วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

กฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน

กฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน

แนวความคิดเกี่ยวกับระบบกษัตริย์ในสังคมไทย

นับตั้งแต่สุโขทัยเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนั้นเราคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าพระมหากษัตริย์นั้นมีบทบาทต่อการพัฒนาทางสังคมไทย และการดำรงชีวิต ของชาวไทย ไม่มากก็น้อย ซึ่งแนวความคิดที่นำมาสู่ระบบกษัตริย์ไทยนั้นได้เริ่มต้นจากการเผยแพร่พุทธศาสนาจากประเทศอินเดีย ซึ่งในสมัยสุโขทัยนั้นได้มีแนวความคิดที่พระมหากษัตริย์จะยึดหลักของพระพุทธศาสนามาใช้ในการปกครอง โดยเพื่อที่จะบรรลุถึงคำว่า ธรรมราชา ซึ่งคำว่า ธรรมราชา นั้นมีความหมายทั่วไปคือ พระราชาผู้ทรงธรรม ธรรมในที่นี้นั้นคือคำสอนทางศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์ ซึ่งคำสอนศาสนาพุทธได้แก่ ทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร และสังคหวัตถุ ในส่วนของศาสนาพราหมณ์นั้นปรากฏอยู่ในคัมภีร์มานวธรรมศาสตร์ ได้กล่าวว่า

“ป้องกันประชาชน บริจาคทาน บูชายัญ ศึกษา และความผูกพันจากวัตถุแห่งผัสสะ เป็นต้น คือหน้าที่ของกษัตริย์” “ปกป้องราชอาณาจักรโดยความเที่ยงธรรม เป็นหน้าที่ของผู้เป็นกษัตริย์ผู้ศึกษาพระเวท”

ต่อมาในปลายสมัยสุโขทัย ประเทศไทยก็ได้รับอิทธิพลของแนวความคิดเทวราช จากขอม ซึ่งขอมนั้นก็ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียอีกทอดหนึ่ง แนวความคิดแบบเทวราชนั้นเป็นแนวความคิดตามคติความเชื่อของชาวอินเดียที่นับถือศาสนาพราหมณ์ และเป็นแนวความคิดระหว่าง ความเป็นกษัตริย์และการเป็นเทพ มาเชื่อมโยงกัน เพราะ แนวความคิดนี้ยกย่องพระมหากษัตริย์ให้ดำรงฐานะเป็นสมมติเทพ จึงทำให้พระมหากษัตริย์นั้นมีชีวิตความเป็นอยู่ ประเพณี แตกต่างจากคนธรรมดาอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งแนวความคิดนี้ยังส่งผลให้พระมหากษัตริย์นั้นเริ่มมีอำนาจเด็ดขาดมากขึ้น

ต่อมาในสมัยอยุธยา แนวความคิดแบบเทวราชยังมีอยู่ แต่แนวความคิดเดิมแบบพุทธราชก็ยังมีอยู่เช่นกัน พระมหากษัตริย์อยุธยาจึงพยายามที่จะควบคู่ระหว่าง เทวราชและธรรมราชา ซึ่งจะเห็นได้จากการที่พระมหากษัตริย์นั้นยังทรงอยู่ในฐานะเป็นสมมติเทพเช่นเดิม แต่พระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยานั้นก็เริ่มนำแนวความคิดแบบธรรมราช เข้ามาประยุกต์ เช่น การแสดงให้เห็นว่าพระองค์นั้นเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกโดยถือการทำนุบำรุงพุทธศาสนาเป็นหลัก โดยการสร้างวัด เผยแผ่คำสั่งสอนทางพุทธศาสนา การทำเช่นนี้นั้นทำให้เป็นการเสริมสร้างบารมีและความชอบธรรมให้พระมหากษัตริย์ในสมัยนั้นมากยิ่งขึ้นทั้งในด้านการเมืองการปกครองและด้านศาสนา

จนต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้คลายความคิดเรื่องเทวราชลง แต่กลับไปเน้นในธรรมราชามากขึ้น ต่อมาหลังการ ปฏิวัติ 2475 ซึ่งนำพาประเทศไทยไปสู่การปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงทำให้อำนาจหน้าที่เดิมของพระมหากษัตริย์นั้นก็ได้ถูกโอนมาเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ในที่สุด


พระราชสถานะของพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย

แม้ว่าเวลาถึง 70 กว่าปีแล้วที่ประเทศไทยได้ใช้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่พระมหากษัตริย์ของประเทศไทยนั้นยังคงอยู่ในพระราชสถานะที่ได้รับการยกย่อง และเทิดทูนจากคนไทยโดยส่วนใหญ่ มาโดยตลอด ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทั้ง 18 ฉบับ นั้นได้ระบุถึงพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ไทยเอาไว้ทั้งสิ้น 6 พระราชสถานะ คือ


· พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ

· พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะ

· พระมหากษัตริย์ทรงถูกละเมิดมิได้

· พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะและอัครศาสนูปถัมภก

· พระมหากษัตริย์ทรงเป็นจอมทัพไทย

· พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง และเป็นกลางทางการเมือง โดยพระองค์จะไม่ต้องรับผิด ชอบกิจกรรมทางการเมืองใดใดทั้งสิ้น

พระสถานะของพระมหากษัตริย์ไทยนั้นไม่ได้เกิดจากการบัญญัติเป็นรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่การที่พระมหากษัตริย์ไทยนั้นได้รับการยกย่องและเคารพนับถือนั้น เป็นผลจากการขนบธรรมเนียมประเพณีของคนไทยตั้งแต่อดีตกาล อีกทั้งยังได้รับการปลูกฝังแนวคิดเกี่ยวกับกษัตริย์มาโดยตลอด และเหตุผลที่สำคัญที่สุดคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าพระมหากษัตริย์ของไทยโดยมากนั้นทรงพร้อมพรั้งไปด้วยพระบารมี และปรีชาสามารถ อีกทั้งยังอยู่ในทรงดำรงอยู่ในทศพิศราชธรรมอีกด้วย อาจจะกล่าวได้ว่าหากประเทศไทยนั้นขาดพระมหากษัตริย์ไปก็เท่ากับว่า ประเทศไทยก็สุญเสียวัฒนธรรมที่เลอค่าของประเทศไทยไป หากขาดพระมหากษัตริย์ประเทศไทยก็คงจะตกอยู่ในอาณานิคมของชาติตะวันตก ดังนั้นพระมหากษัตริย์ไทยไม่เพียงแต่ไม่ถูกล้มล้าง แต่ยังได้รับการเคารพยกย่อง จากใจของคนไทยทั่วประเทศอีกด้วย

วิวัฒนาการของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของราชอาณาจักรไทย

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (Lèse Majesté Laws) ซึ่ง มีความหมายว่า กฎหมาย หรือข้อบังคับ ที่เกี่ยวข้องกับการเอาผิดต่อการทำความผิดฐานล่วงละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นการกระทำผิดต่อพระเกียรติของพระมหากษัตริย์

แม้ว่าสังคมไทยในอดีตนั้นมีการเคารพและเทิดทูนพระมหากษัตริย์ แต่ก็ไม่มีการบัญญัติ ขึ้นมาเป็นกฎหมาย จนกระทั่ง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ประชาชนนั้นมักติพระองค์ว่าพระองค์ทรงชรา จนทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ได้ทรงออก “ประกาศห้ามมิให้กราบบังคมทูลทัก อ้วน ผอม ดำขาว” ในปี พ.ศ. 2395

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ก็ได้ทรงตรา “พระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาท ร.ศ.118” ในปี พ.ศ.2442 ซึ่งเป็นการกำหนดโทษของผู้ที่มีการกระทำลักษณะที่หมิ่นประมาทด้วยการพูดหรือเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาต่อพระมหากษัตริย์ โดยมีใจความว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาทพระผู้เป็นเจ้าซึ่งดำรงสยามรัฐมณฑล กระษัตราธิราชเจ้า โดยกล่าวเจรจาด้วยปาก ฤาเขียนด้วยลายลักษณอักษร ฤากระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในที่เปิดเผย เมื่อพิจารณาเปนสัตย์ว่า ผู้นั้นกระทำผิดต่อข้อห้ามดังเช่นกล่าวมานี้แล้ว ก็ให้จำคุกไว้ไม่เกินกว่า 3 ปี ฤาให้ปรับเปนเงินไม่เกินกว่า1,500 บาท ฤาทั้งจำคุกและปรับด้วย”

