะได้คนละ 500 และประชาชนจะได้คนละ 100 ซึ่งการหาเสียงด้วยการใช้เงินทุนยังต้องผสมผสานกับช่องว่างการพัฒนาที่ทางรัฐเข้าไม่ถึงและไม่มีงบประมาณ นักเลือกตั้งจึงใช้เงินทุนส่วนตัวสร้างบารมีและคะแนนเสียงจากเงินทุนของตนเอง เพื่อไปทำกิจกรรมสาธาณะเพื่อสร้างความนิยม บารมี และระบบอุมถัมป์ ด้วยการไปบูรณะ ซ่อมแซมหรือตัดถนนให้แก่ประชาชนที่มีปัญหาเรื่องการคมนาคมในช่วงเวลาการหาเสียงเลือกตั้ง นักเลือกตั้งจะต้องหาเงินทุนเพื่อช่วยเหลืองานชาวบ้าน เช่นการบูรณะวัด โรงเรียน ที่เริ่มเป็นช่องทางการได้คะแนนนิยมอย่างหนึ่ง (คำสัมภาษณ์ นายอนันต์ ภักด์ประไพ อดีต ส.ส. พิษณุโลก ในชาญณวุต 2549) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สอดพร้องจากการยืนยันของนายชวน หลีกภัย ว่าการซื้อเสี่ยงแบบมีหัวคะแนนมีปรากฎในการเลือกตั้งที่ภาคใต้ในช่วงทศวรรษ 2510 (Dhiwakorn, 2007:chap. 5) แต่ยุคการแข่งขันการเมืองที่มีสูงและมีการใช้เงินเข้ามา มีข้อสังเกตด้วยว่าไม่ได้เกิดเฉพาะกับนักเลือกตั้งที่มาจากภาคธุรกิจ อดีตทหารอย่างพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ก็ได้รับการตั้งข้อสงสัยของการเป็นจุดเริ่มต้นการใช้เงินมหาศาลทุมลงไปซื้อเสียงตรงๆกับผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่จังหวัดร้อยเอ็ด จนเป็นที่กล่าวขวัญของ”โรคร้อยเอ็ด” ในการเลือกตั้งในปี 2522 และแพร่หลายไปสู่การเลือกตั้งในภาคอีสานในอีกหลายๆจังหวัด (การสัมภาษณ์ อาจารย์ชาญชัย รัตนวิบูลย์) การใช้เงินมีความจำเป็นต่อการสร้างอำนาจการเมืองและการใช้อย่างเป็นระบบมากขึ้นเรื่อยๆของนักเลือกตั้งนับตั้งแต่การเมืองระบอบกึ่งประชาธิปไตย ทั้งนี้เพราะไม่เพียงแต่เป็นช่วงเวลาที่มีสมาชิกสภาล่าง ที่มาจากภาคธุรกิจมากขึ้นตามที่ผาสุก พงษ์ไพจิตรเคยถก หากแต่เป็นช่วงเวลาที่ผู้นำทหารและข้าราชการเริ่มแสวงหาอำนาจการเมืองผ่านกระบวนการประชาธิปไตยที่เป็นอีกช่องทางหนึ่งของการได้มาซึ่งอำนาจนอกเหนือจากการพึ่งผิงที่มาอำนาจแต่เพียงอำนาจของทหารและกองทัพ(ตัวอย่างเช่น พลเอกเกียงศักดิ์ ชมะนันท์, พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก,พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นต้น ตัวอย่างของผู้นำกระทรวงมหาดไทย คือ นายพิศาล มูลศาสตร์สาทร เป็นต้น) การใช้เงินมีความต่อเนื่องมากขึ้นผันตรงกับบริบททางการเมืองที่เกี่ยวกับความต่อเนื่องของระบอบประชาธิปไตยที่มีมหาอำนาจเป็นผู้คอยกำหนดและพิทักษ์ประกอบกับลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่เพิ่มพลังอำนาจของเงินเหนือพลังอำนาจราชการและความมั่นคงที่มีอยู่เดิม(ดู รายละเอียดประเด็นนี้ใน Dhiwakorn 2007:chap. 4) พรรคการเมืองในช่วงเวลาตั้งทศวรรษ 1990 ได้ยกระดับการใช้เงินทุนในการระดมทุนและแสวงหาผลประโยชน์อย่างชัดเจนเพื่อกิจการรักษาอำนาจทางการเมืองในนามของสถาบันมากกว่าในนามของปัจเจกบุคคลที่เป็นผู้นำหรือแกนนำพรรคที่คอยสนับสนุนทุนรอนกับพรรคการเมือง ดังจะเห็นจากการเกิดอภิมหาโปรเจค และพรรคการเมืองที่มีอำนาจขณะนั้นในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ ถูกท้าทายจากอำนาจของทหารในปี 2535และถูกตั้งข้อหาการทุจริตคอรัปชั่นและนักการเมืองก็ถูกยึดทรัพย์กันเป็นจำนวนมาก ระบอบธุรกิจการเมืองที่มีลักษณะเด่นของการเพิ่มจำนวนนักธุรกิจ นายทุน ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นในอำนาจนิติบัญญติ ผ่านการเลือกตั้ง การเป็นแกนนำของพรรค และมีอำนาจรัฐบาลผ่านกระบวนการประชาธิปไตยระบบตัวแทนรัฐสภา เริ่มเข้ามามีบทบาทเหนือระบบราชการมากขึ้นเรื่อยๆ จากความต่อเนื่องของระบอบประชาธิปไตยตัวแทน-เลือกตั้ง ได้เพิ่มความรุนแรงของการใช้เงินระบบการเมือง ผสมผสานกับวัฒนธรรมการเมืองของคนไทยที่สามารถสร้างบารมีได้ง่ายจากการใช้เงินแสวงหา เริ่มตั้งแต่การใช้เงินซื้อเสียงและสรรหารูปแบบการใช้เงินสร้างบารมี ตามด้วย พรรคการเมืองซื้อนักการเมืองในพื้นที่เข้าพรรคเพื่อให้มีเสียงข้างมากในรัฐสภา และผันตรงกับจำนวนที่จะต่อรองกับตำแหน่งรัฐมนตรี ดังนั้น รัฐมนตรีและพรรคการเมืองที่ได้อำนาจรัฐบาลก็จะทำหน้าที่อย่างหนึ่งคือการแสวงหาเงินทุนเข้าพรรคและเข้ากลุ่มก้อนทางการเมืองของตนเพื่อที่เลี้ยงรักษาอำนาจฐานเสียงของตนไว้ต่อรองกับตำแหน่งและผลประโยชน์ 4. รัฐธรรมนูญปี 2540 7ปี จากรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ จนถึงรัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ (1990-1997) แม้ว่าจะมีการขาดช่วงของการใช้อำนาจของเหล่านักการเมือง นักเลือกตั้งบ้าง แต่ก็เป็นเพียงระยะเวลาสั้นมากที่ไม่สามารถขจัดการพัฒนาอิทธิพลของระบอบการใช้เงินที่เริ่มกลายเป็นระบบและสถาบัน(institutionalizing)ในการเมืองไทยภายใต้การการยึดอำนาจของทหารที่เรียกกลุ่มตัวเองว่า ร.ส.