วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

องค์ประกอบ แห่ง การปฏิวัติ ทางการเมือง

องค์ประกอบ แห่ง การปฏิวัติ ทางการเมือง

การปฏิวัติ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อย่างรวดเร็ว และ รุนแรง โดยใช้กำลัง เพื่อ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ค่านิยมความเชื่อและวัฒนธรรม ให้พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ที่เรียกว่า การปฏิวัติพลิกแผ่นดิน (social revolution)

ส่วน การเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองของผู้ครองอำนาจ โดยไม่กระทบต่อโครงสร้าง ทางเศรษฐกิจและสังคม นั้นเป็น การรัฐประหาร (coup d' état)


การปฏิวัติที่เห็นชัดที่สุด คือ การปฏิวัติฝรั่งเศส ในปี ค.ศ.1789 การปฏิวัติรัสเซียในปี ค.ศ. 1917 การปฏิวัติจีน ในปี ค.ศ.1911 และ ค.ศ.1949



นักประวัติศาสตร์ชื่อ Crane Brinton ได้เขียนหนังสือชื่อ The Anatomy of Revolution โดยทำการศึกษาเปรียบเทียบการปฏิวัติ ฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกา เม็กซิโก และ รัสเซีย เพื่อหาลักษณะร่วมที่นำไปสู่การปฏิวัติ การเปรียบเทียบห้าประเทศนี้ เป็นการศึกษาเพื่อหาทฤษฎีในระดับหนึ่ง ลักษณะร่วมดังกล่าวก็คือตัวแปรที่จะนำไปสู่ปรากฏการณ์อันเดียวกันคือ การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบบการเมือง สังคม และ เศรษฐกิจ


Crane Brinton ได้พบว่า การปฏิวัติ ที่เกิดขึ้นในห้าประเทศดังกล่าวนั้น จะมีลักษณะร่วมดังต่อไปนี้ คือ


1. ก่อนการปฏิวัติ จะเกิดความขัดแย้งทางชนชั้น (class struggle) อย่างขมขื่น แต่ความขัดแย้งทางชนชั้นนั้น ไม่ใช่ระหว่าง คนรวยและคนจน หากแต่เป็น กลุ่มคนชั้นสูงด้วยกัน โดยกลุ่มหนึ่ง กุมอำนาจรัฐ สถานะทางสังคม และ ทรัพย์ศฤงคารในแง่ที่ดิน และ กิจการอื่น ๆ ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มคู่แข่ง ซึ่งส่วนใหญ่ ก็คือกลุ่มซึ่งเป็น ชนชั้นกระฎุมพี และ ไม่พอใจที่คนกลุ่มข้างบน ใช้อำนาจทางการเมืองและ อภิสิทธิ์กดดันให้ตนเองต้องเสียโอกาส และเสียเปรียบ จึงพยายามปฏิวัติ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบ โดยใช้คนกลุ่มชั้นล่าง เป็นแนวร่วม ความขัดแย้งระหว่างชนชั้น คือ คนที่เป็นกลุ่มผู้นำด้วยกันเองนี้ คือ ตัวแปรสำคัญ ตัวที่หนึ่ง


ข้อน่าสังเกต ก็คือ การปฏิวัติมวลชนล้วน ๆ นั้น ยังไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ ส่วนใหญ่ จะต้องนำโดย นักคิด เช่น ในการปฏิวัติ โดยมีชาวนาเข้าร่วมนั้น จะต้องมี นักคิด เป็น ผู้นำ เสมอ เพราะจำเป็นต้องใช้ การปลุกเร้ามวลชน ใช้อุดมการณ์ เป้าหมาย และ การวางแผน ถ้าเป็น การลุกฮือธรรมดา ก็จะกลายเป็น กบฏชาวนา หรือ การจลาจลที่ไร้ทิศทาง