และในปี พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงยกเลิกพระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาท รศ.118 และได้ทรงตราใน “กฎหมายลักษณะอาญา รศ. 127” แทนซึ่งอยู่ในมาตราที่ 98 และ 100 มีใจความว่า

* มาตรา 98 : “ผู้ใดทนงองอาจ แสดงความอาฆาฏมาดร้าย หรือหมิ่นประมาทต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระมเหษีก็ดีมกุฏราชกุมารก็ดี ต่อผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในเวลารักษาราชการต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ท่านว่าโทษของมันถึงจำคุกไม่เกินกว่า 7 ปี แลให้ปรับไม่เกินกว่า 5,000 บาทด้วยอีกโสดหนึ่ง”

* มาตรา 100 : “ผู้ใดทะนงองอาจ แสดงความอาฆาตมาดร้าย หรือหมิ่นประมาทต่อพระราชโอรส พระราชธิดา ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ว่ารัชชกาลหนึ่งรัชชกาลใด ท่านว่าโทษของมันถึงจำคุกไม่เกินกว่า 3 ปี และให้ปรับไม่เกินกว่า 2,000 บาทด้วยอีกโสตหนึ่ง”

ต่อมาจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ยกเลิก กฎหมายลักษณะอาญา รศ. 127 แต่ก็ได้นำกฎหมายหมิ่น

พระบรมเดชานุภาพนั้นไปรวมอยู่ใน ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 โดยมาตรา 112 บัญญัติว่า
“ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี”

ต่อมา พ.ศ. 2519 พล ร.อ. สงัด ชลออยู่ (นายกรัฐมนตรี) ออกประกาศ “คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41” เมื่อวันที่21 ตุลาคม 2519 โดยข้อ 1 ระบุให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.. 2499 มาตรา 112 เป็น “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี” ซึ่งเป็นมาตราเดียวกับที่ใช้ในปัจจุบันนี้

กฎหมายที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของพระมหากษัตริย์ แห่งราชอาณาจักรไทย

รัฐธรรมนูญ
มาตรา 8 องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้

ประมวลกฎหมายอาญา

หมวด 1 ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

มาตรา 107 ผู้ใดปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษ ประหารชีวิต ผู้ใดพยายามกระทำการเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน ผู้ใดกระทำการใดอันเป็นการตระเตรียมเพื่อปลงพระชนม์พระ มหากษัตริย์หรือรู้ว่ามีผู้จะปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ กระทำ การใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต

มาตรา 108 ผู้ใดกระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพ ของพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ผู้ใดพยายามกระทำการเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

ถ้าการกระทำนั้นมีลักษณะอันน่าจะเป็นอันตรายแก่พระชนม์ ผู้ กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต

ผู้ใดกระทำการใดอันเป็นการตระเตรียมเพื่อประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระมหากษัตริย์ หรือรู้ว่ามีผู้จะกระทำการประทุษร้าย ต่อพระองค์หรือเสรีภาพของพระมหากษัตริย์ กระทำการใดอันเป็น การช่วยปกปิดไว้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบหกปีถึงยี่สิบปี

มาตรา 109 ผู้ใดปลงพระชนม์พระราชินีหรือรัชทายาท หรือฆ่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษประหารชีวิตผู้ใดพยายามกระทำการเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

ผู้ใดกระทำการใดอันเป็นการตระเตรียมเพื่อปลงพระชนม์ พระราชินีหรือรัชทายาท หรือเพื่อฆ่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือรู้ว่ามีผู้จะปลงพระชนม์พระราชินีหรือรัชทายาท หรือจะฆ่าผู้ สำเร็จราชการแทนพระองค์ กระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบสองปีถึงยี่สิบปี

มาตรา 110 ผู้ใดกระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพ ของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้ สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือ จำคุกตั้งแต่สิบหกปีถึงยี่สิบปี ผู้ใดพยายามกระทำการเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

ถ้าการกระทำนั้นมีลักษณะอันน่าจะเป็นอันตรายแก่พระชนม์หรือ ชีวิต ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ผู้ใดกระทำการใดอันเป็นการตระเตรียมเพื่อประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือต่อร่างกายหรือ เสรีภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือรู้ว่ามีผู้จะประทุษร้าย ต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือ ประทุษร้ายต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ สิบสองปีถึงยี่สิบปี