ช. อย่างไรก็ดี หลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิณและการมีนายกรัฐมนตรีพระราชทาน กระบวนการประชาธิปไตยและนักการเมือง พรรคการเมืองก็กลับมีบทบาทในระบบการเมืองอีกครั้งอย่างต่อเนื่องจนถึงขั้นมีกระแสความพยายามที่จะทบทวนกติกาในระบบการเมืองซึ่งสะท้อนการเติบโตของภาคประชาสังคมไทย กลุ่มการเมือง พรรคการเมือง ที่ร่วมส่งตัวแทนเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญ 2540 รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกและฉบับเดี่ยวในปัจจุบันที่ภาคประชาสังคม พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง นักวิชาการ มีส่วนร่วมในการร่างมากที่สุดในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญนี้ได้มีส่วนกำหนดกติกาให้นักเลือกตั้งมีอำนาจเหนือกว่าอำนาจของทหารและข้าราชการอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนซึ่งเป็นการสะท้อนอำนาจที่เป็นจริงในระบบการเมืองในขณะนั้น ในหลายๆมาตราที่สำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุที่มาของอำนาจรัฐสภา ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับอำนาจของรัฐบาลที่มีอำนาจเหนือระบบราชการ ได้เป็นต้นเหตุขจัดอำนาจของราชการออกจากอำนาจรัฐสภาเกือบจะสมบูรณ์และกำหนดให้อำนาจที่เคยเป็นอำนาจของทหารและราชการไว้ต่อรองอำนาจในกระบวนการประชาธิปไตยนั้น กลับกำหนดให้นักการเลือกตั้งเข้ามามีอำนาจทั้งอำนาจสภาสูง และสภาล่างอย่างสมบูรณ์ แม้ว่าอำนาจของสภาสูงจะมีความพยายามกำหนดให้เป็นกลางจากอิทธิพลของพรรคการเมือง แต่ก็ส่อความล้มเหลวว่า อำนาจสภาสูงไม่สามารถตัดขาดจากอิทธิพลของพรรคการเมืองได้ อันส่งผลให้รัฐธรรมนูญปี 2540 เอื้อให้พรรคการเมืองมีอำนาจอย่างสมบูรณ์อย่างที่ไม่มีมาก่อนและก่อให้เกิดการขาดการถ่วงดุลใดๆจากอำนาจราชการอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และมีข้อเท็จจริงอีกว่า รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดจะเอื้อต่อการผูกขาดอำนาจของพรรคการเมือง และเป็นไปได้ยากที่จะกำหนดอำนาจหน้าที่ของสภาสูงให้ทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจของสภาล่างและพรรคการเมือง และส่งผลต่อมาต่อการแต่งตั้งองค์กรทางการเมืองต่างๆ ที่ตามมา อาทิ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ในท้ายที่สุดก็ไม่หลุดไปจากอิทธิพลของพรรคการเมือง ซึ่งนำไปสู่การฉีกรัฐธรรมนูญ และเกิด สมาชิกสภาสูง ที่มาจากการแต่งตั้งอีกครั้งใน รัฐธรรมนูญปี 2550[6] 5. ธุรกิจการเมือง นโยบายประชานิยม และการเมืองระบอบทักษิณ[7] การเมืองในระบอบทักษิณเป็นพัฒนาการสูงสุดของระบอบธุรกิจการเมือง[8] ซึ่งในระบอบธุรกิจการเมืองนั้นมีลักษณะเด่นคือ เป็นการเมืองที่ถูกครอบงำโดยอิทธิพลของนักธุรกิจและผลประโยชน์ธุรกิจ และเงินทุนเป็นปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญในการได้มาซึ่งอำนาจการเมือง ระบอบการเมืองธุรกิจนี้จะมีการใช้กลไกประชาธิปไตยเป็นแรงขับเคลื่อนทางการเมืองซึ่งอาจมีลักษณะของประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์หรืออาจมีลักษณะเป็นเผด็จการโดยกลุ่มทุน( capital authoritarian) ซึ่งพัฒนาการของระบอบนี้ก็พัฒนาการแทนที่การเมืองระบอบราชการ ผ่านช่วงเวลาการเมืองกึ่งประชาธิปไตยและเริ่มมีความเด่นชัดมากหลังยุคการเมืองที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ วางมือทางการเมือง และมีการพัฒนาการสูงสุดหลังปี 2544 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการใช้เงินทุนสูงขึ้นมากในการลงทุนเพื่อการเมือง (การให้สัมภาษณ์ของพระรักเกียรติ ในhttp://www.youtube.com/watch?v=r72Fy7MOOHQ) นักการเมืองมีต้นทุนในการใช้จ่ายในการหาเสียงมากขึ้นและมีการซื้อเสียงกระจายไปทั่ว วงเงินลงทุนเพื่อการได้มาซึ่งอำนาจมีวงเงินสูงขึ้นมากหลายเท่าจากเดิมซึ่งน่าจะเกิน 5-10 เท่าจากจุดเริ่มต้นของจุดกำเนิดธุรกิจการเมืองในต้นทศวรรษ 2530 (พระรักเกียรติhttp://www.youtube.com/watch?v=r72Fy7MOOHQ) นักการเมืองและพรรคการเมืองที่ประสงค์เข้าสู่อำนาจต้องหาเงินมหาศาลมาใช้เป็นทุนเพื่อดึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเข้ามาสร้างกลุ่มหรือมุ้งการเมืองเพื่อต่อรองให้ได้ตำแหน่งรัฐมนตรี อย่างไรก็ดี ธุรกิจการเมืองก็ยังปรากฎเป็นลักษณะที่สำคัญของการเมืองระบอบทักษิณ ที่มีลักษณะที่เกี่ยวพันธ์คือ ผลประโยชน์การเมืองและนักธุรกิจเป็นเป้าหมายหลักของนักเลือกตั้งและนักการเมืองที่จะเข้าสภา เงินทุนเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ชัดเจน ในระบอบการเมืองทักษิณ มีการพัฒนาแนวความคิดในหมู่นักการเมืองว่า การเมืองคือการลงทุนอย่างหนึ่งและการเมืองมีผลประโยชน์มหาศาลให้กับนักการเมือง นักธุรกิจเข้าไปกอบโกย และที่สำคัญมากไปกว่านั้น นักธุรกิจ นายทุนจากอดีตที่ผ่านมาจะใช้เงินทุนเป็นเครื่องมือทางอ้อมในการมีอิทธิพลทางการเมือง แต่กลับเข้ามาเป็นนักการเมืองและผู้มีอำนาจรัฐและอำนาจการเมืองโดยตรง และเข้ามากำหนดนโยบายสาธารณะโดยตรง และทำให้ผู้มีอำนาจรัฐและการเมืองมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดสรรทรัพยากร โอกาสและสร้างกฎระเบียบในการแข่งขันของตลาด อันเป็นยุคที่ สมัคร สุนทรเวช เรียกว่า “ยุคเสี่ยเล่นเอง” (คำสัมภาษณ์ของพระรักเกียรติ ในhttp://www.youtube.com/watch?v=r72Fy7MOOHQ) หรือ ที่ ผาสุก พงษ์ไพจิตร เรียกว่า “ระบอบไทคูนคือรัฐ” (tycoon คือ นักธุรกิจที่มีเงินและอำนาจสูง) (ผาสุก 2548) และนักธุรกิจและนายทุนในการเมืองระบอบทักษิณนี้ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างนักธุรกิจในกลุ่มของรัฐบาลกับนักธุรกิจที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเดี่ยวกับรัฐบาล เนื่องจากนักธุรกิจที่ไม่ให้การสนับสนุนเงินทุนกับพรรคการเมืองของรัฐบาลจะไม่ได้รับประโยชน์จากการจัดสรรทรัพยากรและกฎระเบียบจากรัฐบาลอย่างเท่าเที่ยม ซึ่งเป็นปัญหาของการเมืองระบอบทักษิณที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเพราะเส้นแบ่งระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ของประชาชนไม่ชัด (Dhiwakorn 2007) กระบวนการการได้มาซึ่งอำนาจของระบอบทักษิณ เริ่มต้นจาก ดร.