2. การปฏิวัติ ที่เกิดขึ้นในห้าประเทศดังกล่าวนั้น มิได้เกิดขึ้น ตอนที่เศรษฐกิจตกต่ำ มีการศึกษาแล้วว่า สังคมที่เศรษฐกิจตกต่ำที่สุด ก็อาจนำไปสู่ การแย่งอาหาร ตีชิงวิ่งราวปล้นร้านค้า แต่จะไม่เกิดการปฏิวัติ แต่การปฏิวัติ จะเกิดขึ้นในสภาวะที่เศรษฐกิจดีขึ้น ตามลำดับ และ การขยายในทางบวกของเศรษฐกิจนั้น หยุดชะงักลงจนทำให้เกิดความไม่พอใจ เพราะมีการคาดหวังที่สูง (rising expectation) ยิ่งขึ้น ความไม่พอใจ อันเนื่องมาจาก การหยุดชะงักงันของผลประโยชน์ ย่อมรุนแรงกว่าสภาพเศรษฐกิจที่ยากจนค้นแค้น และ การปฏิวัติ มักจะเกิดขึ้น ในช่วงที่เศรษฐกิจดี ดีกว่า ในช่วงที่ตกต่ำ การพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ต่อเนื่องและยั่งยืน จึงเป็นตัวแปรสำคัญของ การป้องกันการปฏิวัติ การทำความดีที่ไม่ตลอด เป็นเรื่องที่อันตราย ทำนองเดียวกับ การที่คน ๆ หนึ่งช่วยเหลือเกื้อกูล คนกลุ่มหนึ่ง และ ฉับพลันก็หยุดการช่วยเหลือ ก็จะเกิดความรู้สึกไม่พอใจ รวมทั้ง เกิดความเคียดแค้นได้ สภาวะดังกล่าวใช้ได้ แม้ในความสัมพันธ์ส่วนตัว


3. การปฏิวัติ จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้ากลุ่มผู้นำ ยังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก่อนการปฏิวัติ กลุ่มผู้นำ ที่ครองอำนาจรัฐนั้น จะเกิดความไม่ไว้วางใจ ซึ่งกันและกัน และเกิดความขัดแย้ง เพราะผลประโยชน์ไม่ลงตัว คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก็เกิดจากความขัดแย้ง ในกลุ่มผู้นำชั้นสูง และเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็เกิดความขัดแย้งใน กลุ่มผู้นำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มผู้นำทหาร ที่เป็นตัวแปรสำคัญ ในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง


4. บรรยากาศ ก่อนการปฏิวัติ จะเป็นบรรยากาศของ ชนชั้นผู้นำทางความคิด หันเหความภักดีต่อ สังคมและระบบ จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ระบบในทางลบ เช่น ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส Tolstroy ก็ดี หรือ Robespierre ก็ดี ล้วนแต่เขียนหนังสือหรือบทความ โจมตี ระบบการปกครองเดิม จนประชาชนส่วนใหญ่ คล้อยตาม ในส่วนนี้ การออกหนังสือ โดย เหมา เจ๋อตุง และโดย พรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยกระทำแบบใต้ดิน ก็เป็นตัวแปรสำคัญ ที่นำไปสู่ การยึดอำนาจรัฐได้ ชนชั้นปัญญาชน หรือนักคิด เป็นชนชั้นที่ปูพื้นทางจิตวิทยา โดยปลุกเร้า ให้ต่อต้านระบบเดิม หันไปสู่การเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างระบบใหม่ ในปัจจุบัน สื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการคงอยู่ของรัฐบาล หรือแม้แต่ระบบ บางครั้ง จะเห็นว่า การต่อสู้ทางการเมืองนั้น เป็นการต่อสู้ผ่านทางสื่อ


5. ก่อนที่จะมี การปฏิวัติเกิดขึ้น ในห้าประเทศดังกล่าวนั้น กลไกรัฐ ในการปกครองบริหาร ทั้งในระบบการเมือง และ ในระบบองค์กรบริหารรัฐ (bureaucracy) ขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผล อย่างเห็นได้ชัด ระบบการเมือง และ ระบบการบริหาร ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้ ไม่สามารถจะบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาทางเศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำ อันเนื่องมาจาก ความไม่สนใจ หรือ เนื่องมาจาก ขาดข่าวสารข้อมูล หรือ หลงมัวเมาในอำนาจ ทั้งหลายทั้งปวง ดังกล่าวนี้ ชี้ให้เห็นว่า เมื่อใดก็ตามที่ ระบบการเมืองและการบริหาร ขาดประสิทธิภาพประสิทธิผล ในการแก้ปัญหาในทางเศรษฐกิจ คือ ความอดอยากและความเหลื่อมล้ำ หรือ การแก้ไขความไม่ยุติธรรม และ ความรู้สึกแปลกแยกจากระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขาดความเข้าใจ อารมณ์ของประชาชน หรือ อารมณ์ทางการเมืองของสังคม ระบบนั้น ก็คงอยู่ไม่ได้


