วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

บทความ สุึทธิชัย หยุ่น

ผมไม่แปลกใจ, แต่ค่อนข้างจะตกใจและหดหู่ในหัวใจเมื่อได้อ่านข่าวว่าการสำรวจครั้งล่าสุดยืนยันว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยเห็นว่า “นักการเมืองโกงไม่เป็นไร, ขอให้ทำงานได้เป็นพอ”

ความจริง, ผมสงสัยว่าค่านิยมอย่างนี้มีมาในสังคมไทยช้านานพอสมควร เพียงแต่ไม่สำแดง “อาการ” เด่นชัดเท่านั้น

แต่อาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ปรากฏให้เห็นมาตลอดในพฤติกรรมประจำวันของคนไทยในบางส่วนแล้วเป็นนิจสิน

พ่อแม่คนไหนไม่มี “เส้น” พอที่จะให้ลูกตัวเองเข้าโรงเรียนดี ๆ ดัง ๆ ได้, ก็กลายเป็นคนคนมีปัญหาในสายตาของลูก ๆ

เพราะครอบครัวไทยที่สั่งสอนให้ลูกหลานของตัวเองมีความภาคภูมิใจในความเป็นคน “ไร้เส้น” นั้นมีน้อยกว่าครอบครัวที่ตกอยู่ภายใต้ความเชื่อที่ว่าคำว่า “เจริญก้าวหน้า” ในหน้าที่งานการนั้นหมายถึงการมีเส้นมีสาย, ลัดคิว, และข้ามหัวคนอื่นไปได้ในการขยับขยายตำแหน่งแห่งตนของตนเอง

ลองวาดภาพว่าถ้าคุณเป็นผู้ปกครองของเด็กที่กลับจากโรงเรียนแล้วบอกคุณว่า “พ่อของเพื่อนเขามีเส้น จะให้เข้าโรงเรียนดัง ๆ ได้โดยไม่ต้องสอบ”

คุณจะบอกกับเด็กในการดูแลของคุณว่าอย่างไร?

พ่อแม่คนไทยไม่น้อยที่ได้ยินลูกหลานของตัวเองรายงานเช่นนี้แล้วจะรู้สึกว่าเป็นความผิดของตัวเองที่ไม่สามารถช่วยเด็กของตัวเองให้เข้าโรงเรียนที่ต้องการได้เพราะ “ไม่มีเส้นไม่มีสาย”

การแข่งขันในสังคมไทยวันนี้คือการสามารถไปถึงเป้าหมายได้ไม่คำนึงถึงวิธีการ

เหมือนอย่างที่นักการเมืองคนดังคนหนึ่งของไทยเราเคยประกาศเป็นสัจธรรมเอาไว้ว่า

“เป้าหมายสำคัญกว่าวิธีการ”

แปลว่าสำหรับคนไทยจำนวนหนึ่ง, การไปถึงจุดหมายปลายทางไม่ว่าจะเป็นความร่ำรวยหรือได้ตำแหน่งหน้าที่งานหรือการบรรลุเป้าหมายในชีวิตประจำวันนั้นมีความสำคัญยิ่งกว่าความถูกผิดชอบธรรม

อย่างที่โบราณเคยกล่าวไว้ว่า “ไม่ได้เล่ห์, ก็ต้องเอาด้วยกล”

นี่คือทัศนคติอันตรายที่นำไปสู่สภาพของสังคมไทยวันนี้ที่ยอมรับแล้วว่าคนจำนวนไม่น้อยยอมให้นักการเมืองฉัดฉลโกงกินและคอร์รับชั่นได้ “ตราบเท่าที่สามารถแสดงผลงานได้”

อย่างนี่ย่อมหมายความว่าคนไทยเหล่านี้เห็นว่าการสร้างผลงานที่ประจักษ์แก่ประชาชนนั้นไม่อาจจะทำได้ด้วยวิธีการซื่อสัตย์สุจริตแต่เดียงทางเดียวเสียแล้ว