มาตรา 111 ผู้ใดเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดตาม มาตรา 107 ถึง มาตรา 110 ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น

มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี

**** หมายเหตุมาตรา 112 แก้ไขโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ***

หมวด 4 ความผิดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ

มาตรา 130 ผู้ใดทำร้ายร่างกายหรือประทุษร้ายต่อเสรีภาพของ ราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาทหรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ ซึ่งมีสัมพันธไมตรี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี

ผู้ใดพยายามกระทำการเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

มาตรา 131 ผู้ใดทำร้ายร่างกาย หรือประทุษร้ายต่อเสรีภาพของ ผู้แทนรัฐต่างประเทศ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มาสู่พระราชสำนักต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินสิบปี

ผู้ใดพยายามกระทำการเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

มาตรา 132 ผู้ใดฆ่าหรือพยายามฆ่าบุคคลหนึ่งบุคคลใด ดังระบุ ไว้ใน มาตรา 130 หรือ มาตรา 131 ต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือ จำคุกตลอดชีวิต

มาตรา 133 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงอาฆาตมาดร้ายราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 134 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายผู้แทนรัฐต่างประเทศซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มาสู่พระราชสำนัก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาท ถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 135 ผู้ใดกระทำการใด ๆ ต่อธงหรือเครื่องหมายอื่นใด อันมีความหมายถึงรัฐต่างประเทศซึ่งมีสัมพันธไมตรี เพื่อเหยียดหยามรัฐนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพขัดต่อหลักประชาธิปไตยหรือไม่

หลักการด้านอำนาจอธิปไตย

ตามหลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยนั้นเป็นของปวงชน เพราะการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ผู้มีอำนาจสูงสุด เป็นของประชาชนทุกคนร่วมกัน และประชาชนนั้นจะเป็นผู้ใช้อำนาจนี้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยพื้นฐาน ประชาชนจะใช้อำนาจอธิปไตยกำหนด ถอดถอน ผู้ปกครองของตนเอง โดยการตัดสินโดยเสียงข้างมาก แต่ก็เคารพเสียงข้างน้อยด้วย

โดยเมื่อนำกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาเปรียบเทียบกับหลักการประชาธิปไตยด้านอำนาจอธิปไตย จะเห็นได้ว่าการมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็ไม่ได้ทำให้ประชาชนมีอำนาจอธิปไตยลดน้อยลงแต่อย่างใด เพราะพระมหากษัตริย์ไทยนั้นไม่ได้ทรงมีอำนาจอธิปไตยมากกว่าประชาชนคนอื่นคนใด แต่เนื่องจากท่านดำรงอยู่ในฐานะประมุขแห่งรัฐ จึงทำให้พระองค์ดูราวกับว่าพระองค์ทรงมีอำนาจอธิปไตยเหนือประชาชนคนอื่น

หลักการด้านสิทธิและเสรีภาพ

มีหลายคนออกมาแสดงความคิดเห็นต่อ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ว่าค่อนข้างเป็นเผด็จการซึ่งขัดต่อหลักสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เพราะตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาราจักรไทย มาตรา 39