ทักษิณ ชินวัตร ประสพความสำเร็จในการสร้างกลไกพรรคการเมือง เพื่อดำเนินกิจการการได้มาซึ่งอำนาจรัฐผ่านพรรคการเมือง ผ่านการเลือกตั้งและกระบวนการในระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา และใช้เงินทุนเป็นแรงขับเคลื่อนเพื่อแสวงหาและรักษาอำนาจ พรรคการเมืองไทยรักไทยที่ ดร.ทักษิณจัดตั้งขึ้นนั้น พัฒนาความเป็นองค์กรการเมืองที่จัดการอย่างเป็นระบบ เหมือนการจัดการในระบบบริษัทเอกชน พรรคการเมืองทำหน้าที่ส่วนหนึ่งคือการแสวงหาผลประโยชน์และเงินทุนขับเคลื่อนการเมืองและการรักษาอำนาจรัฐและอำนาจทางการเมือง นักการเมืองและนักการเลือกตั้งเปรียบเสมือนสมาชิกบริษัทที่สามารถถูกซื้อตัว ได้รับเงินสนับสนุนการหาเสียง เงินเดือนจากพรรค(พระรักเกี่ยรติ ในhttp://www.youtube.com/watch?v=r72Fy7MOOHQ) และรับนโยบาย เทคนิคการหาเสียง อุปกรณ์การหาเสียง ตลอดจนการขับเคลื่อนนโยบายอย่างเป็นระบบอย่างกับการสั่งตรงจากบริษัทแม่ (ชาญณวุฒ 2549) การเมืองถูกมองว่าเป็นเรื่องของการลงทุนและธุรกิจอย่างหนึ่ง นักการเมืองใช้อำนาจรัฐเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเองและพวกพ้อง โดยในรายได้ส่วนหนึ่งจะถูกผันไปเพื่อการลงทุนในการเมืองต่อไปอีก โดยมีการใช้นโยบายประชานิยมขยายฐานเสียงทางการเมืองตามแนวความคิดระบบตลาด ในแง่หนึ่ง เกิดข้อดีในเรื่องของบทบาทของพรรคการเมือง ความต่อเนื่องของระบอบและกระบวนการประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ตลอดจนนโยบายพรรคการเมืองที่มีความชัดเจนในแง่ผลประโยชน์ต่อกลุ่มสังคมในระบบการเมือง ในแง่หนึ่งซึ่งอาจมองเป็นข้อเสียคือความเป็นอิสระและอำนาจของนักเลือกตั้ง สส จำต้องอยู่ในอิทธิพลของพรรคการเมืองและเจ้าของพรรคการเมืองซึ่งได้สร้างและพัฒนาระบบและลำดับขั้นของความอาวุโสภายในพรรคอย่างเป็นระบบ ระบบการเมืองของการเมืองไทยซึ่งเคยมีปัญหาเรื่องเสถี่ยรภาพของพรรคการเมืองและมีภาพของความอ่อนแอ กลับได้พัฒนาเป็นพรรคการเมืองที่มีบทบาทและอิทธิพลมากเหนือสมาชิกที่รักษาผลประโยชน์ในพื้นที่และเอื้อต่อการใช้อำนาจได้ง่ายของนายทุนพรรคหรือเจ้าของพรรคการเมือง วงจรอุบาทว์การเมืองใหม่จึ่งได้เริ่มต้นขึ้น จากการที่พรรครวบรวมเงินสนับสนุน นำไปสู่เผด็จการอำนาจนิยมใช้เงิน ใช้มาเพื่อควบคุมประชาชนและระบบการเมือง (electoral Authoritarianism) นักการเมืองเข้าพรรคการเมือง เพื่อให้ได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งจะเป็นเครื่องมือของเผด็จการในคาบนักเลือกตั้ง เมื่อได้อำนาจรัฐสภาหลังการเลือกตั้ง ก็จะจัดตั้งรัฐบาล ตั้ง ครม และจะใช้อำนาจรัฐทำการคอรัปชั่น หรือดำเนินนโยบายที่ทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เพื่อส่วนหนึ่งสะสมเป็นเงินทุนสำหรับลงทุนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ในขณะที่นักการเมือง ครม หลายคนเป็นนักธุรกิจที่มาเล่นการเมืองโดยตรงก็ได้โอกาสจากกฎระเบียบการตัดสินใจของรัฐเอื้อให้การลงทุนของตนได้เปรียบคู่แข่งขันในตลาดและบริจาคเงินเหล่านี้เข้าสูงพรรคการเมืองและรักษากลุ่มการเมืองของตน กลายเป็นการได้มาซึ่งอำนาจรัฐและการเมืองโดยการใช้เงินทุนเป็นวงจรอุบาทว์ตามที่ผู้เขียนได้นำเสนอไว้ในงานวิชาการก่อนหน้าตามแผนภาพ (Dhiwakorn 2007: 234) นอกจากนี้ การเมืองตามระบอบทักษิณ มีการพัฒนานโยบายการเมืองของพรรคการเมืองเพื่อเข้าแข่งขันการเลือกตั้งโดยตั้งเป็นนโยบายที่เอื้อประโยชน์แก่ผู้ลงคะแนนเสียงในผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในระยะสั้นนั้น ถูกมองว่า เป็นนโยบายที่ประสพความสำเร็จในการเข้าถึงชนชั้นล่างและคนจนและเป็นนโยบายที่กีดกันอิทธิพลของชนชั้นกลางซึ่งมีบทบาทน้อยกว่าในระบบการเมือง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ นโยบายประชานิยมของทักษิณ นั้นไม่เพียงเพราะเป็นนโยบายที่ประสพความสำเร็จได้จาการดึงดูดผลประโยชน์ของคนจน อย่างที่เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ[9] นำเสนอ หากเป็นพัฒนาการของการที่นักเลือกตั้งที่ได้อำนาจรัฐ มีอำนาจในการกำหนดนโยบายผันตรงเอาเงินและผลประโยชน์ของรัฐที่เคยมีมาสร้างเป็นระบบให้เกิดบารมีและอำนาจจากระบบอุปถัมป์ที่มีมาอย่างช้านานในสังคมไทยให้กับพรรคและผู้นำพรรค ให้เกิดเป็นบุณคุณ บารมีที่ติดไปเป็นความรู้สึกของผู้คน วัฒนธรรมการเมืองที่ติดยึดในบุณคุณและระบบอุปถัมป์ต่างหากที่ยังมีความเข้มข้นในพื้นที่ชนบทและบางภาคของไทย(เช่น เหนือและอีสาน)จึงส่งผลให้ภูมิภาคดังกล่าวทำการสนับสนุนพรรคการเมืองและผู้นำที่นำนโยบายประชานิยมมานำเสนอ ในช่วงเวลาของรัฐบาลอภิสิทธ์แม้ว่าจะมีความพยามจะใช้นโยบายประชานิยม แต่ไม่ส่งผลต่อคะแนนเสียงตรงนี้อาจเป็นผลเพราะประสิทธิภาพการนำนโยบายเหล่านั้นไปปฎิบัติยังไม่เกิดประสิทธิภาพเพียงพอ ในอดตีที่ผ่านมา มรว คึกฤทธ์ ปราโมช เคยใช้นโยบายเงินผัน เพื่อใช้สร้างคะแนนเสียงให้มากขึ้นกับพรรคการเมืองของตนมาแล้ว แต่ลักษณะการนำนโยบายปฎิบัติยังมีอย่างจำกัดในประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดีนโยบายประชานิยมระบอบทักษิณ ก็คือ วิวัฒนาการการใช้นโยบายของรัฐ และเงินงบประมาณ-ทรัพยากร สร้างคะแนนสียงในรูปแบบการสร้าบารมีให้แก่พรรคและผู้นำพรรค