วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ข้อเสียของระบบทุนนิยม

ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เป็นระบบเศรษฐกิจที่ให้เสรีภาพแก่ภาคเอกชนในการเลือกดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเอกชนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน และสามารถเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต รวมถึงเศรษฐทรัพย์ต่างๆที่ตนหามาได้ มีเสรีภาพในการประกอบธุรกิจ

ส่วนผู้บริโภคสามารถที่จะเลือกอุปโภคบริโภคสินค้า และบริการต่างๆได้อย่างอิสระเสรี แต่ทั้งนี้เสรีภาพดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายหรือการดำเนินการใดๆจะต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของบุคคลอื่น

โดยระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมจะขับเคลื่อนได้ด้วยระบบการแข่งขันทางด้านราคาและระบบตลาด ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการจัดสรรทรัพยากร และกำหนดเศรษฐกิจว่า จะผลิตอะไร ผลิตเพื่อใคร และอย่างไร ส่วนการกระจายสินค้าและบริการ ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริโภค ทั้งนี้ความต้องการของผู้บริโภคจะบอกถึงมูลค่า หรือเป็นตัวกำหนดราคาสินค้าและบริการ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าและบริการชนิดหนึ่งมาก แต่ขณะเดียวกันสินค้าและบริการดังกล่าวมีน้อย ก็จะช่วยให้สินค้าและบริการนั้นมีราคาที่สูงตามไปด้วย เป็นต้น

โดยรัฐบาลจะมีหน้าที่ควบคุมกฎ กติกา และดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เพื่อให้กลไกตลาดทำงานได้ และห้ามเข้ามาแทรกแซงหรือทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรแทนตลาด ปล่อยให้ตลาดจัดสรรทรัพยากรเองไปตามธรรมชาติ และทำหน้าที่ป้องกันประเทศเท่านั้น

ข้อดีของระบบทุนนิยม คือ ทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว เพราะประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สามารถเลือกตัดสินใจดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามที่ตนถนัด, ส่วนกำไร และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินช่วยเป็นแรงจูงใจที่ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากผลิตได้มากน้อยเท่าไรก็จะได้รับผลตอบแทนหรือรายได้เท่านั้น นอกจากนี้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมทำให้เกิดการคิดค้นสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์หรือเทคนิคใหม่ๆ อยู่เสมอ ดังนั้นจึงเกิดการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เพราะเป้าหมายสูงสุดของระบบนี้คือ กำไร และการครอบครองทางการตลาด

แต่ในขณะเดียวกันระบบทุนนิยมก็มีข้อบกพร่องเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมาก มีลักษณะการกระจุกตัวของรายได้หรือ “รวยกระจุก จนกระจาย” ซึ่งส่งผลให้เกิด ความยากจน, การว่างงาน, ความเสมอภาค จนเกิดการแย่งชิงทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกันอันเนื่องจากความสามารถที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล ผู้ที่มีความสามารถสูงกว่าจะเป็นผู้ได้เปรียบ ตลอดจนราคาหรือกลไกตลาดยังไม่ใช่เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพียงพอสำหรับการจัดสรรทรัพยากรของระบบเศรษฐกิจเพราะสินค้าและบริการบางอย่างมีการผูกขาดหรือเป็นสินค้าสาธารณะซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนมาก อาจ เสี่ยงกับภาวะการขาดทุน หรือไม่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ ทำให้เอกชนไม่กล้าลงทุน ส่งผลให้รัฐบาลต้องเข้ามาดำเนินการแทน

ดังนั้นราคาจึงไม่สามารถเข้ามาทำหน้าที่ในการจัดสรรทรัพยากรได้ อีกทั้งระบบการแข่งขันหรือกลไกราคาอาจทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจอย่างสิ้นเปลือง, เปล่าประโยชน์, ไม่คุ้มค่า ตลอดจนสิ่งแวดล้อมเกิดความเสื่อมโทรม และถูกใช้ให้หมดไปกับปัจจุบันมาก โดยไม่คำนึงถึงคนรุ่นหลัง

นอกจากนี้ระบบทุนนิยมยังส่งผลกระทบทางด้านสังคมและวัฒนธรรมอีกด้วย การแลกเปลี่ยนสังคมวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทำให้ความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเองลดน้อยลง จนเกิดการสูญเสียวัฒนธรรมดั้งเดิมในที่สุด นอกจากนี้ค่านิยมในการบริโภคก็เปลี่ยนไป วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไปจากเดิม วัตถุนิยม และความมั่งคั่งเป็นสิ่งที่ใครๆก็อยากได้และปราถนา ทุกคนเห็นแก่ปากท้องตน มากกว่าญาติพี่น้องและส่วนรวม จนคุณธรรมและจริยธรรมเริ่มเสื่อมถอยลง จนนำไปสู่ปัญหาต่างๆมากมายในสังคมไทย

จะเห็นว่าระบบทุนนิยมมุ่งเน้นการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและตัวเลข เช่นตัวเลข GNP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ที่บ่งบอกแต่ปริมาณมากกว่าคุณภาพ แต่การพัฒนาเศรษฐกิจจะดูในเรื่องของการกระจายรายได้ ซึ่งประกอบไปด้วยเส้นความยากจน, ส่วนแบ่งรายได้, เส้น Lorenz และค่าสัมประสิทธิจินี, เรื่องของการศึกษา โดยมองจากอัตราการอ่านออกเขียนได้ของประชาชน ฯลฯ และเรื่องด้านสุขภาพอนามัย โดยมองผ่านอัตราการเกิดการตายของเด็กทารก ความยืนยาวของชีวิต ค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข การแพทย์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามทั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาทางเศรษฐกิจก็ไม่สามารถที่จะบอกได้ว่า วิธีที่ดีที่สุดที่จะสามารถแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากข้อบกพร่องของระบบทุนนิยมคือวิธีใด เพราะทุกครั้งที่มีการตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ก็จะเกิดการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ดังนั้นหลายท่านจึงเชื่อว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่จะสามารถเข้ามามีบทบาทในการจัดการแก้ไขปัญหาของระบบทุนนิยมได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น