วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

พระพุทธศาสนา : กระบวนทัศน์ในแก้ปัญหาวิกฤติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม



ประเทศไทยนั้นเป็นสังคมหนึ่งซึ่งยอมรับพระพุทธศาสนา และได้รับการหล่อหลอมจากหลักธรรม คำสอนในพระพุทธศาสนามายาวนาน วิถีชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่ตั้งแต่กำเนิดจนถึงตาย จึงเกี่ยวโยงสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระพุทธศาสนา แต่เมื่อสังคมโลกเปิดกว้างขึ้นทั้งในด้านสื่อสารมวลชน เศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่นำพาให้สังคมไทยก้าวเข้าไปสู่กระแสแห่งยุคโลกาภิวัฒน์ ส่งผลให้สังคมไทยต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติในหลายๆ ด้าน กล่าวคือ

1. วิกฤติการเมือง

2. วิกฤติด้านเศรษฐกิจ

3. วิกฤติด้านสังคม

4. วิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม

พระพุทธศาสนา จึงเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ที่จะสามารถนำหลักการสำคัญที่มีอยู่ในพระไตรปิฏกมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาในแบบองค์รวม เพื่อจะทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างครบวงจร อันจะส่งผลดีกับการแก้ไขปัญหาวิกฤติต่างๆ ของสังคมไทยต่อไป

วิกฤติต่างๆที่เกิดขึ้นล้วนโยงใยถึงกันเป็นลูกโซ่ เป็นปัจจัยเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เมื่อเกิดวิกฤติขึ้นในด้านใดด้านหนึ่งของสังคมนั้นหมายถึงว่า ผลพวงจากวิกฤตินั้นย่อมกระทบต่อระบบในสังคมนั้นด้วย เช่น บ้านเมืองปัจจุบันเกิดภาวะวิกฤติ เพราะเป็นผลกระทบจากภาวะทางเศรษฐกิจทรุดตัว นักการเมือง บุคคลในสังคมหวังเพื่อจะกอบโกยผลประโยชน์เป็นส่วนตัวมากขึ้น ประชาชนอดอยากมากขึ้น จึงเป็นภาวะวิกฤติทางสังคมเมื่อบุคคลในสังคมมีมากขึ้นความเห็นแก่ตัวมากขึ้น สภาพสิ่งแวดล้อมรอบตัวจึงไม่มีคนเอาใจใส่ดูแลจนเกิดเป็นภาวะวิกฤติทางสิ่งแวดล้อม ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะต้องนำกระบวนทัศน์ทางพระพุทธศาสนามาปรับใช้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ ในขณะนี้



1. วิกฤติทางการเมือง

1.1 ปัญหาทางการเมือง นักการเมืองมักมองเป็นเกมส์ทางการเมือง เล่นพรรคเล่นพวก มือใครยาวสาวได้สาวเอา แต่มักเป็นไปแบบเช้าชามเย็นชาม นักการเมืองส่วนมากมัดทุจริตและกอบโกยผลประโยชน์ ความไม่สามัคคีของนักการเมือง แม้จะหน่วยงานคอยตรวจสอบก็ตามที ก็เป็นไปอย่างไม่เต็มที่นักด้วยเกรงกลัวอำนาจและอิทธิพล ปัญหาอีกอย่างของการเมืองคือด้านการดำเนินนโยบายผิดพลาด อันเกิดผลเสียกับสังคมและประเทศชาติ ผู้บริหารประเทศยังไม่ได้มีการบริหารอย่างเต็มความรับผิดชอบ ยังมีการเล่นการเมืองมากเกินความจำเป็นซึ่งมีผลทำให้การดำเนินนโยบายต่างๆยังไม่ได้แก้ปัญหาที่แท้จริงของประเทศ บางครั้งนโยบายหลายๆ นโยบายก็ดูน่าจะดี แต่กลับไม่ได้ผลเต็มที่ซึ่งก็มีสาเหตุมาจากการไม่สามารถนำ นโยบายไปปฏิบัติกันอย่าง มีประสิทธิภาพ และ ประสิทธิผล บ่อย ครั้งเป็น การดำเนินนโยบายเพื่อสร้างภาพให้แก่ ส่วนตน แต่ให้ความสำคัญของประสิทธิผลน้อยมาก หรือ แทบจะไม่ให้ความสำคัญเลย

ระบบราชการ ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่มีผลกระทบต่อการส่งออก และ อีก หลายๆ ธุรกิจหน่วยงานต่างๆ มีการทำงานซ้ำซ้อนกัน ซึ่งอันที่จริงแล้ว โครงสร้างของระบบราชการก็ได้มีการ กำหนดไว้ดีแล้ว แต่ก็ไปผิดพลาดที่การปฏิบัติอีก เพราะต่างคนต่างพยายามสร้างผลงานให้โดดเด่น ในสายตา ของผู้บังคับบัญชา หรือแม้กระทั่งนักการเมือง จนลืมนึกถึงประชาชน แต่ ก็มีข้าราชการระดับกลาง และ ระดับล่างที่มีแนวความคิดที่ดี ๆ แต่ก็ไม่มีโอกาสที่จะได้แสดงฝีมือเนื่องจากติดที่ระบบราชการที่ยังเป็นระบบศักดินา ผสมกับระบบอุปถัมภ์อยู่ตราบใดที่ผู้ใหญ่ในภาครัฐยังไม่ยอมรับความจริงเหล่านี้ ปัญหาของชาติไทยคงมีแต่การสูญเสียไปอย่างต่อเนื่อง

1.2 ผลกระทบต่อสังคมไทย

1) ในแง่ของปัจเจกบุคคล คนไทยย่อมประสบกับความไม่เชื่อมั่นในสถานะของประเทศ ไม่ไว้ใจในข้าราชการและนักการเมือง ในการบริหารของคณะรัฐบาลและความมั่นคงของประเทศ

2) ในแง่ของสังคม มุมมองโดยรวมของสังคมไทยย่อมไม่เป็นที่ไว้วางใจของชาวต่างชาติเท่าที่ควร ความเชื่อมั่นในรัฐบาลโดยรวมก็ลดลงตามลำดับ

3) ในแง่ของเศรษฐกิจ การบริหารด้านนโยบายของรัฐบาลเป็นผลโดยตรงด้านเศรษฐกิจของประเทศ หากรัฐบาลวางแนวนโยบายผิดพลาด ต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาล ย่อมเกิดเป็นวิกฤติเศรษฐกิจตามมาอย่างแน่นอน

4) ในแง่ของศาสนา ปัจจุบันกำลังเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างศาสนา อันเกิดจากการพยายามแทรกแซงกิจการพระพุทธศาสนา และพยายามลบล้างความเป็นพุทธศาสนาในหน่วยงานนั้นๆ ที่นักการเมืองบางคนเป็นรัฐมนตรี ดังที่เป็นข่าวในปัจจุบัน

1.3 พระพุทธศาสนากับการแก้ปัญหาทางการเมือง

1) พระพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงอธิปไตย ไว้ถึง 3 แบบ คือ อัตตาธิปไตย โลกาธิปไตย ธรรมาธิปไตย โดยประการหลัง ธรรมาธิปไตยปกครองโดยเน้นธรรมะเป็นใหญ่ ให้ผู้นำมีธรรมะ (มุขบุรุษที่ดี) และประชาชนมีธรรมะ (สัมมาชน) พระสุตตันตปิฎก เล่ม 20 หน้า 186 , เล่ม 11 หน้า 231

2) พระพุทธศาสนา เน้นเสรีภาพทางจิต เป็นศาสนาแรกที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน มีสิทธิพิจารณาคัดเลือกผู้นำ มีสิทธิในด้านต่างอันไม่ก่อความเดือดร้อนสู่ตนเองและผู้อื่น

3) พระพุทธศาสนา สอนให้รู้จักความพอดีในการปฏิบัติตน และการแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยปัญญา ในการดำเนินตามอริยสัจ 4 นักการเมืองควรนำไปปรับใช้ตามเหตุสถานการณ์นั้นๆ

4) พระพุทธศาสนา สอนให้รู้จักความสุจริต ในการปฏิบัติตนสมควรแก่หน้าที่ รู้กาล รู้เวลา รู้หน้าที่ของตน

ปัญหาความยัดแย้งทางการเมือง ความยัดแย้งทางการเมืองที่เป็นปัญหาสังคมอย่างหนึ่งนั้นอาจจะมาจากสาเหตุหลายประการ เช่น ผลประโยชน์ขัดกัน ความคิดเห็นไม่ตรงกัน การขาดอุดมคติทางการเมืองที่แน่นอน เป็นต้น ในการแก้ปัญหานี้ ตามทัศนะของพุทธศาสนาแล้ว นักการเมืองจะต้องมีธรรมะสำหรับนักบริหาร นักปกครองซึ่งพระพุทธองค์ได้แสดงว่า เป็นคุณสมบัติของนักปกครองหรือผู้บริหารปรากฏในพระคัมภีร์ศาสนาหลายแห่งด้วยกัน แต่ในที่นี้จะขอนำมากล่าวเฉพาะที่ท่านได้แสดงไว้ใน อรรถกถาอัฏฐกนิบาตอังคุตตรนิกาย มีใจความว่าผู้ปกครองหรือนักบริหารนั้นจะต้องทำนุบำรุงประชาราษฏร์ด้วยหลักธรรมที่เรียกว่าราชสังคหวัตถุ 5 ประการ คือ

1. สัสสเมธะ ฉลาดสามารถในการบำรุงเกษตรกรรมและกสิกรรมเป็นต้น อันเป็นธัญญาหารให้เกิดผลผลิตที่ดี มีการส่งเสริมการเกษตรและกสิกรรมให้อุดมสมบูรณ์ อันจะเป็นประโยชน์พื้นฐานที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจ

2. ปุริสเมธะ ฉลาดสามารถในการบำรุงคน ส่งเสริมคัดเลือกคนมาทำงานให้เหมาะสมกับความรู้ความสามารถของเขาและการงานที่จะทำนั้น ๆ พร้อมทั้งจัดสวัสดิการให้ดี เป็นต้น

3. สัมมาปาสะ ผูกประสานสงเคราะห์ประชาชนพลเมืองบ่วงคล้องใจคน คือการดูแลสุขทุกข์ของประชาชน ส่งเสริมอาชีพ เช่น จัดทุนให้คนยากจนยืมไปสร้างตนในทางพาณิชยกรรมหรือดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ให้เกิดความเลื่อมล้ำหรือช่องว่างจนแตกแยกกัน ซึ่งเป็นการทำให้จิตใจของประชาชนเลื่อมใสในผู้ปกครอง

4. วาชเปยยะ พูดจาด้วยถ้อยคำไพเราะอ่อนหวานดูดดื่มใจ รู้จักพูดรู้จักชี้แจงแนะนำ รู้จักทักทายถามไถ่ทุกข์สุขของประชาชนทุกชั้น ด้วยอัธยาศัยไมตรีที่ดี ด้วยถ้อยคำที่ประกอบด้วยเหตุผล ที่เป็นหลักฐานมีประโยชน์ เป็นทางแห่งการสร้างสรรค์แก้ไขปัญหาเสริมความสามัคคีทำให้เกิดความเข้าใจดี ความเชื่อถือและความนิยมนับถือ

5. นิรัคคฬะ บริหารประเทศชาติให้อยู่เย็นเป็นสุข โดยป้องกันและบำราบโจรผู้ร้าย ให้ประชาชนนอนตาหลับ โดยยึดหลักการที่ว่า "ความสุขของประชาชนคือยอดปรารถนาของตน" และในทีฆนิกายปาฏิกวรรคก็ได้แสดงไว้ว่า ผู้บริหารหรือนักปกครองที่ดีนั้น เมื่อปฏิบัติหน้าที่ พึงเว้นความลำเอียง (อคติ) หรือความประพฤติที่คลาดเคลื่อนจากธรรม 4 ประการ

1. ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะชอบ

2. โทสาคติ ลำเอียงเพราะชัง

3. โมหาคติ ลำเอียงเพราะหลงหรือเขลา

4. ภยาคติ ลำเอียงเพราะขลาดกลัว

นอกจากนี้ มีความประพฤติดีเป็นแบบฉบับในการดำรงชีวิตของนักปกครองเพราะการปกครองที่ดีคือ การให้แบบอย่างที่ดี ความตรงความคดของนักปกครองมีอิทธิพลต่อความประพฤติของประชาชน ความซื่อตรงของประชาชน ขึ้นอยู่กับความซื่อตรงของนักปกครอง การแก้ความคดของส่วนใหญ่จึงต้องเริ่มมาจากฝ่ายปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล 2 ประเภทนี้ พระพุทธเจ้าตรัสยกตัวอย่างไว้ในโพธิราชชาดก ขุททกนิกายว่า