การใช้นโยบายดังกล่าวสอดพร้องกับวัฒนธรรการเมืองไทยแบบอุปถัมป์และการจดจำบุณคุณของคนไทย อันส่งผลให้นโยบายประชานิยมจึงประสพความสำเร็จเป็นเครืองมือของนักการเมืองได้อย่างลงตัว 6. การเมืองหลังยุคทักษิณ-การเมืองกึ่งประชาธิปไตยใหม่ (New Semi-Democracy)? งานของลิขิต ธีระเวคิน (ดู ลิขิต 2550:222-233) ผาสุก พงษ์จิตรและคริส เบเคอร์ (ดู 2546:497-505) เอนก เหล่าธรรมทัศน์ (Anek1992) เคยยอมรับจุดจบของการเมืองระบอบราชการและการเมืองกึ่งประชาธิปไตย เมื่อการเมืองไทยสะท้อนความจริงของการลดลงของอำนาจทหาร ตลอดจนเกิดความต่อเนื่องของกระบวนการประชาธิปไตยรัฐสภาเกือบกว่า 1 ทศวรรษ (1991-2001) แม้ว่าช่วงเวลานั้น ทิวากร แก้วมณี (Dhiwakorn 2007) เกษีตร เตชะพีระ(2551:125-6) จะมีการตั้งข้อสังเกตปัญหาคุณภาพของประชาธิปไตยไทย ที่ผาสุกและทิวากร ได้เห็นการครอบงำของนักธุรกิจในการเมืองไทยและปัญหาของกระบวนการเลือกตั้งที่ไม่ส่อให้เห็นความเท่าเที่ยมกันของคนในสังคมในการเข้าสู่อำนาจรัฐและอำนาจทางการเมือง เกษียร(2551)ได้เห็นการใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือของเผด็จการที่มาในรูปของนักเลือกตั้งระบอบประชาธิปไตยในการผูกขาดอำนาจในสภาด้วยรูปแบบการเลือกตั้งที่เป็นปัญหาในวงจรอุบาทว์ใหม่ การเมืองในช่วงทักษิณซึ่งสะท้อนความอ่อนแอที่ระบบการเมืองในแง่คุณภาพประชาธิปไตย (Quality of Democracy)หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือการไม่ได้เป็นปัญหาที่รูปแบบของประชาธิปไตย การเมืองช่วงทักษิณมีข้อเท็จจริงของความเป็นเผด็จการทางรัฐสภา (อาจจะต้องมีการถกในความหมายของเผด็จการและประชาธิปไตยเพิ่มเติม) ปัญหาการคุกคามสื่อ การแทรกแซงองค์กลาง และปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในรูปแบบของผลประโยชน์ทับซ้อน (ดู McCargo& Ukrist 2005;Dhiwakorn 2007) ในขณะเดียวกันภาคประชาสังคมได้ถูกปนเปลือด้วยนโยบายประชาสังคมที่ยิ่งทำให้การเมืองแบบรัฐสภาก่อปัญหาความเป็น”เผด็จการด้วยการเลือกตั้ง” (electoral authoritarian)(เกษียร 2551:126 ) กลุ่มทหารที่เรียกตัวเองว่า คมช จึงมีความพยายามที่จะขจัดวงจรอุบาทว์ใหม่นี้โดยทำการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งนับตั้งแต่วันนั้นก็ได้เป็นสาเหตุของความขัดแย้งของกลุ่มที่สนับสนุนทักษิณ กับกลุ่มที่ไม่สนับสนุนทักษิณ อันที่จริงหากมองตามทฤษฎีเศรษศาสตร์ทางการเมืองที่ ผาสุก พงษ์ไพจิตร อธิบายว่า ความขัดแย้งทางการเมือง เกิดขึ้นเพราะความขัดแย้งของกลุ่มทุน ระหว่างกลุ่มทุนที่ได้ประโยชน์จากการเมืองระบอบทักษิณกับกลุ่มทุนที่สูญเสียประโยชน์จากระบอบทักษิณ หากแต่ว่า หากไม่มองในแง่เศรษฐศาสตร์การเมือง การเมืองหลังระบอบทักษิณ คือการยืนยันการยังไม่สิ้นสุดของอำนาจระบบราชการและทหาร แต่เป็นการเปิดเผยรากเหง้าของอำนาจของทหารและข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวพันธ์กับสถาบันการเมืองอื่นๆที่มีอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์การเมืองของไทย และการเมืองหลังทักษิณจึงเป็นการเมืองของการยืนยันการต่อสู้ระหว่างอำนาจระบบทหารและระบบราชการที่เกี่ยวพันธ์กับสถาบันการเมืองอื่นๆอีกในรัฐไทย กับอำนาจการเมืองของนักการเมืองและนักรัฐสภา กล่าวอีกอย่างหนึ่ง การต่อสู้ของอำนาจทหารข้าราชการนี้ได้เปิดเผยความเป็นจริงทางการเมืองอย่างหนึ่งที่สำคัญว่า อำนาจของทหารมีการยึดโยงกับอำนาจของสถาบันการเมืองที่มีความต่อเนื่องของไทย ซึ่งการเมืองในช่วง 1990 เป็นเพียงการเมืองที่เป็นความสัมพันธ์ของอำนาจทหารและอำนาจนักเลือกตั้ง แต่การเมืองหลังทักษิณสะท้อนการแข่งขันที่นักเลือกตั้งจะต้องท้าทายกับอำนาจที่เป็นพันธมิตรกับทหาร ซึ่งอำนาจเหล่านี้มีความมั่นคงและมีการพัฒนาการที่ไม่เคยมีการท้าทายมาก่อนเลย นับตั้งแต่ทหารได้สร้างมาตั้งแต่ยุคการปกครองทหารของสฤษดิ์ ธณะรัชน์ (Thak 1976; Peleggi 2007)[10] ความขัดแย้งของเหลืองและแดงเป็นสภาพการยื้อแย่งมวลชนของฝ่าย ฝ่ายอำนาจราชการและทหาร และพรรคการเมืองที่พัฒนาการมาในยุคราชการ(ประชาธิปปัตย์) และ อำนาจของนักการเมือง- นักรัฐสภาในระบอบทักษิณที่สามารถขยายอำนาจผ่านเงินทุนและนโยบายประชานิยมที่มีฐานเสียงที่คนจน และผู้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่มีความเชื่อเรื่องเสรีภาพและความเท่าเที่ยมโดยที่ ฝ่ายอำนาจราชการทหาร ถูกเรียกใหม่ในช่วงเวลานี้ว่า อำนาจอมาตยาธิปไตย ที่มีความหมายเป็นนัยของอำนาจที่เหนือกว่าอำนาจการเมืองของทหารข้าราชการปกติ หากเป็นอำนาจการเมืองของทหารที่ร่วมเป็นพันธมิตรกับสถาบันการเมืองที่มีอำนาจการเมืองตามวัฒนธรรมการเมืองแบบเทวราชาของสังคมไทย “ยุคของรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็เริ่มมีนักธุรกิจเข้าสู่วงการเมืองดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไม่น้อย และเมื่อมาถึงยุคของรัฐบาล พตท ดร.ทักษิณ ก็ยิ่งเห็นได้ชัด .....เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 จนนำไปสู่การตั้งรัฐบาลและจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นการชะงักงันของธณาธิปไตยและเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลที่ตั้งขึ้นมานั้นประกอบไปด้วยข้าราชการเป็นส่วนใหญ่ ในแง่หนึ่งคือความพยายามเข้ามาแก้ปัญหาโดยกลุ่มอำมาตยาธิปไตย.....” (ลิขิต 2550:259) การเมืองไทยที่ร่วมสมัยนี้จึงเป็นยุคที่ยืนยันของการที่สังคมไทยยังไม่ก้าวพ้น สังคมการเมืองกึ่งประชาธิปไตย ที่มีคุณลักษณะใหม่ ที่แต่เดิม กึ่งประชาธิปไตยจะเป็นการร่วมใช้อำนาจของอำนาจทหารราชการกับอำนาจของนักการเมืองผ่านการมีตัวแทนการใช้อำนาจคือพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ แต่ กึ่งประชาธิปไตยใหม่ เป็นการสะท้อนและเปิดเผยระบบการเมืองของการแข่งขันและขัดแย้งของอำนาจอมาตยาธิปไตย-เทวราชาและอำนาจนักการเมืองจากธุรกิจการเมืองและวงจรอุบาทว์ใหม่ โดยมีมิติใหม่คือการแย่งมวลชนอันเป็นพัฒนาการทางการเมืองไทยในยุคนี้ที่ภาคประชาสังคมมีการเติบโตมากขึ้นไปกว่าเดิม ดังนั้นการเรียกร้องหลังยุคทักษิณนอกจากจะเป็นการเรียกร้องที่มีความแตกต่างจากอดีตคือการเรียกร้องกติกาของรัฐและการเมืองปกติ ที่มีการแตะต้องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่การเรียกร้องร่วมสมัยนี้เป็นการต้องการแตะต้องอำนาจที่มีความเชื่อว่าเป็นอำนาจที่อยู่เบื้องหลังอำนาจของทหารและราชการปกติ (กองทัพ) โดยมีความเชื่อว่า การแก้ไขกติกานี้ผ่านการแก้ไขกฎหมายและรับธรรมนูญจะทำให้เกิดการพัฒนาการทางการเมืองเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ในการเมืองช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ การอยู่ร่วมกันของสองกลุ่มการเมืองมีการปรับท่าที่ไปมาก โดยสภาพการเมืองทั่วไปรัฐบาลได้รับการยอมรับจากประชาชนจากผลสำรวจของโพลในหลายสำนัก แม้ว่ารัฐบาลจะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความล้มเหลวของนโยบายประชานิยมในหลายๆนโยบาย การเมืองในช่วงรัฐบาลนี้เห็นได้ว่าความขัดแย้งที่มีสภาพแข็งกร้าวทำลายร้างต่อกันซึ่งหน้าได้ถูกทำให้ภาพบรรเทาเบาบางในลักษณะประนีประนอมหรืออาจเป็นการประสานประโยชน์กันมากขึ้นซึ่งจะเป็นไปในช่วงเวลาสั้น ทั้งสองขั้วอำนาจทางการเมืองได้มีการปรับโครงสร้างการเปลี่ยนถ่ายอำนาจและดูเหมือนกระบวนการเปลี่ยนถ่านอำนาจนั้นมีความคืบหน้าและต่อเนื่องจึงเป็นผลให้การท้าทายอำนาจด้วยวิธีการแข็งกร้าวจำเป็นต้องได้รับการทบทวนจากทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ดี ฝ่ายทุนทักษิณในช่วงนี้พยายามลดการเผชิญหน้า แต่กำลังสะสมทรัพยากรจากการค้าการลงทุนของการที่รัฐไทยกำลังก้าวเข้าสู่เขตการค้าอาเซียน การเปิดประเทศพม่า และการขยายเขตการค้าจากจีน ซึ่งจะนำโอกาสมหาศาลสู่กลุ่มนายทุนที่กำลังมีอำนาจรัฐ(บาล) ซึ่งพูดกันง่ายๆว่า ทั้งสองกลุ่มการเมืองกำลังพัฒนาการยุทธศาสตร์การแข่งขันและความขัดแย้งที่พร้อมจะประทุได้อย่างรุนแรงและกว้างขวางได้มากกว่าเดิม สรุป บทความสั้นนี้ยังมีข้อจำกัดในการนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาวงจรอุบาทว์และเป็นบทความที่สั้นในการให้ความกระจ่างทั้งในแง่แนวความคิดและทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่นี้ที่มีการตั้งข้อกังขาเกี่ยวกับ”ประชาธิปไตยเพียงแต่รูปแบบ”และประชาธิปไตยแบบเป็นตัวแทนทางรัฐสภาว่ายังมีข้อสงสัยว่าจะเป็นพัฒนาการการเมืองได้อย่างไร บทความนี้หลายส่วนมีการกล่าวถึงแนวความคิดและการถกเถียง แต่เป็นการนำเสนอซ้ำกับงานวิจัยของผู้เขียนที่เคยนำเสนอมาก่อนในบางจุดที่ได้มีการอธิบายและแสดงหลักฐานในการนำเสนอมาก่อนหน้านี้จึงไม่ได้นำมาเสนอให้เกิดความเยิ่นเย้อในงานชิ้นนี้อีก ดังนั้นบทความนี้อาจจะจำกัดในแง่หลักฐานการถกในประเด็นทางแนวความคิดที่มีการพัฒนาการในหลายจุดจากงานวิชาการของผู้เขียนที่เคยนำเสนอมาก่อนแล้ว อย่างไรก็ดี ในงานชิ้นนี้ก็มีความตั้งใจก่อให้เกิดการถกเถียงกันต่อไปในวงวิชาการไทยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนาการเมืองไทยของวงจรอุบาทว์ ในงานชิ้นนี้ มีการนำเสนอวงจรอุบาทว์ทั้งเก่าและใหม่ ที่ได้ปรากฎและใคร่นำเสนอวงจรอุทวาทว์ว่าด้วยช่วงเวลาของระบอบกึ่งประชาธิปไตยใหม่ไทย ที่เป็นส่วนผสมของการเมืองระบอบราชการกับระบอบการเมืองธุรกิจ ซึ่งส่วนผสมนี้มันอาจจะเร็วเกินไปที่จะเสนอมาในรูปแบบของวงจร เพราะ ช่วงเวลาการเกิดรัฐประหารที่ย้ำเป็นวงจรในสังคมไทยยังไม่เกิดขึ้นอีกนับแต่ปี 2549 แต่อย่างไรก็ดี หากมีการเกิดรัฐประหารอีกครั้งวงจรข้างใต้นี้จะเป็นตัวอธิบายได้ดีถึงการเข้าสู่ยุคของวงจรอุบาทว์ว่าด้วยระบอบกึ่งประชาธิปไตยใหม่ของไทย บรรณานุกรม กรุงเทพธุรกิจ, ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๙, ดร.ผาสุกชี้ขั้วอำนาจธุรกิจ – การเมืองกระจุกตัว ต้นตอความขัดแย้งและวิกฤติ กรุงเทพธุรกิจ, ๘ มีนาคม ๒๕๔๙, ผ่าประชานิยม ฉบับผาสุก ตอบทำไมทักษิณครองใจคนจน เกษียร เตชะพีระ, ทางแพร่งและพงหนาม ทางสู่อธิปไตยไทย, กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์ มติชน 2551. ชาญณวุฒ ไชยรักษา. นักการเมืองถิ่นจังหวัดพิษณุโลก. พิมพ์ครั้งที่ 1. สถาบันพระปกเกล้า: อาคารศูนย์สัมมนา 3 ชั้น 5 ในบริเวณสถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน ผาสุก พงษ์ไพจิตรและคริส เบเคอร์, เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ, กรุงเทพ สำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม, 2546 ผาสุก พงษ์ไพจิตร, ผาสุก ชี้ทุน ๒ กลุ่มขัดแย้งก่อวิกฤติการเมือง,ใน www.ftawatch.org ผาสุก พงษ์ไพจิตร, ธุรกิจการเมืองหลังปี ๒๕๔๔ ระบอบไทคูนคือรัฐ, มติชนรายวัน ๘ ธันวาคม ๒๕๔๘ ลิขิต ธีนเวคิน, วิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย, กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์ธรรมศาสตร์ ๒๕๕๐. Akin Rabibhadana. 