งานศึกษาของ Crane Brinton เกี่ยวกับ การปฏิวัติ มีประโยชน์อย่างยิ่ง ในทางวิชาการ แต่การปฏิวัติ ในลักษณะดังกล่าวนี้ คงไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ในยุคโลกาภิวัตน์ เพราะ มีทางออก และ การบรรเทาปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย แรงเสียดทานและแรงกดดัน ที่จะมีการปฏิวัติ ก็จะลดน้อยลง ที่สำคัญ มนุษย์เรียนรู้ที่จะปรับตัว เป็นต้นว่า ความขัดแย้ง ระหว่างคนสองกลุ่มในระดับบนนั้น ก็อาจจะต้องมีการออมชอม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าระบบเปิดกว้าง ก็สามารถจะสอดแทรกเข้าไปร่วมงานกันได้ เพราะ ระบบที่เปิดกว้างเป็นการปฏิรูปทางผู้นำ หมายความว่า สามารถจะดึงฝ่ายตรงกันข้าม เข้าไปอยู่ในวงอำนาจ ซึ่งต่างจาก การปฏิรูปทางนโยบาย โดยฝ่ายตรงกันข้าม ยังอยู่นอกวงอำนาจ เพราะฉะนั้น ระบบการเมือง ต้องเปิดให้มี การร่วมกันใช้อำนาจ


ขณะเดียวกัน สภาวะทางเศรษฐกิจนั้น ก็อาจทำการแก้ไขได้ง่ายกว่าในอดีต การใช้สื่อมวลชน เพื่อปลุกเร้าให้เกิดทีท่า ต่อระบบ และต่อผู้ใช้อำนาจนั้น ก็อยู่ในข่ายที่สองฝ่ายค่อนข้าง จะเท่าเทียมกัน ปัญหาอยู่ที่ว่า ประชาชนจะเชื่อฝ่ายใด การรณรงค์ผ่านสื่อ จึงเป็นกุญแจสำคัญ จนผู้นำบางคน เช่น แฟรงค์คิน ดี. รุสเวลล์ ใช้วิทยุเป็นเครื่องมือ ที่เรียกว่า fire-side chat และ ริชาร์ด นิกสัน ก็ใช้โทรทัศน์ เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ และที่สำคัญ คือ ชนชั้นปัญญาชน ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แบ่งเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่อยู่ฝ่ายครองอำนาจ ฝ่ายตรงกันข้ามและ ฝ่ายที่เป็นกลาง กรณีกลไกของรัฐนั้น เนื่องจาก มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการมากขึ้น โอกาสการสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง อาจจะบรรเทาลงได้ เพราะ ท้องถิ่น สามารถจัดการเรื่องตัวเองได้ ระดับหนึ่ง ขณะเดียวกัน ระบบการเมือง ก็ทำหน้าที่เป็น วาล์วเครื่องจักรไอน้ำ ที่เปิดให้แรงกดดันไหลออกมาได้ ในรูปของการประท้วง เดินขบวน การต่อรอง ในรูปของ สภาพกลุ่มผลักดัน องค์กร เอกชน
แต่ที่สำคัญ คือ อิทธิพลและแรงกดดัน จากต่างประเทศ ที่ไม่ต้องการเห็น ความวุ่นวายเกิดขึ้น ในสังคมใด ๆ เพราะ จะขัดแย้งกับเสถียรภาพทางการเมืองและการค้า อย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากนี้ ยังมีบรรยากาศของ การส่งเสริมระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย การเคารพสิทธิมนุษยชน การค้าเสรี การรักษาสภาพแวดล้อม และ การเคารพสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อจรรโลงไว้ซึ่งสันติภาพ ฯลฯ ทฤษฎีการปฏิวัติของ Crane Brinton อาจจะเป็นเรื่องของอดีต แต่ประโยชน์ที่ได้จากการศึกษา ก็คือ การใช้ตัวแปรต่าง ๆ เป็นดัชนีประเมินระดับการพัฒนา หรือ การเกิดปัญหาหรือวิกฤต ในสังคมหนึ่ง ๆ ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น