"เมื่อฝูงโคกำลังข้ามแม่น้ำ ถ้าโคจ่าฝูงไปคด โคนอกนั้นก็คดตาม ในหมู่มนุษย์ก็เช่นเดียวกันถ้าผู้ได้รับสมมติให้เป็นหัวหน้าเป็นผู้ปกครองไม่เป็นธรรม คนนอกนั้นก็ประพฤติไม่เป็นธรรม ดังนั้นเมื่อผู้ปกครองประพฤติไม่เป็นธรรม ชาวเมืองก็พลอยทุกข์กันไปทั่ว โดยนัยตรงกันข้าม เมื่อผู้ปกครองทรงไว้ซึ่งธรรม ชาวเมืองก็เป็นสุขกันไปทั่ว"



2. วิกฤติด้านเศรษฐกิจ

คนเราเมื่อเกิดมาแล้ว จะสามารถดำเนินชีวิตประจำวันไปได้อย่างมีความสุขความเจริญ ตลอดทั้งประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ ของชีวิต จำเป็นต้องอาศัยเครื่องอุปโภคบริโภคนานาชนิดอย่างน้อยก็ต้องอาศัยปัจจัยสี่ คือ อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคและก็ต้องมีอย่างเพียงพอที่เรียกว่า อยู่ดีกินดีถ้าแต่ละคนมีการอยู่ดีกินดี ก็ย่อมจะทำให้สังคมมีความมั่นคง แต่ถ้าแต่ละคนซึ่งเป็นสมาชิกของสังคมส่วนใหญ่มีความเดือนร้อนในเรื่องการกินดีอยู่ดี ก็ย่อมจะเป็นสาเหตุนำความอ่อนแอมาสู่สังคม สังคมย่อมมีแต่ความเดือดร้อน เป็นหนี้เป็นสินกันมาก มีการทำผิดกฏหมายบ้านเมืองมีโจรผู้ร้ายมากขึ้นปรากฎการณ์ทางสังคมเช่นนี้ สาเหตุที่แท้จริงก็เนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจ อันเป็นปัญหาที่สำคัญยิ่งในชีวิตประจำวันของมวลมนุษย์ ซึ่งมนุษย์ต้องดิ้นรนในแต่ละวันก็ไม่ใช่อื่นไกลก็เพื่อปากเพื่อท้องที่เรียกว่า ทำมาหากินนั่งเอง

2.1 ปัญหาด้านเศรษฐกิจ

1) ปัญหาการตั้งเนื้อตั้งตัวไม่ได้ มีคนเป็นจำนวนไม่น้อยที่เผชิญกับปัญหานี้ บางคนแม้มีหน้าที่การงานทำแล้ว บางคนจบการศึกษาเป็นผู้ใหญ่แล้ว บางคนถึงกับแต่งงานแล้ว บางคนมีงานทำได้รับเงินเดือนมากพอสมควรแต่ก็ไม่สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวในทางเศรษฐกิจได้ บางคนแม้มีอายุมากถึงวัยกลางคนแล้ว หรือบางคนแม้เกิดในตระกูลที่ร่ำรวยแต่ก็ยังไม่สามารถยืนอยู่ด้วยลำแข้งของตนเองในทางเศรษฐกิจได้ และบางคนเคยมีฐานะทางเศรษฐกิจอย่างไร แม้กาลเวลาจะล่วงเลยไปหลายปีก็ตาม ก็ยังคงสภาพฐานะเดิม ไม่สามารถยกฐานะทางเศรษฐกิจของตนให้สูงขึ้นกว่าเดิมได้ บุคคลต่าง ๆ ดังที่ได้ยกตัวอย่างมานี้เป็นผู้เผชิญกับปัญหาการตั้งเนื้อตั้งตัวไม่ได้ทั้ง ๆ ที่สภาพแวดล้อมภายนอกและตัวเองก็สูงวัยพอสมควร น่าจะประสบความสำเร็จมากกว่านี้ ปัญหาการตั้งเนื้อตั้งตัวไม่ได้น่าจะลดน้อยถอยลงมากกว่านี้ แม้มีครอบครัวแล้วก็ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นอยู่ หรือโตแล้วก็เหมือนไม่โต ชนิดที่เลี้ยงไม่รู้จักโต สำหรับปัญหาดังกล่าว ได้มีหลักคำสอนในทางพุทธศาสนา ซึ่งเป็นธรรมะเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจส่วนบุคคลและครอบครัวถ้าได้นำเอาไปเป็นแนวทางแห่งการประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจังและจริงใจในชีวิตประจำวันแล้ว ก็เชื่อได้ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาการตั้งเนื้อตั้งตัวไม่ได้อย่างแน่นอน หลักธรรมดังกล่าว มีดังนี้

2) ปัญหาการกระจายรายได้ ปัญหาทางเศรษฐกิจที่สำคัญมากเป็นปัญหาหนึ่งก็คือ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน คนรวยก็รวยเหลือเกิน ส่วนคนจนก็จนมากเหลือเกิน หรือคนร่ำรวยมีจำนวนน้อยแต่มีรายได้มาก ขณะเดียวกัน คนจนมีจำนวนมากและมีรายได้ต่ำมาก เมื่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมีเช่นนี้ ก็ย่อมทำให้คนจนมีความเดือนร้อนเป็นทุกข์และก็มีโอกาสที่จะยากจนมากยิ่งขึ้น เมื่ออยากจะทำอะไรก็มักจะติดขัดกลายเป็นอุปสรรคเป็นปัญหาไปเสียหมด และโอกาสที่จะต้องกู้หนี้ยืมสิ้นก็มีมากขึ้น ความยากจนก็ดี การกู้หนี้ยืมสินก็ดี ล้วนแต่เป็นสาเหตุแห่งความเดือดร้อนทั้งสิ้น

3) ความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ในการทำงานต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งของกลาง คือ เงินไวจับจ่ายใช้สอยบำบัดทุกข์บำรุงสุข เมื่อมีงานทำ ก็ย่อมจะได้เงินเป็นค่าตอบแทน ดังคำขวัญที่ว่า "งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข" ก็ย่อมมีผู้ที่เป็นเจ้าของงานในฐานะนายจ้าง และผู้ทำงานในฐานะลูกจ้าง นานจ้างกับลูกจ้างนี้ ก็มักจะมีปัญหาขัดแย้งกันอยู่บ่อยครั้ง สาเหตุความขัดแย้งอาจมีมากมายหลายอย่าง เช่น ลูกจ้างไม่สนใจและรับผิดชอบต่อหน้าที่การงานเท่าที่ควร ขาดประสิทธิภาพในการทำงานหรือมีผลงานออกมาไม่เป็นที่พอใจของนายจ้าง ส่วนนายจ้างก็อาจจะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน นายจ้างใช้วิธีปกครองลูกจ้างไม่เป็นธรรม หรือไม่เข้าใจชีวิตจิตใจของลูกจ้างที่ต้องการเรียกร้องให้ขึ้นค่าจ้างเนื่องจากค่าจ้างต่ำไม่เพียงพอต่อการครองชีพและนายจ้างไม่ยอมขึ้นให้เล่านี้ เป็นต้น ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นสังเกตได้ว่าความขัดแย้งต่าง ๆ ถ้าฝ่ายหนึ่งได้อีกฝ่ายหนึ่งมักเสีย เช่น ถ้านายจ้างขึ้นค่าแรงค่าจ้างแก่ลูกจ้างนายจ้างก็จะรู้ว่า เป็นการเสีย เพราะต้นทุนสูงขึ้น เป็นต้น แต่ความขัดแย้งส่วนมากเกิดขึ้นเนื่องจากลูกจ้างรู้สึกว่า ถูกนายจ้างเอาเปรียบหรือปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ลูกจ้างจึงมีการรวมกลุ่มกันขึ้นเพื่อเรียกร้องสิ่งที่ลูกจ้างต้องการทำให้เกิดสมาคมลูกจ้างและการนัดหยุดงาน เป็นต้น เพื่อให้มีกำลังต่อรองกับนายจ้างในการเรียกร้องสิ่งต่าง ๆ ที่ตนต้องการ มีการรวมกำลังลูกจ้างเพื่อเจรจาต่อรองกับนายจ้างและใช้วิธีการต่าง ๆ เช่น นัดหยุดงานก็เพื่อให้เกิดอำนาจการเจรจาต่อรอง กล่าวคือ ถ้าอำนาจการเจรจาต่อรองของฝ่ายใดมากว่าก็จะมีสิทธิมีเสียงมากกว่าในการเจรจา ด้วยเหตุนี้ ความขัดแย้งจึงมักจะเกิดขึ้นเสมอ โดยเฉพาะในการอุตสาหกรรมและสาขาอื่น ๆ นอกจาการเกษตร การหยุดงาน หรือการทำลายซึ่งกันและกัน จึงเป็นเหตุการณ์ธรรมดา ในระบบเศรษฐกิจ เป็นการทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรมนุษย์ ตลอดทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไปอย่างน่าเสียดายเมื่อมีการหยุดงาน

4) ปัญหาโจรผู้ร้ายชุกชุม โจรผู้ร้ายปล้นทรัพย์สินของผู้อื่น นอกจากเป็นผู้ทำผิดกฎหมายบ้านเมืองเป็นอาชญากรนำความเดือนร้อนมาสู่สังคมแล้วยังเป็นผู้ประพฤติผิดศีลธรรมและทำลายเศรษฐกิจของชาติอีกด้วย เพราะเป็นผู้เบียดเบียนเจ้าทรัพย์และถ่วงความเจริญ คือ นอกจากตัวเองจะไม่ประกอบสัมมาอาชีวะแล้วยังขัดขวางผู้อื่นซึ่งทำการประกอบสัมมาอาชีวะเพื่อประโยชน์และความเจริญของบ้านเมืองการแก้ปัญหาโจรผู้ร้าย จะต้องแก้ให้ถูกจุดและผู้ที่จะแก้ไขได้ดี ได้แก่ผู้เป็นหัวหน้าฝูงชนผู้ปกครองหรือผู้บริหารบ้านเมืองโดยจะต้องแก้ไขที่ปัญหาเศรษฐกิจ

2.2 ผลกระทบต่อสังคมไทย

1) ในแง่ของปัจเจกบุคคล คนไทยย่อมกินอยู่อย่างแร้นแค้นอดอยาก ไม่สามารถตั้งตนได้ เป็นต้นไม่สามารถจะกระทำอะไรตามที่ต้องการ

2) ในแง่ของสังคม ย่อมก่อให้เกิดช่องว่างเหลื่อมล้ำกันระหว่างคนรวยกับคนจนเป็นภาระของสังคมที่จะต้องให้ความช่วยเหลือ ก่อให้เกิดความล่าช้าในการพัฒนาประเทศ ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และความไม่มั่นคงทางสังคม ก่อให้เกิดปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมาเช่น ปัญหาอาชญากรรม เป็นต้น

3) ในแง่ของการเมือง เศรษฐกิจของชาติย่อมเป็นตัววัดคุณภาพของประเทศ คุณภาพของนักปกครอง คุณภาพของประชาชน และการให้ความเชื่อมั่นระหว่างประเทศ