1969. The Organization of Thai society in the early Bangkok Period: 1982 - 1873. Ithaca, NY: Department of Asian Studies, Cornell University Almond, Gabriel A. 1974. Comparative Politics Today: A World View. Boston, MA: Little, Brown & Co Anusorn Limmanee. 1995. Political Business Cycle in Thailand, 1979-1992: General Election and Currency in Circulation. Bangkok: Institute of Thai Studies, Chulalongkorn University Anek Laothamatas. 1988. "Business and Politics in Thailand: New Patterns of Influence". Asian Survey, Vol. 28, No. 4, pp. 451-470, Reprinted in John Ravenhill. 1995. The Political Economy of Southeast Asia 3: Singapore, Indonesia, Malaysia, the Philippines and Thailand. Aldershot: Elgar ________ . 1992. Business Associations and the New Political Economy in Thailand: From Bureaucratic Polity to Liberal Corporatism. Boulder, CO: Westview Press ________ . 1996. "A Tale of Two Democracies". In The Politics of Elections in Southeast Asia, edited by Robert H. Taylor. Cambridge: Woodrow Wilson Center Press Baker Christopher J. 2005. A History of Thailand. Cambridge: Cambridge University Press Bastian, Adolf. 1867. Reisen in Siam im Jahre 1863. Jena: Hermann Costenoble [German] Batson, Benjamin A. 1974. Siam’s Political Future: Document from the end of Absolute Monarchy. Ithaca, NY: Cornell University Bobbio, Noberto. 1988. "Gramsci and the Concept of Civil Society". In Civil Society and the State: New European Perspectives, edited by John Keane. London: Verso, pp. 73-100 Bowring, John. 1969. The Kingdom and People of Siam, Vol. 1-2. Kuala Lumpur: Oxford University Press [Reprint of the 1857 Edition, org. The Kingdom and People of Siam, with a Narrative of the Mission to that Country in 1855. London: John W. Parker & Son] Chai-anan Samudavanija. 1982. The Thai Young Turks. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies ________ . 1987a. "The Bureaucracy". In Government and Politics of Thailand, edited by Xuto Somsakdi. Oxford: Oxford University Press ________ . 1997. "Old Soldiers never die, They are just bypassed". In Political Change in Thailand: Democracy and Participation, edited by Kevin Hewison. London: Routledge, pp. 42-57 ________ . 2002. Thailand: State-Building, Democracy and Globalization. Bangkok: Institute of Public Policy Studies Charnvit Kasetsiri. 1976. The Rise of Ayudhya: A History of Siam in the 14. and 15. Century. Kuala Lumpur: Oxford University Press Cox, Robert. 1987. Production, Power, and the World Order: Social Forces in the Making of History. New York: Columbis University Press Czempiel, Ernst-Otto. 1981. Internationale Politik: Ein Konfliktmodell. Paderborn: Schoeningh [German] Darling, Frank C. 1961. American Influence on the Evolution of Constitutional Government in Thailand. Washington, DC: The American University ________ . 1965. Thailand and the United States. Washington DC: Public Affairs Press ________ . 1977. "Thailand in 1976: Another defeat for constitutional democracy". In Asian Survey, Vol.17, No. 2, pp. 116-132 Dhiwakorn Kaewnamee, The Evolution of the Thai State, 2007 Hewison, Kevin. 1986. Industry Prior to Industrialization: Thailand. Paper presented at the Conference on Industrializing Elite in Southeast Asia, 8-12 December 1986, Sukkothai, Thailand ________ . 1989. Bankers and Bureaucrats: Capital and the Role of the State in Thailand. New Haven, CT: Yale University Southeast Asia Studies ________ . 1993a. "Of Regimes, State and Pluralities: Thai Politics enters the 1990s". In Southeast Asia in the 1990s: Authoritarianism, Democracy, and Capitalism, edited by Kevin Hewison et al. St. Leonards, Australia: Allen & Unwin ________ . 1993b. Southeast Asia in the 1990s: Authoritarianism, Democracy, and Capitalism. St. Leonards, Australia: Allen & Unwin ________ . 1996. "Emerging Social Forces in Thailand: New Political and Economic Roles". In The New Rich in Asia: Mobile Phones, Mc Donald’s and Middle Class Revolution, edited by Richard Robinson and David S. G. Goodman. London: Routledge, pp. 137-160 ________ . 2001. "Thailand’s Capitalism: Development through Boom and Bust". In The Political Economy of South East Asia: Conflicts, Crisis and Change, edited by Garry Rodan et al. Oxford: Oxford University Press ________ . 2004. "Crafting Thailand’s new Social Contract". In The Pacific Review. Vol. 17, No. 4, pp. 503-522 ________ and Maniemai Thongyou. 