หากแต่ต้องอาศัยวิธีการลดเลี้ยวเคี้ยวคดหรือหนทางที่ผิดกฎหมายหรือฝ่าฝืนศีลธรรมจึงจะถึงเป้าหมายได้...และเมื่อเป็นเช่นนั้น, พวกเขาก็พร้อมจะหลับตาข้างหนึ่ง ทำเป็นไม่เห็นความชั่วร้ายของผู้คนที่มีอำนาจ, เพื่อจะได้ชื่อว่าสร้างผลงานให้เป็นที่ประทับใจของประชาชน

ซึ่งก็ย่อมจะหมายความต่อไปอีกว่าในการเลือกตั้งนั้น, ประชาชนคนไทยจำนวนหนึ่งก็พร้อมที่จะไม่สนใจว่าผู้สมัครคนไหนเป็นคนดีคนไหนเป็นคนเลว, คนไหนเป็นคนยึดมั่นในความสุจริตยุติธรรมและคนไหนเป็นคนเต็มไปด้วยความฉ้อฉลกลโกง

เอาเป็นว่าคนเหล่านี้สามารถบันดาลในสิ่งที่ผู้ลงคะแนนเสียงเท่านั้นก็จะได้เสียงไป

เมื่อเป็นเช่นนี้, บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร?

ไม่ต้องสงสัยว่าประเทศชาติที่มีประชาชนจำนวนหนึ่งที่มีทัศนคติเช่นนี้จะกลายเป็นประเทศที่มีมาตรฐานศีลธรรมอย่างไร

เพราะหากชาติใดยอมให้คนโกงปกครองประเทศเพียงเพราะว่าเขาคนนั้นสามารถใช้อำนาจการเมืองที่ได้มาอย่างไม่สนใจจริยธรรมไป “เล่นแร่แปรธาตุ” ทรัพยากรของบ้านเมืองให้เป็นไปตามความประสงค์ของเขาแล้ว, ก็เท่ากับว่าสังคมนั้นเลิกเคารพในกติกาแห่งความถูกต้องชอบธรรม

แปลต่อไปว่าคนดีอยู่ไม่ได้, คนชั่วที่เข้าข่ายเป็นศรีธนญชัยและคนที่ยอมให้ความสกปรกโสมมเป็นหลักเกณฑ์ของประเทศชาติก็จะเจริญเฟื่องฟู

มาตรฐานเช่นนี้ไม่ยึดเอาความถูกต้อง, ความดี, ความมีศีลธรรมเป็นหลักในการปกครองและการอยู่ร่วมกัน หากแต่ยอมให้อำนาจเป็นสิ่งเดียวที่กำหนดความถูกผิดของประเทศชาติหรือที่ฝรั่งเรียกว่า Might is Right

คนที่เล่นเส้นเล่นสายได้จะมีโอกาสมากกว่าคนเก่งคนขยันแต่ไร้พรรคไร้พวกในแวดวงที่มีอิทธิพล

ท้ายสุดคนเลวก็ปกครองคนดี, คนชั่วก็กำหนดวาระแห่งชาติของคนมีศีลธรรมจรรยาบรรณ

ผมจึงอ่านข่าวการสำรวจความเห็นล่าสุดที่ว่าคนไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นที่เห็นว่าพวกเขายอมรับ “คนโกงที่เก่ง” ได้มากขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

เพราะเท่ากับว่าคนไทยจำนวนนี้เริ่มจะไม่เชื่อว่า “คนเก่งที่ไม่โกง” นั้นน่าจะได้รับการสนับสนุนมากกว่าคนฉ้อฉลอย่างที่ปู่ย่าตายายของเราได้สอนได้สั่งมาตลอดหลายชั่วอายุคน

เท่ากับว่าสังคมไทยกำลังท้อแท้กับการทำความดี และยอมรับว่าความดีเริ่มจะสู้กับความชั่วไม่ได้

เรากำลังกลายเป็นสังคมยอมจำนน

และเรากำลังจะโทษว่าคนดีของเราสู้คนชั่วไม่ได้ และคนในสังคมกำลังจะแอบ ๆ เอาใจช่วยคนโกงมาปกครองบ้านเมืองอย่างอุ่นหนาฝาคั่งขึ้นกระนั้นหรือ?

ผมภาวนาวันละสามเวลาว่าผมวิเคราะห์อย่างนี้เพราะผมเพี้ยนไปเพราะกินยาผิด

ช่วยส่งผมไปหาหมอด้วยด่วนด้วยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น