2.3 พุทธศาสนากับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า จุดประสงค์ของเศรษฐกิจนั้น ก็เพื่อบำบัดหรือสนองความต้องการของมนุษย์ให้เกิดความมั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ หรือจะกล่าวอย่างง่าย ๆ ก็เพื่อให้ประชาชนมีการอยู่ดีกินดี หรือมีมาตรฐานในการครองชีพสูงขึ้น ในทางเศรษฐกิจถือว่า ยิ่งมีการอยู่ดีกินดีด้วยเครื่องอุปโภคบริโภคมากเพียงใด ชีวิตย่อมมีความสุขและสะดวกสบายมากเพียงนั้น และเชื่อว่า เมื่อมีสินค้า และมีการบริการที่ผลิตได้ให้แก่ประชาชนโดยทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ประชาชนก็จะมีความสุขและความเป็นอยู่ดีขึ้น ความสุขดังกล่าว จึงกล่าวได้ว่าเป็นความสุขในด้านวัตถุ จะกล่าวว่าความมุ่งหมายของเศรษฐกิจก็เพื่อจะสร้างความสุขใจด้านวัตถุให้แก่มนุษย์นั่นเอง ก็ย่อมเป็นการถูกต้อง พุทธศาสนาก็มีความมุ่งหมายที่จะสร้างความสุขให้แก่มนุษย์เช่นเดียวกัน แต่พุทธศาสนาแบ่งความสุขออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ โลกิยสุข และโกุตตรสุข โลกิยสุข เป็นความสุขของปุถุชนหรือฆราวาสผู้ครองเรือน เป็นความสุขที่พัวพันกับทรัพย์สมบัติและวัตถุกามต่าง ๆ เป็นประเภทอามิสสุข คือสุขที่เจือด้วยอามิสสิ่งของ ความสุขทางเศรษฐกิจก็จัดอยู่ในความสุขประเภทนี้ เพราะเป็นความสุขของการแสดวงหาและได้สิ่งของมาบำบัดความต้องการ ส่วนโลกุตตรสุขเป็นความสุขของผู้สิ้นกิเลสาสวะ และสำเร็จอรหัตผลแล้ว เป็นความสุขที่เที่ยงแท้ ยั่งยืน ไม่พัวพันอยู่กับวัตถุกามหรืออารมณ์กามใด ๆ เป็นประเภทนิรามิสสุข หรือสุขไม่เจือด้วยอามิส ซึ่งเป็นควาสุขที่เกิดขึ้นได้จากการบรรเทาความต้องการหรือทะยานอยากเสียได้ เป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากากรให้เสียสละ จะกล่าวว่าเป็นหลักเศรษฐกิจชั้นสูงในทางพุทธศาสนาก็ได้

2.3.1 หลักของการพออยู่พอกินในพระพุทธศาสนา

1) ทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์ปัจจุบัน หรือหลักสร้างความสำเร็จทันตาเห็น บางทีท่านเรียกว่า หัวใจเศรษฐี (อุ.อา.กะ.สะ.) อันเป็นคำสอนให้ตั้งเนื้อตั้งตัวได้ในทางเศรษฐกิจ 4 ประการ คือ

(1) ต้องมีความหมั่น คือ มีความขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่การงาน ประกอบอาชีพอันสุจริต รู้จักใช้ปัญญาความสามารถจัดการดำเนินการไปให้ได้ผลดี ซึ่งเป็นทางให้ได้ทรัพย์ ข้อนี้ตรงกับหลักเศรษฐกิจข้อแรกคือ Production หลักผลิตกรรม

2) ต้องการรักษา คือ ต้องรู้จักเก็บคุ้มครองทรัพย์ หน้าที่การงานและผลงานที่ตนได้มาหรือได้ทำไว้ด้วยความขยันหมั่นเพียรนั้น ไม่ให้เป็นอันตรายหรือเสื่อมเสียโดยเฉพาะ ถ้าเป็นทรัพย์ ก็ต้องยิ่งรู้จักเก็บออม ข้อนี้ตรงกับหลัก Saving หลักเก็บออม

3) ต้องเลือกคบคนดีเป็นเพื่อน คือ เลือกคบแต่สุหทมิตร ได้แก่ มิตรแท้ เพื่อนจริง ที่มีอุปการคุณ สมานสุขทุกข์ แนะนำประโยชน์ให้และมีความรักใคร่จริงใจ ถ้าดำเนินธุรกิจเป็นบริษัทหรือสหกรณ์ ก็จำเป็นต้องเลือกสมาชิกที่ดี ตรงกับหลัก Cooperation หลักสหกรณ์

4) ต้องมีความเป็นอยู่เหมาะสม คือ รู้จักกำหนดรายได้และรายจ่าย เลี้ยงชีวิตแต่พอดีมิให้ฝืดเคืองหรือฟุ่มเฟือย ตรงกับหลัก Household Budget งบประมาณประจำบ้านหรือการวางแผนการใช้จ่ายประจำครอบครัว นั่นเอง





2.3.2 การเว้นจากอบายมุข (เหตุย่อยยับแห่งโภคทรัพย์) 4 ประการ คือ

1) จากความเป็นนักเลงหญิงนักเที่ยวผู้หญิง (แม้แต่นักเลงชาย)

2) เว้นจากความเป็นนักเลงสุรานักดื่มนักเสพยาเสพติดประเภทต่าง ๆ

3) เว้นจากความเป็นนักเลงเล่นการพนัน

4) เว้นจากการคบคนชั่วเป็นมิตรสหาย

2.3.3 ต้องดำเนินตามกุลจิรัฏฐิติ เหตุที่ทำให้ตระกูลมั่งคั่งดำรงอยู่ได้นาน 4 ประการ คือ

1) ของหาย รู้จักเสาะแสวงหาคืนมา

2) ของเก่าของชำรุด รู้จักบูรณะซ่อมแซม

3) รู้จักประมาณความพอดีในการกินการใช้

4) พ่อบ้านแม่บ้านเป็นผู้มีศีลธรรม

เพียงเท่านี้ ก็สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจส่วนบุคคลหรือครอบครัวได้ เมื่อแก้ที่บุคคลหรือครอบครัวได้ ก็ชื่อว่าแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศชาติได้

2.3.4 หลักกตัญญุตา คือ ความรู้จักประมาณตนหรือรู้จักความพอดีในการแสวงหาทรัพย์ในทางที่ชอบไม่โลภมากจนเกินไป และเมื่อหามาได้แล้วก็ต้องรู้จักประมาณในการใช้จ่ายด้วยต้องไม่ให้ฟุ่มเฟือยจนเกินไป และต้องมีอัตตัญญุตา คือ ความเป็นผู้รู้จักตนเอง คือ ต้องรู้ตัวอยู่เสมอว่าเรามีชาติตระกูลยศตำแหน่ง หน้าที่การงานความรู้ความสามารถแค่ไหนเพียงไร แล้วต้องประพฤติตนให้สมกับภาวะนั้น ๆ อย่าหลงตัวเอง อย่าลืมตัวเองเป็นเด็ดขาด เช่น เป็นนายจ้างจะต้องเอาใจใส่ดูแลในเรื่องค่าจ้างที่เป็นธรรมรวมทั้งสวัสดิการอื่น ๆ พระพุทธเจ้าได้ทรงวางวิธีที่นายจ้างจะพึงปฏิบัติต่อลูกจ้างไว้ 5 ประการ คือ

(1) จัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง เพศ วัย ความสามารถ

(2) ให้ค่าจ้างรางวัลสมควรแก่งานและความเป็นอยู่

(3) ให้สวัสดิการมีช่วยรักษาพยาบาลในเวลาเจ็บไข้ เป็นต้น

(4) มีอะไรได้พิเศษมา ก็แบ่งปันให้

(5) ปล่อยในสมัย คือ เลิกงานตามเวลา และให้โอกาสพักผ่อนรื่นเริงตามสมควร

การค้าขายเป็นอาชีพที่ยอมรับกันว่า เป็นอาชีพของพลเมืองดีประเภทหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงลักษณะของพ่อค้า ที่อาจสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้แก่ตนได้ว่า ต้องประกอบด้วยลักษณะ 3 ประการ คือ

1) จักขุมา มีหูตาไว้กว้างขวาง สามารถจำแนกต้นทุน กำไร สินค้าต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีว่า สินค้าชนิดนี้ซื้อมาราคาเท่านี้ ขายราคาเท่านี้จะได้กำไรเท่าไร เป็นต้น

2) วิธูโร มีความชำนิชำนาญในการค้าเข้าใจในการซื้อสินค้าเข้า จำหน่ายสินค้าออก รอบรู้การตลาดอำนาจการซื้อของลูกค้า เป็นต้น ไม่ทำให้สินค้าของตนตกค้าง

4) นิสสยสัมปันโน เป็นคนมีหัวใจในทางการค้า และมีแหล่งเงินต่าง ๆ ให้การสนับสนุน เช่น คุ้นเคยกับเศรษฐีคฤหบดี นายธนาคารให้ความเชื่อถือ สนับสนุนในด้านทุนดำเนินการ เป็นต้น

2.4 หลักพุทธธรรมสำคัญ ที่ควรจะนำมาประยุกต์ได้กับลักษณะทั่วไปเศรษฐศาสตร ์

1) เน้นการพึ่งตนเอง : ความหมายในทางพุทธธรรมคือ ความสามารถในการพัฒนาตนเองด้วยการพิจารณาอย่างแยบคาย เห็นความเป็นจริงของความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ขณะที่ความหมายที่มักเข้าใจกันในทางเศรษฐศาสตร์คือ

2) เน้นการใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท : เป็นข้อที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดทั้งในแง่ความหมายทางธรรม และยังนำมาประยุกต์กับเศรษฐกิจได้

3) เน้นอหิงสา หรือการละเว้นจากการสร้างเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความรุนแรง : ประโยชน์ข้อนี้ ก่อให้เกิดความร่วมมือกันแทนที่จะเป็นการแข่งขัน ซึ่งมีทางเป็นได้ และเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดด้วย แต่สิ่งที่ต้องขจัดออกไปอย่างสิ้นเชิงคือ ความโลภ

4) เน้นการดำเนินชีวิต และประกอบอาชีพการงานที่เป็นประโยชน์ สุจริต มีมานะอดทน สัมมาอาชีวะ : ข้อนี้จะเน้นการผลิต-ไม่ผลิต การบริโภค-ไม่บริโภค ในลักษณะที่ไม่เป็นผลดีแก่มนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เป็นการปฏิบัติธรรมหรือหน้าที่ที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตส่วนหนึ่ง

5) เน้นการไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น : ข้อนี้ถือเป็นหัวใจของพุทธธรรม ในการดำเนินชีวิตไปตามทางสายกลางมุ่งเน้นสันติสุข ท่ามกลางในทางเศรษฐกิจ ที่ต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก ถ้าหันมาร่วมมือกันสังคมก็จะได้รับประโยชน์มหาศาล

6) พยายามละกิเลสและความโลภ : ความโลภนำไปสู่พฤติกรรมที่เน้นการเสี่ยง ที่มีผลกระทบต่อความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ เป็นสาเหตุสำคัญ ที่อาจจะนำความเสียหายในทางเศรษฐกิจมาสู่ตนเองและสังคม

7) การเน้นความซื่อสัตย์ สุจริต มีความละอาย และเกรงกลัวการกระทำความผิด : เน้นการมีจิตใจเป็นกุศลมีเจตนาหรือความตั้งใจดีต่อผู้อื่น จิตที่บริสุทธิ์ย่อมนำมาซึ่งจิตที่สงบและมีสติมั่นคง นำไปสู่ปัญญาและความพ้นทุกข ์

เหล่านี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการนำเอาพุทธเศรษฐศาสตร์ ที่ได้จากพุทธธรรมไปประยุกต์ซึ่งอาจจะมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน แต่ถ้าหากทำได้ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดีกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันจะเป็นสิ่งเดียวกัน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมต่อไป



3. วิกฤติด้านสังคม

สภาพของสังคมไทยปัจจุบัน นับวันยิ่งเลวร้ายลงทุกที ตลอดทั้งปัญหาทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และจริยธรรม ในด้านการสรรค์สร้างคุณงามความดีที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและสังคมก็หาได้ยากมากผิดกับเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว การปฏิบัติตนของคนในสังคมปัจจุบันมีแต่สภาพของความเห็นแก่ตัวเอาแต่ได้ ไม่มีจิตใจเอื้อเฟื้อต่อกัน โดยเฉพาะสังคมในกรุงเทพฯ สังคมไทยเป็นสังคมของพระพุทธศาสนา แต่การอบรมสั่งสอนเยาวชนของชาติในด้านจริยธรรมลดน้อยลงหรืออาจจะหายไปในบ้างที่ เช่น ในรั้วมหาวิทยาลัย เมืองไทย ในอดีตเคยได้ชื่อว่าเมืองแห่งพระพุทธศาสนา เป็นสยามเมืองยิ้ม ประชาชนหน้าตาเบิกบาน ไม่เคร่งเครียดเหมือนในปัจจุบันที่รัฐบาลประกาศว่า ประชาชนยากจนข้นแค้น นายทุนข่มเหงคนจนข่มผู้ใช้แรงงาน มองดูสภาพสังคมที่เดือนร้อนอยู่ทุกวันนี้ เป็นอย่างไร ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น มีคนเข้าใจหรือยึดมั่นในพระพุทธศาสนามากน้อยแค่ไหน สภาพจริยธรรมศีลธรรมในสังคมไทยปัจจุบัน จึงอับก็ว่าได้ ไม่ว่าสังคมจะมีสภาพทางสังคมมากน้อยเพียงใด แต่ในทุกสถาบันก็มีปัญหาด้วยกันแทบทั้งสิ้น