2000. "Developing Provincial Capitalism: A Profile of the Economic and Political Roles of a New Generation in Khon Kaen, Thailand". In Money & Power in Provincial Thailand, edited by Ruth McVey, Chapter 8. Singapore: Nordic Institute of Asian Studies Huntington, Samuel P. 1957. The Soldier and the State: A Theory and Politics of Civil-Military Relations. Cambridge, MA: The Belknap Press of Harvard University ________ . 1968. Political Order in Changing Societies. New Haven, CT: Yale University Press ________ . 1970."Social and Institutional Dynamics in One-Party Systems". In Authoritarian Politics in Modern Society: The Dynamics of One-Party Systems, edited by Samuel P. Huntington and Clement H. Moore. New York: Basic Books ________ . 1991. The Third Wave: Democratization in the late Twentieth Century. Norman, OK: University of Oklahoma Press Keohane, Rober O. and Joseph Nye. 1977. Power and Interdependence: World Politics in Transition. Boston, MA: Little, Brown and Company ________ . 2004. The Rise and Decline of Thai Absolutism. London: RoutledgeCurzon Laird, John. 2000. Money Politics, Globalization and Crisis: The Case of Thailand. Singapore: Graham Brash Likhit Dhiravegin. 1972. Political Attitudes of the Bureaucratic Elite and Modernization in Thailand. Bangkok: Thai Watana Panich ________ . 1974. Siam and Colonialism 1855-1909: An Analysis of Diplomatic Relations. Bangkok: Thai Watana Panich ________ . 1978. The Bureaucratic Elite of Thailand. Bangkok: Thai Khadi Research Institute, Thammasat University ________ . 1984. Social Change and Contemporary Thai Politics: An Analysis of the Inter-relationship between the Society and the Polity. Bangkok: Faculty of Political Science, Thammasat University ________ . 1992. Demi-Democracy: The Evolution of Thai Political System. Singapore: Times Academic Press Maurizio,Peleggt. Thailand The Worldly Kingdom.Singapore:Originally published in Great Britain in 2007 by Reakion Books,London First published in 2007 by Talisman and Reaktion Books. McCargo D. and Ukrist Pathmanand,The Thaksinization of Thailand,Copenhagen:NIAS 2005. Morell, David. 1972a. "Thailand: Military Checkmate". In Asian Survey, Vol. 12, No. 2, pp. 156-167 Neher, Clark D. 1970. "Thailand: The Politics of Continuity". In Asian Survey, Vol. 10, No. 2, pp. 161-168 Pasuk Phongpaichit and Baker, Christopher J. 1992. "Technocrats, Businessmen, and Generals: Democracy and Economic Policy-Making in Thailand". In The Dynamics of Economic Policy Reform in South-East and the South-West Pacific, edited by Andrew J MacIntyre. Singapore: Oxford University Press, pp. 10-31 ________ and Sungsidh Piriyarangsan. 1994. Corruption and Democracy in Thailand. Chiang Mai: Silkworm Books ________ and Baker, Christpoher J. 1995. Thailand: Economy and Politics. Kuala Lumpur: Oxford University Press Putnam, Robert. 1993. Making Democracy Work: Civic Traditions in Modern Italy. Princeton, NJ: Princeton University Press ________ , et al. 2005. Parliaments and Political Change in Asia. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies Suchit Bunbongkarn. 1987a. "Political Institutions and Processes". In Government and Politics of Thailand, edited by Somsakdi Xuto. Oxford: Oxford University Press ________ . 1989. Capital Accumulation in Thailand: 1955-1985. Tokyo: Centre for East Asian Cultural Studies ________ . 1993. Business Groups in Developing Economies. Tokyo: Institute of Developing Economies Ukrist Pathmanand. 2001. "Globalization and Democratic Development in Thailand: The New Path of the Military, Private Sector, and Civil Society". In Contemporary Southeast Asia, Vol. 23, No. 1, pp. 24-42 ________ . 2002. From Shinawatra Group of Companies to the Thaksin Shinawatra Government: The Politics of Money and Power Merge. Paper presented at conference on crony capitalism, Quezon City, 17 -18 January 2002 [1] ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และอาจารย์พิเศษทางรัฐศาสตร์ University of Freiburg, Germany จบการศึกษา Dr.Phil., University of Freiburg, Germany, รม (การปกครอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รบ (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง) จุฬาฯ. ผู้เขียนขอกราบขอบพระคุณ อาจารย์ชาญชัย รัตนวิบูลย์ที่ได้กรุณาอ่านบทความนี้และได้แสดงความคิดเห็นด้านข้อมูลและแนวความคิดที่ก่อให้เกิดการพัฒนาแนวความคิดของงานชิ้นนี้ และขอขอบคุณ รศ. ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ที่ได้ทิ้งปัญหาให้ผู้เขียนต้องขบคิดและพัฒนาการงานให้ดีมากยิ่งขึ้น. [2] การถกเถี่ยงนี้กรุณาดูงานเพิ่มเติมของ O’Donnell, The Quality of Democracy, 2004; Larry Diamond, Assessing the Quality of Democracy, 2005;Benjamin R.Barber, Strong Democracy, 2003. [3] รศ. ธโสธร ตู้ทองคำ แห่งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การเปลี่ยนแปลงที่เป็นวงจรนั้นอาจจะไม่ได้เป็นการย่ำอยู่กับที่แต่เป็นการพัฒนาการ นั้นทางผู้เขียนก็เห็นด้วยส่วนหนึ่งว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยอาจมองได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในหลายมิติ แต่หากจะพิจารณาอีกมิติที่แตกต่างจาก รศ. ธโสธร จะพบว่า การสร้างทฤษฎีทางรัฐศาสตร์นั้นมีความพยายามอยู่เหลือเกินที่จะสร้างแนวความคิดให้เป็นความทั่วไป (generalization) ซึ่งก็หมายความว่า คุณภาพและปริมาณ และความแตกต่างจะถูกพิจารณาในแง่ของการสร้าง แบบแผนการเปลี่ยนแปลง (pattern) ซึ่งแน่นอนว่า หากมองการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยในแง่ของ pattern แล้วก็ยังสามารถเห็นภาพของการกลับเข้ามาหรือการหมุนเวี่ยนของการใช้อำนาจของทหารและนักการเมืองที่เป็นไปตามวงจรอุบาทว์ได้แม้ช่วงเวลาการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปเท่าไรแล้วก็ตาม [4] มีข้อสังเกตจากผู้รับฟังการนำเสนอผลงานชิ้นนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า วงจรอุบาทว์ของผู้เขียนมีความแตกต่างจากวงจรอุบาทว์ที่ ศาตราจารย์ชัยอนันต์เคยนำเสนอไว้ก่อนแล้วอย่างไรนั้น ผู้เขียนใคร่ชี้แจงเพิ่มเติมว่า งานของผู้เขียนในปี 2007 ในหนังสือ The Evolution of the Thai State ได้เสนอแผนภาพวงจรการใช้เงิน ไม่ใช่การใช้ปืน เป็นเครื่องมือการรักษาอำนาจ ในบริบทที่เขียนงานชิ้นนั้น เป็นบริบทที่ดูเหมือนทหารจะลดความสำคัญลงไปอย่างเห็นได้ชัด (งานวิจัยเสร็จปี ค.ศ. 2007) นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจเหนือข้าราชการและระบบราชการ การรักษาอำนาจของนักการเมืองนั้นใช้เงินเป็นทรัพยากรในการรักษาอำนาจ แตกต่างจากทหารที่ใช้กำลังและอิทธิพลของทหารในการรักษาอำนาจ และนี่คือความแตกต่างที่ชัดเจนของตัวแบบผู้เขียน อย่างไรก็ดีงานชิ้นนี้ได้มีพัฒนาการเพิ่มเติม ที่จำเป็นต้องนำอำนาจและอิทธิพลของทหารกลับเข้ามาในบริบทที่บทบาทของการรัฐประหารกลับมา ตัวแบบจึงเป็นการพัฒนาประสมประสานของตัวแบบเก่าและตัวแบบใหม่ซึ่งปรากฏในแผนภาพในท้ายงาน [5] ตัวอย่างกรณีนายสุชน ชามพูนท ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพภาคที่สามให้ได้เป็น สส พิษณุโลกเพราะ จอมพลประภาส จารุเสถียร “ฝากมา”(ดู ชาณณวุต 2549:79) และอ่านเพิ่มใน จงกล ไกรฤกษ์ 2546. [6] มีการตั้งคำถามจากผู้รับฟังการนำเสนอผลงานชิ้นนี้ที่สอบถามความเป็นประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญว่า รัฐธรรมนูญปีใด ระหว่าง 2540 และ 2550 ว่ารัฐธรรมนูญใดมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่า การตอบคำถามข้อนี้ ผู้เขียนเห็นว่า เป็นการตอบที่ยากมากๆ เท่าๆ กับความรู้ที่เรากำลังสับสนจากการตีความในแง่มุมที่แตกต่างว่าอะไรคือประชาธิปไตยกันแน่ ผู้เขียนเห็นว่า ประชาธิปไตยมีหลายมิติ และมีหลายเฉด การจะมองแต่การร่างประชาธิปไตยที่ยึดแต่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างเดี่ยวคงไม่พอ คงต้องมองเงือนไขประสิทธิภาพของการรักษาความเป็นประชาธิปไตยที่จะต้องการขึ้นจริงด้วย หากมาตราทุกมาตราของรัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตย (ซึ่งก็ไม่รู้ใครจะตัดสินได้) แต่เมื่อนำมาปฎิบัติใช้มันไม่ก่อให้เกิดประชาธิปไตยในสังคม เราก็ตัดสินยากว่า รัฐธรรมนูญนั้นเป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยหรือไม่ หรือ เราควรมาถามกันใหม่ไหม ว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงคืออะไร ก่อนที่จะมาพูดกันถึงรัฐธรรมนูญสองฉบับนี้ [7] มีนักวิชาการอย่าง อัมมาร สยามวารา อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์ ศิโครตม์ คล้ามไพบูลย์ ชัยวัตน์ สถาอานันต์ ที่มีความเห็นสอดคล้องกันว่า การเมืองในช่วงรัฐบาลทักษิณ ไม่สมควรเรียก หรือให้ความหมายเป็นระบอบอะไรที่ใหม่และเป็นการพิเศษ เพราะ มีระยะเวลาการปกครองไม่มาก และไม่มีปรัชญาอะไรเป็นหลักพื้นฐาน (ดู เกษียร 94-5) [8] ผาสุก ให้ความหมายของ Money Politics ว่า กระบวนการที่นักการเมืองใช้เงินผันตัวเองเป็นหนึ่งในคณะรัฐมาตรีเพื่อจะได้ใช้อภิสิทธ์จากตำแหน่งดำเนินการและกำหนดนโยบายเอื้อให้ตนเองและพรรคพวกแสวงหารายได้และกำไรได้คุ้มกับการลงทุนที่เกิดขึ้น ในรูปแบบใบอนุญาต สัมปทาน เงินอุดหนุน และสิทธิพิเศษต่างๆ [9] ดู www.nidambe11.net/ekonomiz/2006q1/2006march08p8.htm. (4 มิ.ย 2555). [10] ประเด็นนี้ ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ แห่งอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สอบถามผู้เขียนตอนนำเสนอผลงาน ว่า วงจรอุบาทว์ควรมีการใส่สถาบันอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมสถาบันทหาร หรือ อยู่เบื้องหลังอำนาจของทหารได้หรือไม่ ผู้เขียนเห็นว่า ในแง่วิชาการเราอาจจะทำได้บนพื้นฐานการไม่ผิดกฎหมายของสังคม การพยายามเชื่อมโยงบางสถาบันที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญไม่ให้เกี่ยวข้องกับการเมือง อาจจะเป็นการถูกต้องทางวิชาการแต่เห็นว่าอาจจะไม่ถูกต้องในแง่การขัดกับกฎหมายบ้านเมือง ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วยกับท่าน ดร.สุธาชัยในประเด็นทางวิชาการที่พยายามนำเสนอ