บุคคล ย่อมมี เสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และ การสื่อความหมาย โดยวิธีอื่น
การจำกัดเสรีภาพ ตาม วรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้ เว้นแต่ โดยอาศัยอำนาจ ตามบทบัญญัติ แห่งกฎหมายเฉพาะ เพื่อรักษาความมั่นคง ของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือ ความเป็นอยู่ส่วนตัว ของ บุคคลอื่น เพื่อรักษา ความสงบเรียบร้อย หรือ ศีลธรรมอันดี ของ ประชาชน หรือ เพื่อป้องกัน หรือ ระงับ ความเสื่อมทราม ทางจิตใจ หรือ สุขภาพ ของ ประชาชน
การสั่งปิดโรงพิมพ์ สถานีวิทยุกระจายเสียง หรือ สถานีวิทยุโทรทัศน์ เพื่อลิดรอนเสรีภาพ ตาม มาตรานี้ จะกระทำมิได้
การให้นำข่าว หรือ บทความ ไปให้เจ้าหน้าที่ ตรวจ ก่อนนำไปโฆษณา ในหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง หรือ วิทยุโทรทัศน์ จะกระทำมิได้ เว้นแต่ จะกระทำ ในระหว่างเวลาที่ ประเทศอยู่ใน ภาวะการสงคราม หรือ การรบ แต่ทั้งนี้ จะต้องกระทำ โดยอาศัยอำนาจ ตามบทบัญญัติ แห่งกฎหมาย ซึ่ง ได้ตราขึ้น ตาม ความในวรรคสอง
เจ้าของ กิจการหนังสือพิมพ์ หรือ สื่อมวลชนอื่น ต้องเป็น บุคคล สัญชาติไทย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
การให้เงิน หรือ ทรัพย์สิน อย่างอื่น อุดหนุน หนังสือพิมพ์ หรือ สื่อมวลชนอื่น ของเอกชน รัฐ จะกระทำ มิได้ ได้ให้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นแก่ประชาชน แต่พอมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเข้ามา เขาก็ไม่สามารถที่จะแสดงความคิดเห้นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ เขาจึงเห็นว่ามันขัดต่อหลักการข้อนี้ แต่ก่อนที่เราจะมาตัดสินว่าจัดต่อหลักการข้อนี้หรือไม่ ก่อนอื่นจะต้องมาดูความหมายของคำว่า สิทธิและเสรีภาพของนักคิดชาวตะวันตกกันก่อน

เจเรมี่ เบนธัม (Jeremy Bentham 1748-1832) เจเรมี่ เบนธัม เป็นนักปรัชญา และนักปฎิรูปกฏหมายชาวอังกฤษ ซึ่งเขามีความความคิดทางด้านประโยชน์นิยมซึ่งส่งผลให้เขาไม่ยอมรับสิทธิขั้นพื้นฐาน เขาเชื่อว่าสิทธิและหน้าที่ทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาในแต่ละกาลเทศะ สิทธิในทรรศนะของเขาหมายถึงหน้าที่ที่ผูกพันร่วมกันและการมีอยู่แห่งอำนาจที่สามารถบังคับสิทธิได้ด้วยการบังคับลงโทษในกรณีที่เกิดการฝ่าฝืน

โธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes 1588-1679) ฮอบส์ ได้ตั้งสมมุติฐานเกี่ยวกับมนุษย์โดยเขาเชื่อว่า “ธรรมชาติได้สร้างมนุษย์ขึ้นมามีความเท่าเทียมกันทั้งด้านร่างกายและจิตใจ1” ซึ่งความเท่าเทียมกันด้านร่างกายนั้นฮอบส์หมายถึง การที่ทุกคนมีความสามารถที่เท่าเทียมกันที่จะกระทำบางสิ่งบางอย่างต่อกันได้ไม่ว่าผู้นั้นจะมีความสามารถมากน้อยเพียงใด หากมีความสามารถน้อยก็สามารถที่จะใช้วิธีการอื่นเพื่อที่จะทำให้ตนเองสามารถเอาชนะได้ ส่วนทางด้านจิตใจ คือ ทุกคนนั้นเมื่อเกิดมาล้วนมีจิตใจที่เหมือนกัน แต่หลังจากนั้นก็ได้เรียนรู้จากธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม จนทำให้เกิดความต่างกันของจิตใจ จะเห็นได้ว่าความเท่าเทียมทั้งสองนั้นนำไปสู่ แนวความคิดของสิทธิธรรมชาติ ฮอบส์คิดว่าทุกคนนั้นมีสิทธิธรรมชาติ ซึ่งก็คือ การกระทำการอะไรก็ตามเพื่อป้องกันรักษาความปลอดภัย และการมีชีวิตอยู่นั้นเป็นสิทธิที่แต่ละคนสามารถทำได้