3.1 ปัญหาของสังคม

1) ปัญหาความแตกร้าวในครอบครัว ครอบครัวนับว่าเป็นสถาบันมูลฐานของสังคม สมาชิกของสังคมทุกคน ก็ถือกำเนิดเกิดก่อจากแต่ละครอบครัวนั่นเอง และเป็นสภาพแวดล้อมที่ใกล้ตัวคนมากที่สุดถ้าสัมพันธ์ภาพ หรือสภาพครอบครัวที่ดี ไม่พิการ หรือแตกร้าวปัญหาทางสังคมอื่นๆ เช่น การหย่าร้างคนจรนัด หรือโสเภณี ศีลธรรมเสื่อม เป็นต้น ซึ่งเป็นปัญหาสังคมที่จะมีผลกระทบต่อสังคมโดยส่วนรวมจะไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นปัญหาความแตกรัวในครอบครัว จึงนับว่าเป็นปัญหาสังคมทีสำคัญมากที่จะต้องได้รับการแก้ไขอีกหลาย ๆ ฝ่าย โดยรวดเร็วและถูก จึงนับว่าเป็นปัญหาสังคมที่สำคัญมากที่จะต้องรับการแก้ไขจากหาย ๆ ฝ่าย โดยรวดเร็วและถูกต้องเพื่อผลประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกับของครอบครัวและสังคมโดยส่วนรวม

2) ปัญหาอาชญากรรมและทุรกรรมต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำวันในชีวิต คือความเป็นอยู่ในปัจจุบันนั้นอาจจะเกิดมาจากหลายสาเหตุหลายประการ เช่น สันดานเป็นอาชญากร ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ครอบครัว สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

3. ปัญหาศีลธรรมเสื่อม ปัญหาข้อนี้จุดสำคัญที่ตัวเองของบุคคลแต่ละบุคคล เพราะตัวเองแต่ละคนมักจะวางเฉยต่อศีลธรรมดังนั้นจะเห็นได้ว่าผู้ที่ประพฤติผู้ที่ประพฤติทุจริต เช่น พวกขโมยก็ไม่อยากให้ใครมาขโมยพวกตนต่อไป พ่อค้าที่ขูดเลือดขูดเนื้อประชาชนก็ไม่อยากจะให้ข้าราชการมาใช้อำนาจนอกหน้าที่ขูดรีดเนื้อตน สามีที่ตบตีภรรยาได้ทุกวัน ๆ มีเพื่อบ้านมาระรานกัน ข้าราชการไม่มีความปราณี เจ้าที่ไม่ยุติธรรม นี้เป็นความจริงซึ่งสามารถพิจารณาเห็นได้ในสังคมทุกวันนี้

4. ปัญหาโสเภณี ปัญหาโสเภณีนับว่าเป็นปัญหาสังคมที่สำคัญปัญหาหนึ่งในสังคมอารยะทุกสังคม

ล้วนมีหญิงโสเภณีเหมือนกันหมดสิ้น จึงกล่าวได้ว่าหญิงโสเภณีเป็นผลิตผลทางสังคมและก็กลายเป็นปัญหาสังคม เหตุที่หญิงโสเภณีมักอ้างในเมื่อถูกซักถามถึงเหตุที่ต้องมาเลี้ยงชีพแบบนี้ คือ

ก) ชีวิตทางครอบครัว มีสภาพไม่มั่นคง ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเพราะพ่อแม่ไม่รับผิดชอบเต็มที่ หรืออาจเกิดขึ้นจากความเสื่อมโทรมทางจิตใจก็ได้

ข) ชีวิตการแต่งงานไม่ราบรื่น เมื่อหย่าร้างกับสามี ต้องเลี้ยงตนเอง เมื่อไม่รู้ว่าจะหาวิธีใดเลี้ยงชีพจึงต้องหากินทางนี้

ค) ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจในครอบครัว ต้องทำมาหากินแบบนี้ เพราะถือว่า จะช่วยผดุงฐานะทางเศรษฐกิจของบ้านได้

ง) เหตุผลส่วนตัวบางอย่าง

จ) เพราะถูกหลอกลวงไปโดยอ้างว่า จะให้ไปทำงานรับจ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่แล้วถูกบังคับให้ขายตัว เลยกลายเป็นโสเภณีไป

ฉ) เพราะปัญหาว่างงาน ก็เลยหันมาประกอบอาชีพนี้

ช) เพราะคบเพื่อนไม่ดี เลยถูกเพื่อชักชวนไปทำงานประเภทบริการอื่น ๆ ก่อน แล้วในที่สุดก็กลายเป็นบริการทางเพศ

ซ) เพราะผู้ปกครองหรือพ่อแม่บางคนยินยอมที่จะให้ไปกระกอบอาชีพเช่นนั้น เป็นต้น

สาเหตุต่าง ๆ ตามที่ยกมากล่าวพอเป็นตัวอย่างข้างต้นนี้แหละ ที่ทำให้เด็กเยาวชนหรือเด็กหญิง ตัวน้อย ๆ อายุ 12-18 ต้องกลายเป็นโสเภณีที่มีชีวิตจมปลักหมักหมมอยู่ในห้วงอเวจี ไม่มีอิสระในตัวโสเภณีบางคนถูกบังคับให้ทำงานชนิดไม่ได้พักผ่อนหลับนอนเพียงพอทั้งไม่ให้ลา ไม่ให้หยุด หรือไม่ให้มาสาย จนสุขภาพร่างกายทรุดโทรม ร่างโรย ตายด้านตั้งแต่เยาว์วัย ผลตอบสนองที่สังคมได้รับจากหญิงโสเภณี จนกลายเป็นปัญหาสังคมนั้น มีหลายประการ เช่น

1) การแพร่เชื้อโรค ผู้หญิงโสเภณี เป็นผู้สำส่อนทางเพศย่อมเป็นบ่อเกิดแห่งกามโรคและโอกาสที่จะแพร่เชื้อกามโรคให้แก่ผู้ชายที่ไปเที่ยวผ่อนคลายความกำหนัดได้เป็นอย่างมากและง่ายดาย เช่น โรคเริม แผลริมอ่อน ฝีมะม่วง หนองในเทียม ซิฟิลิส โดยที่สุดแม้แต่เชื้อเอดส์

2) ทำลายความมั่นคงของครอบครัวไปติดกามโรคมา ก็อาจจะนำเชื้อมาเผยแพร่ให้สมาชิกของครอบครัว แทนที่จะติดโรคคนเดียวก็กลายเป็นสองคนหรือสามคน นอกจากจะเสียเงินไปเป็นค่าบำรุงบำเรอให้โสเภณีแล้วก็ต้องนำเงินทองมาใช้จ่ายเป็นค่ายารักษาโรค เป็นจำนวนมิใช่เล็กน้อยแทนที่จะได้นำเงินนั้นไปใช้จ่ายบำรุงความสุขแก่ครอบครัว และบางทีถึงกับครอบครัวแตกสลายลงเพราะภรรยาฟ้องหย่ากับสามีในเรื่องเช่นนี้ มักมีปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง หรือบางทีก็เกิดเป็นการทะเลาะกันเกิดระหองระแหงภายในครอบครัว ขาดความไว้วางใจกันในระหว่างคู่ครอง สมาชิกของครอบครัวขาดความอบอุ่นและมีปมด้อยเป็นการทำลายบรรยากาศความสุขในครอบครัวได้ ซึ่งก็เป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของครอบครัวอันเป็นสถาบันพื้นฐานที่สุดของสังคมนั่นเอง

3) เป็นต้นเหตุทำลายศีลธรรมจรรยาอันดีงามของสตรี เพราะผู้หญิงหรือสตรีโดยทั่ว ๆ ไป จะต้องเป็นผู้มีความละอาย มีกิริยามารยาทเรียบร้อยสมเป็นกุลสตรี แต่คุณธรรมจรรยาดังกล่าวจะหาได้ยากมากในพวกผู้หญิงโสเภณี มีแต่จะเป็นที่ปรากฏโดยทั่วไปว่า หญิงพวกนี้มีความละอายน้อยขาดจรรยา มารยาที่ดีงามและมีความประพฤติชั่วช้ากักขฬะหยาบโลน

3.2 ผลกระทบกับสังคมไทย

1) ในแง่ของปัจเจกบุคคล ย่อมทำให้ประชาชนมีสุขภาพจิตเสื่อมทรามลง สุขภาพบุคลิกภาพถดถอย ขาดสติปัญญาความรอบรู้ในการแก้ไขปัญหาชีวิต เป็นต้น

2) ในแง่ของสังคมส่วนรวม สังคมขาดความสงบสุข เนื่องจาก ปัญหาดังกล่าวข้างต้น

3) ในแง่ของการเมือง บุคคลในสังคมเป็นส่วนประกอบสำคัญในสถาบันทั้งปวง ผลอันโยงใยถึงกันย่อมก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในการเมือง ไม่เป็นที่ยอมรับในสายตาของชาวโลก

4) ในแง่ของเศรษฐกิจ ย่อมเป็นปัญหาระยะยาวอันเกิดจากพฤติกรรมของบุคคลในสังคม การว่างงาน การขาดรายได้ การประกอบอาชีพไม่สุจริต คุณภาพของบุคคลในสังคมย่อมส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของสังคมด้วย

3.3 พระพุทธศาสนากับการแก้ไขปัญหาสังคม

3.3.1 ปัญหาความแตกร้าวในครอบครัว อาจจะมาจากสาเหตุหลายอย่าง เช่นสาเหตุทางเศรษฐกิจบ้าง สุขภาพอนามัยบ้าง สิ่งแวดล้อมบ้างและสาเหตุที่สำคัญที่สุดก็คือ การบกพร่องในหน้าที่ของบุคคล ไม่คนใดก็คนหนึ่ง หรือเกิดบกพร่องพอ ๆ กัน สาเหตุเหล่านี้น่าจะเป็นบทเรียนสำหรับผู้จะมีชีวิตครอบครัว ควรจะได้พิจารณาข้อคิดบางประการก่อนจะตัดสินใจแต่งงาน กล่าวคือ

1) ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง จะต้องมีความรักความเข้าใจซึ่งกันและกัน

2) จะต้องมีความมั่นคงในทางการเงิน

3) จะต้องพร้อมที่จะอดทนในการเผชิญต่อความยุ่งยากอันจะพึงมีขึ้น

4) จะต้องไม่มีปัญหาในเรื่องสถานที่อยู่หรือบ้านพัก

5) ทั้งสองฝ่ายจะต้องแสดงความจริงใจต่อกัน

6) จะต้องมีความสมบูรณ์แห่งสุขภาพและการสนองความต้องการทางเพศ ทั้งนี้เพราะปัญหาที่จะนำไปสู่การแตกร้าวในครอบครัวโดยเฉพาะการหย่าร้างอันเกิดจากทางฝ่ายสามี ทางพุทธศาสนาได้กล่าวไว้ใน สังขปัตตชาดกว่ามี 8 อย่าง คือ

1) สามี เป็นคนเข็ญใจ 2) สามีเป็นขี้โรค

3) สามีเป็นคนแก่ 4) สามีเป็นคนขี้เมา

5) สามีเป็นคนโฉดเขลา 6) สามีเป็นคนเพิกเฉย

7) สามีไม่ทำมาหากิน 8) สามีหาทรัพย์มาเลี้ยงดูไม่ได้

สาเหตุจากปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นก็อาจจะแก้ได้โดยการงดจากอบายมุข (เหตุย่อยยับแห่งโภคทรัพย์) 4 ประการดังกล่าวไว้นั้น โดยเฉพาะข้อที่ 4 การเว้นจากการคบคนชั่วเป็นมิตรสหาย แล้วพยายามเลือกคบแต่เพื่อนที่ดีที่เป็นกัลยามิตร เพราะเพื่อนนั้นนับว่าเป็นสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวที่อิทธิพลและมีความสำคัญมาก คนทีได้ดีมีความสำเร็จในชีวิตได้นั้นก็เพราะมีเพื่อนดี หรือคบแต่เพื่อนดีนั่นเองดังที่กล่าวกันว่า "คบคนดีเป็นศรีแก่ตัว" จะรู้ได้อย่างไรว่า เพื่อนดีที่จัดเป็นกัลยาณมิตรนั้น มีลักษณะอย่างไร พระพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดลักษณะของมิตรที่ดีและชั่วไว้มนทีฆนิกาย ปาฏิกวรรคว่า ลักษณะของเพื่อนที่ดี หรือเพื่อนแท้ มี 4 ประการคือ

1) เพื่อนที่มีอุปการะ 2) เพื่อนที่ร่วมสุขร่วมทุกข์

3) เพื่อนที่แนะนำประโยชน์ 4) เพื่อนที่มีความรักใคร่

3.3.2 สาเหตุมาจากการบกพร่องในหน้าที่ อาจจะแก้ได้โดยการรักษาหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด พ่อบ้านแม่เรือนต่างก็มีหน้าที่รับผิดชอบดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสเอาไว้ในทีฆนิกายปาฏิกวรรค ในฐานะของผู้เป็นสามี ก็ต้องทำหน้าที่ที่พึงทำต่อภรรยาดังนี้ เช่น ยกย่องให้เกียรติสมฐานะที่เป็นภรรยา ไม่แสดงอาการดูหมิ่นเหยียดหยามภรรยา ไม่เกี่ยวข้องกับสตรีอื่นในทางประเวณี เป็นต้น

ส่วนผู้เป็นภรรยา ก็ต้องทำหน้าที่ที่พึงทำเป็นการอนุเคราะห์สามีดังนี้ เช่น จัดการงานภายในบ้านในฐานะที่ตนเป็นแม่บ้านให้สะอาดเรียบร้อย สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่ายด้วยดี ไม่ประพฤติกรรมอันเป็นข้าศึก ต่อความเป็นภรรยาสามี ได้แก่ การเกี่ยวข้องกับชายอื่นในทางชู้สาว หรือไม่หึงหวงจนเกิดเหตุ เป็นต้นพร้อมกันนั้นก็จะต้องนำเอาหลักธรรมสำหรับการครองเรือน คือ ฆราวาสธรรม 4 ประการ มาใช้ต่อกันในบ้านด้วย ดังนี้

1. สัจจะ ความจริงใจ คือ ซื่อสัตย์ต่อกัน ทั้งจริงใจ จริงวาจา และจริงในการกระทำ

2. ทมะ ฝึกตน คือ รู้จักควบคุมจิตใจ ฝึกหัดตัดนิสัยแก้ไขข้อบกพร่องข้อขัดแย้ง ปรับตัวปรับใจเข้าหากัน

3. ขันติ อดทน คือ มีจิตใจเข้มแข็งหนักแน่น ไม่วู่ว่าม ทนต่อความล่วงล้ำกล้ำเกินกัน และร่วมกันอดทนต่อความเหนื่อยยาก ลำบากตรากตรำ ฝ่าฟันอุปสรรคไปด้วยกัน

4. จาคะ เสียสละ คือ มีน้ำใจ สามารถเสียสละความสุขสำราญ ความพอใจ ส่วนตนเพื่อคู่ครองได้ เช่น อดหลับอดนอนพยาบาลกันในยามเจ็บไข้ เป็นต้น ตลอดจนมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อญาติมิตรสหายของคู่ครองไม่ในแคบ

ฝ่ายพ่อบ้านหรือสามี ก็จะต้องเป็นผู้เห็นใจแม่บ้านหรือภรรยาเป็นกรณีพิเศษด้วย ทั้งนี้เพราะสตรีมี

ความทุกข์อันเป็นลักษณะเฉพาะตัวอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากผู้ชาย ซึ่งสามีจะต้องเข้าใจและพึงปฏิบัติด้วยความเอาใจใส่เห็นอกเห็นใจด้วย เช่น ผู้หญิงต้องจากหมู่ญาติมาอยู่กับตระกูลของสามีทั้งที่เป็นเด็กสาว สามีควรให้ความอบอุ่นใจ ผู้หญิงมีระดู ซึ่งบางคราวก่อปัญหาให้เกิดความแปรปรวนทั้งจิตใจและร่างกาย ฝ่ายชายควรเข้าใจ ผู้หญิงมีครรภ์ ซึ่งยามนั้นต้องการความเอาใจใส่ บำรุงกายใจเป็นพิเศษ เป็นต้น สมาชิกครอบครัว ไม่ใช่มีแต่สามีภรรยาเท่านั้น สมาชิกที่สำคัญอีกจำพวกหนึ่งก็คือลูก ๆ ผู้ที่เป็นพ่อบ้านแม่บ้านหรือเป็นพ่อแม่จะต้องรักษาหน้าที่ของตนที่จะต้องมีต่อลูกโดยปฏิบัติหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด และยุติธรรมกับลูก ๆ ทุกคน หน้าที่ของพ่อแม่นั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสแนะเอาไว้ในทีฆนิกายปาฏิกวรรค ดังนี้ เช่น ห้ามไม่ให้ลูกทำชั่ว แนะนำให้ลูกตั้งอยู่ในความดี ให้ลูกได้ศึกษาเล่าเรียน เป็นต้น

3.3.3 ปัญหาอาชญากรรมและทุรกรรมต่าง ๆ สำหรับปัญหาอาชญากรรมและทุรกรรมต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำวันในชีวิต คือความเป็นอยู่ในปัจจุบันนั้นอาจจะเกิดมาจากหลายสาเหตุหลายประการ เช่น สันดานเป็นอาชญากร ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ครอบครัว สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

สำหรับสาเหตุจากปัญหาเศรษฐกิจและครอบครัว ได้กล่าวถึงวิธีแก้มาแล้วข้างต้น ซึ่งอาจจะนำมาใช้ในกรณีนี้ได้เช่นเดียวกัน ส่วนที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเช่น แหล่งจำหน่ายยาเสพติด เป็นต้น ถ้าจะให้ได้ผลดี ทางฝ่ายรัฐบาลหรือชนชั้นบริหารน่าจะได้จัดการแก้ไขให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ โดยรัฐบาลหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบทางฝ่ายบ้านเมือง อาจจะแก้ด้วยการนำเอาธรรมะไปเป็นหลักในการทำงาน เมื่อเห็นว่าสิ่งแวดล้อมใดที่ขัดกับหลักศีลธรรมและจารีตประเพณีที่ดีงาม ก็จัดการให้เป็นไปในทางดีเสีย ก็จะเป็นอุบายวิธีแก้ไขที่ได้ผลมากทางหนึ่ง

3.3.4 ปัญหาศีลธรรมเสื่อม สาเหตุแห่งศีลธรรมเสื่อมนั้น มีมากมายอาจจะมาจาส่วนตัว ส่วนครอบครัว สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ฯลฯ การแก้สาเหตุจากครอบครัว สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจนั้น ได้กล่าวไว้แล้ว แต่ในที่นี้นับว่าสำคัญมากที่สุดก็คือส่วนตัวแต่ละบุคคล จะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขไปสู่การแก้ปัญหาศีลธรรมเสื่อม คือจะต้องจัดการกับตัวเราเองให้ได้อย่างน้อย 2 วิธี คือ

1) พยายามหัดหรือปลูกฝังให้เกิดความฝังใจในการรังเกียจความชั่วช้าต่าง ๆ และประทับใจในความนิยมชมชอบในคุณงามความดีทั้งในที่ลับและที่แจ้ง อาจจะโดยวิธีพิจารณาให้เห็นว่า ความชั่วเป็นตัวสกปรกเป็นของเสียของเหม็นสาบ ไม่มีใครชอบ

2) พิจารณาถึงเหตุผลในเรื่องเอาใจเขามาใส่ใจเรา เทียบเคียงกันและกัน คนที่จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้นั้น มักจะรู้เทียบเคียงอกเขาอกเราเสมอ จะเป็นการฝึกไม่ลืมตน และยังสามารถทำตนให้เป็นที่นิยมรักใคร่ของคนทั้งหลายได้ เพราะคนที่ลืมตนนั้นเมื่อตนเองเป็นฝ่ายได้เปรียบ เป็นฝ่ายเหนือคนอื่นก็มักจะข่มขู่หรือเหยียบผู้อื่นโดยปราศจากความปรานี

3.3.5 ปัญหาโสเภณี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวิชรญาณโรรส ได้ทรงรจนาไว้ในหนังสือเบญจศีลเบญจธรรม เกี่ยวกับผู้เที่ยวซุกซนชอบคบค้ากับหญิงแพศยา (โสณี) จะประสบความเสื่อมเสียประการต่าง ๆ คือ

1) ต้องเสียทรัพย์เป็นค่าบำเรอหญิงนั้นทุกคราวไป ทรัพย์ที่เสียไปนี้ ไม่ใช่สำหรับทำอุปการะโดยฐานเมตตาที่ได้ชื่อว่าเป็นอันจ่ายด้วยดี แต่เป็นค่าปรับเพราะลุอำนาจแก่กิเลสกาม

2) หญิงแพศยาผู้ประพฤติสำส่อนในกาม ย่อมเป็นบ่อเกิดแห่งโรค อันทำให้ร่างกายพิการไปต่าง ๆ เสียกำลังไม่แข็งแรง ที่สุดเสียชีวิต และโรคนี้ติดต่อกันได้ มีบุตรภายหลังแต่เป็นคนมักมีโรค ไม่แข็งแรง

3) เสี่ยงต่ออันตรายต่าง ๆ เพราะหญิงแพศยา ย่อมผูกสมัครรักกับชายหลายคน ฝ่ายชายต่างคนก็จะเกิดหึงหวงเกียจกันและกันขึ้นเองเป็นฐานะที่เขาจะเกิดวิวาทกันขึ้นแล้วทำลายกัน

ตามทรรศนะทางพุทธศาสนาแล้ว การจะแก้ปัญหาอะไรก็ตามจะต้องแก้ที่ต้นเหตุ แก้กันไปให้ถึงต้นเหตุจริง ๆ น่าจะได้สาวหาต้นเหตุของการเกิดโสเภณีอย่างแท้จริง น่าจะเป็นไปได้ที่ว่า เพราะตราบใดยังมีคนไปเที่ยวโสเภณี ตราบนั้นก็ต้องมีโสเภณีแน่ และหากยิ่งมีคนไปใช้บริการนี้มาก ก็ยิ่งเกิดโสเภณีมากยิ่งขึ้นแล้วทำไมจึงมีคนถึงมีอารมณ์ทางเพศรุนแรงเพิ่มขึ้น ก็เพราะ

1) สภาพสังคมที่อยู่รอบตัวเรานั่นเองส่งเสริมโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นภาพยนต์ วีดีโอ ละคร เพลง การโฆษณา การจัดประกวดนางงามธิดาต่าง ๆ การกีฬา หนังสือพิมพ์รายวัน หนังสือลามกต่าง ๆ ทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ มีการเผยแพร่ยั่วยุกามราคะจัดยิ่งขึ้น ฉะนั้น ตราบใดที่การสื่อสารต่าง ๆ ยังป้อนภาพ-เสียง-สัมผัสที่เร่งเร้า ปลุกอารมณ์ทางเพศให้ระอุฮือโหมแก่ประชาชนอยู่ตลอดเวลาแล้ว ตราบนั้นปัญหาโสเภณีย่อมไม่มีวันลดน้อยลงไปได้ และโสเภณีมีแต่จะถูกเพิ่มจำนวนให้มารองรับอารมณ์กามของผู้ชายมากขึ้น พร้อมกันนั้น สื่อสารลามกต่าง ๆ ก็จะออกมาเอาใจลูกค้า กามตัณหาก็เพิ่มทวีคูณยิ่งขึ้นไปอีก