จอห์น ล็อค (John Locke 1632-1704) ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งลัทธิเสรีนิยม ล๊อคได้กล่าวเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพใน the Second Treatise ว่า “สภาวะธรรมชาติเป็นสภาวะของเสรีภาพ แต่ไม่ได้เป็นสภาวะของความเป็นอิสระที่จะประพฤติโดยปราศจากการยับยั้ง...เพราะ...สภาวะธรรมชาติมีกฎของธรรมชาติมาควบคุม ซึ่งบอกให้ทุกคนทำตามหน้าที่ คือเหตุผลซึ่งกฎธรรมชาติสอนมนุษย์ทั้งหมดให้มาขอคำแนะนำ ที่ว่าคนทั้งหมดเท่าเทียมและเป็นอิสระจากการควบคุม ไม่ควรมีใครทำอันตรายคนอื่นในชีวิต สุขภาพ เสรีภาพ หรือการเป็นเจ้าของเรา” ซึ่งสรุปความหมายของสิทธิเสรีภาพของล๊อคได้ว่า มนุษย์ทุกคนนั้นต่างมีความเสมอภาคและลิทธิเหนือตน แต่ไม่ใช่ว่าจะทำอะไรก็ได้ เพราะล๊อคคิดว่าสภาวะธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนต่างก็มีสิทธิตามธรรมชาติ รวมทั้งความเท่าเทียมกัน ที่มีอยู่มาตั้งแต่กำเนิด ทุกคนจึงไม่มีสิทธิใดที่จะละเมิดสิทธิของผู้อื่น

อิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant 1724-1804) เป็นศาสตราจารย์ชาวเยอร์มัน คานท์นั้นเป็นคนที่มีความหลงใหลในเสรีภาพเป็นอย่างมาก เสรีภาพตามทรรศนะของคานท์ ก็คือ การเชื่อฟังกฎหมายที่สร้างบนพื้นฐานของเหตุผล ซึ่งกฎหมายนั้นจะทำให้เกิดเสรีภาพและอิสรภาพแก่บุคคลได้ ส่วนสิทธินั้นคานท์เน้นถึงสิทธิและหน้าที่ของคนว่า สิทธิในเสรีภาพและความเสมอภาค เป็นสิทธิที่อยู่เหนือเหตุผล แต่การมีสิทธิไม่ได้หมายถึงการทำตามอำเภอใจโดยไม่คำนึงผลกระทบต่อผู้อื่น สิทธิทุกอย่างนั้นย่อมหมายถึงการรับผิดชอบต่อหน้าที่ โดยคานท์จะเน้นหน้าที่มากกว่าสิทธิ

จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill 1806-1873) มิลล์เป็นนักปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์ และนักการเมืองชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นคนที่มีศรัทธาลึกซึ้งต่อแนวทางเสรีภาพส่วนบุคคล โดยผลงานที่โดดเด่นที่สุดก็คือ On Liberty มิลล์เป็นนักปกป้องเสรีภาพตัวยง เขาเห็นว่า มนุษย์มีเสรีภาพทำได้ทุกอย่างตราบเท่าที่การกระทำนั้นไม่ทำร้ายหรือให้ร้ายผู้อื่น และมนุษย์นั้นมีเสรีภาพที่จะกระทำการอันใดเพื่อปกป้องตนเองต้องอาศัยกฎหมาย ส่วนเสรีภาพทางความคิดต่อการแสดงความคิดเห็นนั้นมิลล์คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และเสรีภาพนั้นจะเป็นหัวใจของความเป็นมนุษย์ ดังนั้นรัฐจึงไม่ควรแทรกแซงเสรีภาพประชาชน

มองเตสกิเออ (Montesquieu 1689-1755) เป็นนักกฎหมายชาวฝรั่งเศส ซึ่งเขาได้เขียนหนังสือหลากหลายเล่ม แต่ หนังสือเล่มที่สามนั้นถือได้ว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญ คือ The Spirit of law หรือ เจตนารมณ์ของกฎหมายซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเสรีภาพว่า บุคคลพึงมีเสรีภาพตามกฎหมาย เสรีภาพทางการเมืองเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนมี และผู้ใดจะละเมิดมิได้ มองเตสกิเออ เห็นว่า เสรีภาพ คือสิ่งที่คนเราสามารถจะทำในสิ่งที่ตนต้องการ และไม่บังคับทำในสิ่งที่ไม่ต้องการ โดยมีกฎหมายเป็นตัวกำหนด ส่วนความเท่าเทียมกันนั้น มองเตสกิเออได้มีแนวคิดว่า รัฐที่เป็นประชาธิปไตยนั้นต้องเคารพต่อความเสมอภาคของประชาชน หากประชาชนนั้นเกิดความไม่เท่าเทียมโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจก็จะเกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม แต่มองเตสกิเออไม่ได้หมายว่าทุกคนจะมีความเท่าเทียมกันทุกเรื่อง แต่เขาเพียงแค่เสนอให้กฎหมายนั้นเป็นตัวกำหนดและควบคุมความไม่เสมอภาคของประชาชนไว้