2) ตัวบุคคลแต่ละคน พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนให้รักษาศีล 5 เป็นนิจศีลสำหรับบุคคลทั่วไป มิให้ขาดมิให้ทำลาย ซึ่งในศีล 5 นั้น มีข้อที่ 3 ที่ให้มีเจตนางดเว้นจากประพฤติผิดในทางกามมีรายละเอียดดังกล่าวไว้ในบทที่ 2 ข้อที่ว่าด้วยเบญจศีลเบญจธรรม เมื่องดเว้นจากการประพฤติในกามนี้เป็นขั้นของศีล แต่จะมีธรรมควบคู่ด้วย คือ จะต้องมีกามสังวร ปติวัตร และสทารสันโดษ เพราะฉะนั้นบุคคลแต่ละคนนี้แหละที่เป็นต้นเหตุอันแท้จริงของการเกิดโสเภณีเพราะบุคคลแต่ละคนขาดธรรมคือกามสังวร ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงแนะนำให้ "สังวรในกาม คือกิริยาที่ระมัดระวังไม่ประพฤติมักมากในกาม" ก็เพราะในด้านของปัจเจกชน หากไม่มีความสังวรในกามแล้วจิตใจก็จะหาความสงบมิได้ จะมีความกระวนกระวายแสวงหากามอยู่เรื่อยไป ทั้งจะวิจิตรพิศดารขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่มีขอบเขต เพราะว่าการเสพกามจะทำให้เต็มอิ่มนั้นไม่ได้ มันไม่เหมือนกับการกินข้าว ที่กินแล้วยังรู้จักอิ่ม แต่การเสพกามนี้เหมือนกับยาเสพติดอย่างหนึ่ง คือยิ่งเสพก็ยิ่งติด วิธีการที่ฉลาดกว่าในการที่จะทำให้อิ่มในกามให้เกิดขึ้นก็คือ วิธีตามแนวพุทธศาสนา คือการเสพกามให้น้อยลง น้อยลงเรื่อยๆ จนหยุดไปเอง

การจะถือหลักที่ว่า "น้ำมีไหล ไฟมีควัน ชายมีนารี สตรีมีบุรุษ" ก็เป็นธรรมดาของปุถุชน เพราะเมื่อเป็นผู้ใหญ่จบการศึกษามีหน้าที่การงานแล้วก็สามารถมีครอบครัว คือ มีสามี หรือภรรยา เป็นเพื่อนคู่ชิดมิตรคู่ใจเป็นคู่สร้างคู่สม มีความรักที่บริสุทธิ์ต่อกัน ซื่อสัตย์ต่อกันจริงใจต่อกัน เข้าใจกันและกัน อาจมีเพื่อนต่างเพศคบกัน ดูใจกัน สังเกตอุปนิสัยใจคอกันและกันก่อน และอย่าชิงสุกก่อนห่าม ถ้าจะให้ดีก็ต้องให้พ่อแม่ทั้งสองฝ่ายรับรู้เห็นชอบด้วย จะได้มีหลักประกันหรือมีพยาน ชนิดที่เราเรียกกันว่า เข้าตามตรอก ออกตามประตูอย่าเข้าหลังบ้านออกทางหน้าต่าง ไม่ปลอดภัยแน่ จะต้องแน่ใจว่าเปแนความรักที่บริสุทธิ์จริงใจต่อกันให้มีสติสัมปชัญญะ อย่าให้ถึงขั้นมืดมน ดังที่กล่าวกันว่า "ความรักเหมือนโรคา บันดาลตาให้มิดมน" รักอย่างนี้มีเพื่อต่างเพศอย่างนี้มีจุดหมายที่แน่นอนเพื่อจรรโลงชีวิตคู่หรือชีวิตครอบครัวอย่างนี้ มีจุดหมายที่แน่นอน เพื่อจรรโลงชีวิตคู่หรือครอบครัวอย่างนี้ไม่มีความเสียหาย สังคมยอมรับปฏิบัติกันอยู่แล้ว



4. วิกฤติสิ่งแวดล้อม

สิ่งแวดล้อม คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวมนุษย์ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต รวมทั้งที่เป็นรูปธรรม (สามารถจับต้องและมองเห็นได้) และนามธรรม (ตัวอย่างเช่นวัฒนธรรมแบบแผน ประเพณี ความเชื่อ) มีอิทธิพลเกี่ยวโยงถึงกัน เป็นปัจจัยในการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ผลกระทบจากปัจจัยหนึ่งจะมีส่วนเสริมสร้างหรือทำลายอีกส่วนหนึ่ง อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ สิ่งแวดล้อมเป็นวงจรและวัฏจักรที่เกี่ยวข้องกันไปทั้งระบบ

4.1 ปัญหาสิ่งแวดล้อม หมายถึงปัญหาความเสื่อมโทรมในเชิงคุณภาพและปริมาณของสิ่งแวดล้อมทั้งที่เป็นสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม อันมีสาเหตุมาจากการกระทำของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการพัฒนา ขอบเขตของปัญหาสิ่งแวดล้อมสามารถพิจารณาได้จากความรุนแรงของปัญหา มีถึง 4 ระดับด้วยกัน คือระดับโลก ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ทางธรรมชาติ ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีอยู่สองลักษณะด้วยกันคือ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติในรูปของการร่อยหรอหมดไปและความเสื่อมโทรมของคุณภาพสิ่งแวดล้อมรอบตัวมนุษย์ที่เรียกว่า ภาวะมลพิษ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นผลผลิตตามมาจากการที่สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติต้องเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากการกระทำของมนุษย์ เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาความสูญเสียดุลยภาพของสิ่งแวดล้อมที่มีทีท่าว่าจะเลวร้ายลงทุกวัน อันจะต้องระดมความคิดและการกระทำช่วยกันแก้ไขทุกวันนี้ก็คือ

1) มลพิษทางอากาศ มาจากก๊าซหลายชนิด เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนมอนนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ ออกไซด์ของไนโตรเจน สารไฮโดรคาร์บอนต่าง ๆ รวมทั้งอานุภาคบางชนิดและไอของตะกั่ว โรงงานอุตสาหกรรมและยวดยานพาหนะ ยิ่งหนาแน่นมากเท่าไร มลพิษในอากาศก็เพิ่มมากเท่านั้น
2) มลพิษทางน้ำ น้ำในแม่น้ำลำคลองปัจจุบันเน่าเสีย มีแนวโน้มมากขึ้น เพราะมนุษย์ได้ทิ้งขยะ สารเคมี ปุ๋ย ซากสัตว์ น้ำสกปรกจากโรงงาน ผงซักฟอก ฯลฯ มนุษย์จึงต้องเผชิญกับน้ำไม่บริสุทธิ์ที่ตนใช้ยังชีพและมนุษย์ก็ยังรู้ดีต่อไปว่า น้ำเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตอย่างหนึ่ง และน้ำที่ตนใช้ยังชีพกำลังจะเป็นพิษขึ้นทุกที แต่มนุษย์ก็ไม่หยุดยั้งในการทำน้ำให้เป็นพิษ เพราะความละเลย ความเห็นแก่ตัว มักง่าย และความไม่เอาใจใส่ของมนุษย์นั่นเอง แม่น้ำลำคลองต่าง ๆ จึงเน่าเหม็นเป็นจำนวนมาก

3) มลพิษทางดิน การที่ดินเกิดภาวะมลพิษมีที่มาจากหลายสาเหตุ เช่น มูลของสัตว์ การใช้ปุ๋ยเกินพอดี ตะกอนของเกลือ สารเคมี โดยเฉพาะขยะมูลฝอย ถ้ากองทิ้งไว้จะเกิดการสลายตัวทำให้เกิดสารอินทรีย์และ อนินทรีย์ พอฝนตกลงมาน้ำก็จะไหลไปบริเวณข้างเคียง สารต่าง ๆ ก็ตามไปด้วย ทำให้ละแวกนั้นมีพิษไปด้วย นอกจากนี้ขยะบางอย่างก็ยากต่อการทำลายหรือทำลายเพียงบางส่วน ซึ่งถ้าทิ้งไว้ที่ใดก็มักจะคงอยู่ในสภาพเช่นนั้น ถ้าเกิดใครมักง่ายทิ้งลงตามท่อระบายน้ำ จะทำให้เกิดการอุดตัน ถ้าทิ้งบงในแม่น้ำลำคลองจะทำให้ตื้นเขินและเป็นอันตรายต่อเรือที่สัญจรไปมา สิ่งที่สบายตัวยากที่กล่าวมาเช่น พลาสติก โลหะ ฝ้าย หนัง เป็นต้น
4) มลพิษทางอุณหภูมิ โลกปัจจุบัน นับวันอากาศจะแปรปรวนไปจากเดิม เพราะมนุษย์มีการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ทั้งที่เป็นการเสริมสร้างและทำลายมนุษย์ เช่น ระเบิดไฮโดรเจน ฝนเทียม การถางป่าตัดต้นไม้ ขาดความเย็น หรือการอยู่ในเมืองอย่างแออัดไม่มีต้นไม้ทำให้ฝนไม่ตก หรือความร้อนจากอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องจักรต่าง ๆ ตลอดจนความร้อนจากดวงอาทิตย์ เป็นต้น

กาลเวลาผ่านมาจนกระทั้งถึงระยะเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษที่ผ่านมา (ระยะสิบปี) ซึ่งเรียกกันว่า "ทศวรรษแห่งการพัฒนา" นั้น ปรากฎว่าได้เกิดมีปัญหารุนแรงด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในบางส่วนของโลกและปัญหาดังกล่าวนี้ ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันในทุกประเทศทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา เช่น

1) ปัญหาทางด้านภาวะมลพิษที่เกี่ยวกับน้ำ

2) ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมสลายและหมดสิ้นไปอย่างรวดเร็ว เช่น น้ำมัน แร่ธาตุ ป่าไม้ พืช สัตว์ ทั้งที่เป็นอาหารและที่ควรจะอนุรักษ์ไว้เพื่อการศึกษา

3) ปัญหาที่เกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานและชุมชนของมนุษย์ เช่น การวางผังเมืองและชุมชนไม่ ถูกต้อง ทำให้เกิดการแออัดยัดเยียด ใช้ทรัพยากรผิดประเภทและลักษณะ ตลอดจนปัญหาแหล่งเสื่อมโทรมและปัญหาจากของเหลือทิ้งอันได้แก่มูลฝอย

4.2 สาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อม

1) การเพิ่มของประชากร (Population growth) ปริมาณการเพิ่มของประชากรก็ยังอยู่ในอัตราทวีคูณ (Exponential Growth) เมื่อผู้คนมากขึ้นความต้องการบริโภคทรัพยากรก็เพิ่มมากขึ้นทุกทางไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร ที่อยู่อาศัย พลังงาน

2) การขยายตัวทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี (Economic Growth & Technological Progress) ความเจริญทางเศรษฐกิจนั้นทำให้มาตรฐานในการดำรงชีวิตสูงตามไปด้วย มีการบริโภคทรัพยากรจนเกินกว่าความจำเป็นขั้นพื้นฐานของชีวิต มีความจำเป็นต้องใช้พลังงานมากขึ้นตามไปด้วย ในขณะเดียวกันความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีก็ช่วยเสริมให้วิธีการนำทรัพยากรมาใช้ได้ง่ายขึ้นและมากขึ้นและผลสืบเนื่องอันเกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อม คือ

1) ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ เนื่องจากมีการใช้ทรัพยากรกันอย่างไม่ประหยัด อาทิ ป่าไม้ถูกทำลาย ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ขาดแคลนน้ำ

2) ภาวะมลพิษ (Pollution) เช่น มลพิษในน้ำ ในอากาศและเสียง มลพิษในอาหาร สารเคมี อันเป็นผลมาจากการเร่งรัดทางด้านอุตสาหกรรมนั่นเอง

4.3 ผลกระทบต่อสังคมไทย

1) ในแง่ของปัจเจกบุคคล ซึ่งส่งผลก่อให้เกิดโรคภัยเบียดเบียน ก่อให้เกิดความรำคาญ สภาวทางจิตเสื่อม ฯลฯ จนกลายเป็นภาระปัญหาของสังคม

2) ในแง่ของสังคม ชุมชนโดยรวมไม่เป็นที่สัปปายะในการอยู่อาศัย การดิ้นรนแสวงหาที่อยู่ใหม่จึงเกิดขึ้น การทำลายก็เพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นสภาวะลูกโซ่ สังคมจึงเสื่อมทรามขึ้น

3) ในแง่ของการเมือง วิกฤติต่างๆ ย่อมมีผลในทางไม่ดี อาจเป็นช่องทางให้นักการเมืองและข้าราชการแสวงหาผลประโยชน์ หรือปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมากที่สุด ดังนั้นประเทศใดเกิดภาวะวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมย่อมตกอยู่ในสายตาของชาวโลก เป็นที่แสดงว่าผู้นำของประเทศขาดประสิทธิภาพขาดนโยบายในการบริหารที่ดี เป็นต้น

4) ในแง่ของเศรษฐกิจ เมื่อเกิดวิกฤติต่างๆ ผลจากวิกฤตินั้นๆ ย่อมไม่เป็นที่ไว้วางใจของต่างชาติ การส่งออกระหว่างประเทศจึงชะงัก ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จึงต้องหมุนเวียนภายในประเทศ ประชาชนจึงมีรายได้น้อยลง หรือไปหลงในอบายมุขต่างๆมากขึ้น ก็จึงเป็นสาเหตุการเกิดวิกฤติอื่นๆ ตามมา เช่น วิกฤติด้านสังคม ด้านการเมือง เป็นต้น

4.4 พระพุทธศาสนากับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

พระสงฆ์ในฐานะเป็นองค์กรหนึ่งของสังคม ในการช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังดำเนินไปอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็ควรจะได้ทำความเข้าใจเรื่องความหมาย ขอบข่าย และสาเหตุของการทำลายสิ่งแวดล้อมเสียก่อนแล้วจึงแสวงหาจุดที่เหมาะสมว่า พระสงฆ์ควรจะยืนอยู่ตรงไหนจึงจะเหมาะสมกับการให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กล่าวมานี้ ล้วนมีผลกระทบแก่การดำรงอยู่ของมนุษย์ในทุกๆด้าน มนุษย์ต้องการผืนดินในการผลิตอาหารธรรมชาติ แต่ขณะนี้ดินก็หมดประสิทธิภาพในการผลิต ทุกวันนี้ต้องสร้างปุ๋ยเคมี เพิ่มความอุดมให้แก่ดินซึ่งผิดธรรมชาติที่เคยเป็นมา ยิ่งเพิ่มปุ๋ยเคมีลงไปมากเท่าไรก็เป็นการทำลายดินมากเท่านั้น คงต้องใช้เวลานานต่อการย่อยสลายผลิตภัณฑ์สังเคราะห์ต่าง ๆ ที่ทับถมอยู่บนแผ่นดิน ในช่วงเวลาดังกล่าว ดินก็เสื่อมคุณภาพลงไปเรื่อย ๆ กว่าความอุดมสมบูรณ์จะกลับคืนมาก็คงจะใช้เวลานานพอสมควรทีเดียว

ชีวิตมนุษย์ต้องการน้ำเพื่อการดำรงชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับตาลงแต่ละวัน มนุษย์ต้องใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคประจำวัน เช่น อาบ ดื่ม ทำความสะอาดร่างกาย และสิ่งต่าง ๆ ใช้ในการผลิตผลทางการเกษตรในไร่นา ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ใช้ในทางคมนาคม ยานพาหนะบรรทุกคน บรรทุกสิ่งของไปมา ติดต่อกันโดยไม่ต้องลงทุนอะไร ใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ แต่เมื่อเกิดมลพิษทางน้ำ ประโยชน์การใช้งานเหล่านี้ย่อมลดลงและหมดไปในที่สุด แต่ความต้องการใช้ประโยชน์จากน้ำ มิได้หมดไปด้วย เมื่อความต้องการมีมากปัจจัยตอบสนองความต้องการมีน้อย การช่วงชิงสูง ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งทะเลาะกันอย่างรุนแรงได้ในยุคพุทธกาลศากยะตระกูล กับโกลิยะตระกูลอันเป็นตระกูลฝ่ายพุทธมารดาและพุทธบิดา ก็ทะเลาะกันเรื่องน้ำ พระพุทธเจ้าเคยเสด็จไปทรงห้ามบ่อย ๆ แต่พอพระพุทธองค์มิได้ทรงห้ามก็รบกันไม่มีวันหยุดหย่อน น้ำจึงมีความสำคัญต่อชีวิตมาแก่โบราณกาล การขัดแย้งกันมีมานาน หากใช้ทรัพยากรน้ำไม่เป็น น่ากลัวว่าในอนาคตจะมีการช่วงชิงจนเกิดความแตกแยกในสังคมขึ้นมาอีกเป็นแน่แท้

อากาศและอุณหภูมิก็มีความจำเป็นต่อชีวิตไม่น้อยไปกว่าสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ และสำคัญมากเสียด้วย มนุษย์ขาดน้ำยังพออยู่ได้ในระยะเวลาสั้น ๆ ขาดอาหารอยู่ได้นานหลายวัน แต่ขาดอากาศบริสุทธิ์หายใจ ไม่ถึง 1 ชั่วโมงก็เสียชีวิตทันที หากไม่เสียชีวิตก็อาจจะพิการได้ หากอากาศเสียแผ่ขยายออกไปมาก ๆ ความเจ็บป่วยต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ง่าย กระทบกระเทือนสุขภาพก่อน พอนานเข้าก็เป็นอันตรายแก่ชีวิต หากอากาศเสียขยายไปอย่างรุนแรงมนุษย์อาจจะต้องตายจนสิ้นเผ่าพันธ์ก็ได้อุณหภูมิ ก็มีผลกระทบต่อการดำรงชีพของมนุษย์ไม่แพ้ สิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ร่างกายที่ดำรงอยู่ได้อย่างปกติสุขเพราะร่างกายมีอุณหภูมิสมดุลกับธาตุอื่น ๆ ในร่างกาย และอุณหภูมิในร่างกายย่อมมีความสัมพันธ์กับภายนอกอย่างใกล้ชิด หากอุณหภูมิภายนอกร้อนมากจนร่างกายไม่สามารถปรับตัวอยู่ได้ ก็ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างแน่นอน

หากมองปัญหาตามแนวพุทธศาสนาเราก็พบว่าขณะนี้ธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม กำลังมีปัญหาซึ่งอาจจะเพิ่มความรุนแรงขึ้นทุกวันจนเข้าขั้นวิกฤตขึ้นไม่วันใดก็วันหนึ่ง ชีวิตมนุษย์ตามพุทธทัศนะประกอบขึ้นมาจากธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ตามกฏของธรรมชาติ ต้องอาศัย ธาตุ 4 ที่ส่งเข้าไปสู่ร่างกายและถ่ายเทออกมาต้องบริสุทธิ์และสมดุล ร่างกายจึงจะดำรงอยู่ได้อย่างปกติสุข ถ้าหากเสียดุลบ้างเล็กน้อย ร่างกายก็จะแสดงปฏิกิริยาออกมาในรูปของความอ่อนแอหรือป่วยไข้ ถ้ารุนแรงชีวิตจะแตกสลายทันที หากสิ่งแวดล้อมยังอยู่ในสภาพวะปกติบริสุทธิ์ สดใสตามธรรมชาติ ชีวิตมนุษย์ก็พลอยพบกับความสุขสดชื่นไปด้วย แต่ถ้าเมื่อไรมีความแปรปรวนมากๆ ชีวิตมนุษย์ก็จะประสบทุกข์มากยิ่งขึ้น ภารกิจแห่งการร่วมกันเผชิญปัญหา การค้นคว้าหาสาเหตุของปัญหาและทางแก้ให้พบ ซึ่งมั่นใจว่าทางแก้มีอยู่ จึงมิใช่เป็นหน้าที่ของมนุษย์เพียงคนใด คนหนึ่ง หรือกลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกชีวิต เพราะมันจะเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความดำรงอยู่ และการล้มสลายแห่งมนุษยชาติทีเดียว

ในอดีตวิถีไทย คือวิถีแห่งธรรม เพราะธรรม คือแนวทางที่สอนให้มนุษย์สร้างดุลยภาพแห่งชีวิตระหว่างตน ชุมชนและธรรมชาติรอบ ตัวว่าควรจะดำเนินชีวิตให้สอดคล้องสมดุลอย่างไร ตามความเชื่อ ตามวิถีทางพระศาสนาของตนอย่างไร แต่ ณ ปัจจุบันนี้ธรรม นั้น ได้ผันแปร เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เมื่อมนุษย์หันหลังที่จะเข้าใจธรรมชาติ อยู่กับธรรมชาติ อันเป็นแม่บทแห่งธรรมมากขึ้น แล้วมุ่ง หน้าตักตวงทำลาย ธรรมชาติอย่างตะกละตะกลาม เมื่อมากเข้านานเข้าก็ยากที่ธรรมชาติจะทานทนได้หรือ เพียงพอกับความโลภ อันไร้ขีดจำกัดของมนุษย์ และยิ่งเมื่อวิถีชีวิตมนุษย์ เดินทางห่างไปจากธรรมชาติ หลงใหลในเทคโนโลยีนำพา อุตสาหกรรมเข้ามา ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายดุลยภาพที่เคยสอดประสานเป็นวิถีชีวิตที่กลมกลืนกับธรรมชาติภัยแห่งผลพวงนั้นก็เริ่มลุกลามดุลยภาพแห่งชีวิตนั้นจะขาดวิถีแห่งธรรมเสียมิได้ เพราะธรรมคือกรอบคิดหลักที่วางกระบวนการดำเนินชีวิต วางความหมาย แห่ง คุณค่าให้เป็นไปอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ อันสงบและเรียบง่าย เนื่องจากปัจจุบันป่าต้นน้ำ ถูกทำลาย ถูกบุกรุกแผ้วถางมากมาย ซึ่งทั้งหมดล้วนมาจากผลกระทบของการพัฒนาอย่างไม่ยั่งยืน อันขัดกับหลัก ปฏิบัติตามวิถี ชาวพุทธที่อยู่พอเพียงและเคารพธรรมชาติ
การพยายามดึงเอาสถาบันพระศาสนา ชุมชนและประชาคมเมือง ให้มาสนใจ รับรู้และศึกษา ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับสังคม ทั้งในด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม และอื่นๆ

4.5 การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

การอนุรักษ์ หมายถึง การเก็บรักษา สงวน ซ่อมแซม ปรับปรุงและใช้ประโยชน์ตามความต้องการอย่างมีเหตุผลต่อสิงแวดล้อม เพื่อเอื้ออำนวยให้เกิดคุณภาพสูงสุดในการสนองความเป็นอยู่ของมนุษย์อย่างถาวรต่อไป หลักการอนุรักษ์ การที่จะให้บรรลุเป้าหมาย คือ การที่จะทำให้มีทรัพยากรธรรมชาติไว้ใช้และอยู่คู่กับโลกตลอดไปนั้น มีหลักการอนุรักษ์ 7 ประการ คือ

1) ใช้อย่างฉลาด การจะใช้ ต้องพิจารณาให้รอบคอบถึงผลดี ผลเสีย ความขากแคลนหรือความหายากในอนาคต อีกทั้งพิจารณาหลักเศรษฐศาสตร์ถึงต้นทุนและผลตอบแทนอย่างอย่างครบถ้วน

2) ประหยัด (เก็บ รักษา สงวน ) ของที่หายาก หมายถึง ทรัพยากรใดที่มีน้อยหรือหายาก ควรเก็บรักษาไว้มิให้สูญไป บางครั้งถ้ามีของบางชนิดที่พอจะใช้ได้ ต้องใช้อย่างประหยัด

3) ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีหนือเสื่อมโทรมให้ดีขึ้น (ซ่อมแซม ปรับปรุง) กล่าวคือ ทรัพยากรใดก็ตามมีสภาพล่อแหลมต่อการสูญเปล่า หรือจะหมดไปถ้าดำเนินการไม่ถูกต้องตามหลักวิชา ควรหาทางปรับปรุงให้อยู่ในลักษณะที่ดีขึ้น

4) ปรับปรุงให้ดีกว่าสภาพธรรมชาติเดิม เช่น การปฏิรูปที่ดิน การปลูกพืชหมุนเวียน หลายอย่างจะทำให้ดินดีขึ้น

5) นำของใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ เช่น การนำขวดน้ำพลาสติก กระดาษหรือเศษเหล็กเป็นต้นกลับมาใช้ใหม่

6) ใช้สิ่งอื่นทดแทนทรัพยากรธรรมชาติบางอย่าง เช่น ใช้แกลบขี้เลื่อยและขยะเป็นเขื้อเพลิง การใช้ปูนซิเมนต์ในการก่อสร้างแทนไม้

7) ใช้เทคโนโลยีที่เหมาสมในการพัฒนา และต้องศึกษาผลได้ผลเสียอยางรอบคอบเสียก่อน เช่น การสร้างโรงไฟฟ้า หรือเขื่อน เป็นต้น

5. ข้อเสนอแนะ

พระพุทธศาสนาสอนเรื่องสันโดษ สันโดษ ความหมายตามตัวอักษรหมายถึง "ความยินดีในของของตน" (โดยไม่แย่งชิงกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น) คำว่าสันโดยที่นำเอามาใช้เป็นภาษาไทย มาจากภาษาสันสกฤตว่า สํโตษะ คือความยินดี ความพอใจพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมาย คำว่าสันโดษว่า "ความยินดีหรือความพอใจเท่าที่ตนมีอยู่; มักน้อย" (อัปปิจฉตา) ซึ่งตรงข้ามกับมหิจฉตา ที่แปลว่า "มักมาก" ในของของผู้อื่น หรือทรัพย์สินของผู้อื่นคำว่า สันโดษ หากเป็นภาษาบาลี มาจากศัพท์ว่า สนฺโตสะ และมีอีกศัพท์หนึ่งว่า สนฺตุฏฺฐิ (สันตุฎฐี) ซึ่งก็หมายถึง "ยินดีด้วยของของตน" เช่นกัน จะเห็นได้ พบได้ในพระพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า "สนฺตุฏฺฐี ปรมํ ธนํ" แปลตามที่ท่านแปลกันมาว่า "ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง" และอีกบทหนึ่งว่า "ยํ ลทฺธํ เตน ตุฏฺฐพฺพํ" แปลว่า "ได้สิ่งใดพึงพอใจในสิ่งนั้น"มีข้อน่าสังเกตว่า "ตุฎฺฐพฺพํ" ที่แปลว่า "สันโดษ"แปลว่า "พอใจ" ก็ได้ ส่วนในปทานุกรมบาลี ไทย อังกฤษ สันสกฤต ฉบับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (หน้า 774) มีว่า "สันโดษที่เป็นภาษาไทย มาจากภาษาบาลีว่า สนฺตุฏฺโฐ ภาษาสันสกฤตว่า สํตุษฺฎิ ก็มีความหมายเช่นเดียวกับที่ได้ยกนำมาเสนอ ตั้งแต่ตอนต้นแล้ว ในภาษาอังกฤษ คำว่า Contenment* และ Satisfaction** สำหรับContentedness ตรงกับคำว่า สันโดษ ซึ่งให้ความหมายว่า "พอใจ; สันโดษ; พอความต้องการ" ตามความหมายที่ผ่านมา คำว่า "สันโดษ" ไม่ได้แปลหรือมีความหมายว่า ไม่ให้พัฒนาตน สังคม หรือประเทศชาติ แต่ประการใด คำสอนเรื่อง "สันโดษ" เท่ากับสอนให้ "รู้จักพอ" คำว่า "สันโดษ" ทางพระพุทธศาสนามี 3 ประการ คือ

1) ยถาลาภสันโดษ ยินดีในสิ่งที่ตนได้มา โดยชอบด้วยศีลธรรมและนิติธรรม

2) ยถาพลสันโดษ ยินดีตามสมควรแก่กำลังกายและกำลังสุขภาพของตน ไม่ยินดีจนเกินกำลัง

3) ยถาสารุปปสันโดษ ยินดีตามสมควร ตามที่เหมาะสมแก่ตน แก่ภาวะ ฐานะ และแนวทางในการดำเนินชีวิตของตน

สันโดษทั้ง 3 เป็นไปในปัจจัย 4 (สำหรับบรรพชิตคือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลาน เภสัชช์/สำหรับคฤหัสถ์ เสื้อผ้า อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค) จึงรวมเป็นสันโดษ 12 (3x4=12) สันโดษมีปรากฎอยู่ในพระคัมภีร์อรรถกถาและฎีกามากมาย ไม่น้อยกว่า 10 แห่ง การสอนเรื่องสันโดษ เป็นการสอนมิให้มีความปรารถนามาก อยากมีมาก(มหิจฉตา) โลภมาก ในสิ่งที่ไม่ใช่สิทธิของตนอันที่จริงมีรถ 10 คัน ก็ใช้ได้ทีละคัน มีบ้าน 10 หลัง ก็นอนได้คืนละหลัง จะโลภมาก มักมาก ไปทำไมกัน คำสอนทางพระพุทธศาสนามีถึง 84,000 พระธรรมขันธ์ แบ่งเป็น 3 ปิฎก คือ

1) พระวินัยปิฎก 21,500 พระธรรมขันธ์

2) พระสุตตันตปิฎก 21,500 พระธรรมขันธ์

3) พระอภิธัมมปิฎก 42,000 พระธรรมขันธ์

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มิได้ทรงสอนให้สันโดษ* เท่านั้น ยังมีคำสอนที่ให้ขยันหมั่นเพียร (อุฏฐานะ) มีความเพียร (วิริยะ/วายามะ) ให้มีการเก็บรักษา (อารักขา) คบเพื่อนดี (กัลยาณมิตร) เลี้ยงชีพชอบ เลี้ยงชีพพอสมควร ไม่ฟุ่มเฟือยเกินไป ไม่ฝืดเคืองเกินไป (สมชีวิตา) เลี้ยงชีวิต เลี้ยงครอบครัว พอเหมาะพอสม สันโดษ มิได้หมายความว่า สอนให้งอมืองอเท้า ไม่ขวนขวายศึกษาเล่าเรียน ไม่ประกอบการงานอาชีพแต่อย่างไร แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้อีกว่า ต้องมีอิทธิบาท 4 (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา)** คือคุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จแห่งผลที่มุ่งหมาย มีคำสอนที่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ (creative thinking) เช่นจักร 4 คือธรรมะที่นำชีวิตไปสู่ความรุ่งเรือง ดุจล้อรถนำรถไปสู่ที่หมายฉะนั้น (มีปฏิรูปเทสวาส อยู่ที่ในถิ่นที่ดี สัปปุริสปัสสยะ สมาคมกับสัตบุรุษ คือคนดี อัตตสัมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้ทำดีไว้ก่อน) จักร 4 นี้ เรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า "พุทธธรรม" คือธรรมอันมีอุปการะมาก (Virtues of great assistance) ช่วยให้ชีวิตประสบความก้าวหน้า เจริญงอกงามไพบูลย์ตลอดไป วุฒิธรรม 4 คือ ธรรมเป็นเครื่องเจริญ 4 มี (สัปปุริสสํเสวะ คบคนดีเป็นสัตบุรุษ สัทธัมมัสสวนะ ฟังพระสัทธรรม เอาใจใส่ในการศึกษาหาความรู้ โยนิโสมนสิการ คิดหาเหตุผลโดยถูกวิธี พิจารณาในใจโดยวิธีอันแยบคาย/แยบยล ธัมมานุธัมมปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรม) พระพุทธศาสนามีภาษิตว่า มตฺตญฺญุตา สทา สาธุ ความรู้จักประมาณ (ความรู้จักพอ) จำปรารถนาในที่ทั้งปวง เรามีมัชฌิมา ความรู้จักประมาณ ปฏิบัติแบบสายกลาง มีอัตตัญญุตา ให้รู้จักประมาณตน
พระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทำให้ผู้ปฏิบัติ มีชีวิตที่เจริญรุ่งเรือง พัฒนาสังคม ประเทศชาติให้เจริญพัฒนามีมากมายครับ เพราะฉะนั้นมองอะไรอย่ามองด้านเดียว ต้องมองอย่างขึ้นที่สูงมอง หรือต้องมองอย่างนกมอง (bird's eye view) คำว่าสันโดษนี้ อาจได้แปลว่า "พอ, ความพอ, ความรู้จักพอ" คนรู้จักพอ จึงจะเป็นคนร่ำรวย คนไม่รู้จักพอจึงเป็นคนจนอยู่ตลอดกาล คนไม่รู้จักพอ จึงเท่ากับเป็นคนมีไม่พอ พอไม่มีนั่นเอง หากบุคคลในสังคมมีคำว่าพอแล้วย่อมไม่ก่อสร้างปัญหาใดๆ ให้กับสังคม ชุมชน และประเทศชาติ



6. บทสรุปและวิเคราะห์

ปัญหาทุกปัญหาที่สังคมโลกและทุกประเทศ รวมถึงสังคมไทยกำลังเผชิญอยู่นั้น เป็นบทเรียนราคาแพงที่ทุกคนได้รับ สาเหตุที่แท้จริงของทุกปัญหานั้นมาจากเหตุเพียงเหตุเดียว คือ ความด้อยคุณภาพของประชากร ทั้งระดับครอบครัว ระดับสังคม ระดับชาติ จำนวนประชากรที่มีคุณภาพต่ำเป็นจำนวนมากในสังคมเหล่านั้น ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องทำทุกวิถีทางที่จะสร้างคุณภาพที่สูงขึ้นไปแก่ประชาชนในสังคมไทย

ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันนี้ เช่นปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม ก็เกิดจากฝีมือของคนเห็นแก่ตัว หวังเพื่อประโยชน์ส่วนตนทั้งสิ้น โดยไม่มองถึงความเดือดร้อนของคนอื่น เห็นความเดือดร้อนของคนอื่นเป็นเรื่องไกลตัว แต่ถ้าคนเราแก้ปัญหาตรงจุดนี้ได้ มองว่ามนุษย์เท่าเทียมกัน และคนเหล่านี้ไม่เอาเปรียบกันมีจิตสำนึกดี เชื่อว่าปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมคงจะหายไป เพราะฉนั้นคนที่เอาเปรียบคนอื่น หรือเห็นแก่ตัวควรจะมองปัญหาสังคม และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนี้เสีย แล้วปัญหาต่าง ๆ ก็จะไม่ตามมา จะแก้ไขปัญหาง่ายมาก เพียงแค่คนมีจิตสำนึก รู้จักคำว่า "หน้าที่ และมีวินัย " ปัญหาต่าง ๆ ก็คงไม่เป็นแบบวันนี้ และคงไม่ฝังรากจนเติบโตจนยากแก่การแก้ไข แต่ถ้าคิดจะแก้ไขก็คงไม่สายถ้าคิดจะทำ กระแสความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม และอิทธิพลของโลกาภิวัฒน์ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและบุคคลในสังคม ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ และค่านิยม ควรที่ทุกฝ่ายทั้งอาณาจักรและศาสนจักรต้องประสานร่วมมือกันป้องกันแก้ไขปัญหาในระบบสังคม ค่านิยม อุดมการณ์ รวมทั้งคุณธรรม จริยธรรม และร่วมกันปลูกจิตสำนึกบุคคลในสังคมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมมากขึ้น

การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการนำเอาหลักธรรมทางศาสนาประยุกต์เข้ากับการดำรงชีวิตในปัจจุบัน ควบคู่กับการสร้างคุณภาพชีวิตเยาวชนผู้เป็นประชากรใหม่ของสังคมในยุคต่อๆไป โดยสถาบันครอบครัวมีอิทธิพลต่อเยาวชนเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นสถาบันแรกที่ให้การอบรมทางด้านจิตใจ ให้ความรัก ความอบอุ่น เอาใจใส่ดูแล ทะนุถนอม ปกครองดูแลอย่างถูกต้องแล้วก็จะสามารถให้เยาวชนเป็นบุคคลที่มีคุณภาพและคุณธรรมได้อย่างแน่นอน อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาให้กับสังคม ส่งผลให้สังคมมีความสงบสุข เพราะเยาวชนในวันนี้ก็คือผู้นำและพัฒนาสังคมประเทศชาติในวันข้างหน้า







***************************







- เอกสารอ้างอิง

จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร . สวัสดิการสังคมทางแก้วิกฤตสังคมไทย . กรุงเทพฯ : บริษัทฟ้าอภัย , 2540.

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) . ธรรมกับการพัฒนาชีวิต . กรุงเทพฯ : มูลนิธิพุทธธรรม , 2539.

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) . พุทธวิธีแก้ปัญหา เพื่อศตวรรษที่ 21 . กรุงเทพฯ :

มูลนิธิพุทธธรรม , 2539.

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) . ธรรมนูญชีวิต . กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรมการศาสนา , 2540.

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) . พระพุทธศาสนาพัฒนาคนและสังคม . กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์

กรมการศาสนา , 2542 .

สมพร สุขเกษม , ดร . ความจริงของชีวิต . กรุงเทพฯ : สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา , 2542 .

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ . สังคมวิทยาตามแนวพุทธศาสตร์ . กรุงเทพฯ :

โรงพิมพ์กรมศาสนา , 2530 .

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น