ชอง ชากส์ รุสโซ (Jean-Jacque Rousseau 1712-1778) เป็นนักปรัชญาทางการเมืองที่มีชื่อเสียงในคริสต์ศตวรรษ ที่ 18 มีผลงานชิ้นสำคัญ คือ Social Contract หรือสัญญาประชาคม ซึ่งมีประโยคเริ่มต้นว่า “มนุษย์นั้นเกิดมากับเสรีภาพ แต่เขาได้ถูกพันธนาการไว้” (Man is born free and anywhere he is chain)

ซึ่งเขามีความคิดว่า สังคมนั้นทำให้มนุษย์ถูกกดขี่ และถูกลิดรอนเสรีภาพ เพราะเขาคิดว่าชนชั้นที่มีทรัพย์สินเหนือกว่าจะมีอำนาจที่เหนือกว่า จนทำให้มนุษย์นั้นได้ถูกพันธนาการจากผู้ที่เหนือกว่าในสังคม แต่สังคมก็จะสามารถให้เสรีภาพแก่สมาชิกได้คือการสร้างกฎร่วมกันโดยอยู่เป็นพื้นฐานของ เจตจำนงทั่วไป ซึ่งธรรมชาติของมนุษย์นั้นรักเสรีภาพ เขาจึงเรียกร้องให้มนุษย์กลับสู่ธรรมชาติ รุสโซยังถือว่าการสุญเสียความเท่าเทียม และเสรีภาพ นั้นเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดเพราะการขาดสิ่งดังกล่าวมนุษย์นั้นก็ไม่ต่างอะไรจากสัตว์เดรัจฉานหรือทาส อีกด้วย

ยอร์ช เฟเดอริค เฮเกล (G.W.F Hegel 1770-1831) เฮเกลเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และข้ารัฐการรัฐปรัสเซีย เฮเกลคิดว่าอิสรภาพคือเสรีภาพที่จะทำในสิ่งที่ควรทำ ส่วนเสรีภาพคือ ความจำเป็นในการยอมรับเสรีภาพ และเป็นการแสดงออกถึงความเป็นปัจเจก

ฮาโรลด์ เจ. ลาสคี (Harold J. Laski 1893-1950) ลาสคีนั้นเป็นนักการเมือง และนักปรัชญาทางการเมือง ซึ่งเขาได้มีแนวความคิดที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพเป็นจำนวนมาก ลาสคีมองว่าเสรีภาพนั้นก็คือผลของสิทธิ และสิทธิก็คือเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการยอมรับตอนเองว่าดีที่สุดของบุคคล เสรีภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดสิทธิ เพราะฉะนั้นเสรีภาพจึงหมายถึงการยอมรับถึงความต้องการอย่างมีขอบเขตที่คนเราจะให้ตนเองได้รับโอกาสที่ดีที่สุด เสรีภาพนั้นไม่ใช่เสรีภาพอย่างไรขอบเขต ไม่ใช่เป็นไปเพื่อที่จะทำลาย ดังนั้นเสรีภาพจึงต้องอยู่ในขอบเขตของสิทธิ อีกนัยหนึ่งนั้น เสรีภาพคือการเคารพต่อกฎหมาย

จากการศึกษาคำว่าสิทธิ และเสรีภาพจากนักปรัชญาในอดีต ผมจึงขอสรุปคำว่าสิทธิ และเสรีภาพโดยรวมว่า สิทธิและเสรีภาพ นั้นหมายถึง การกระทำใดๆก็ได้ที่ตนอยากทำ แต่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย และการเคารพต่อสิทธิ และเสรีภาพของผู้อื่นโดยไม่กระทำการใดๆซึ่งทำร้าย หรือละเมิดต่อสิทธิของผู้อื่น โดยรัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงจะมีคือ

1. สิทธิเท่าเทียมกันของชายและหญิง
2. สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายโดยเท่าเทียมกัน
3. สิทธิทางการเมือง ประชาชนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น การเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง
4. สิทธิในทรัพย์สิน ประชาชนชาวไทยมีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินส่วนบุคคลได้
5. สิทธิในครอบครัว ประชาชนจะได้รับการคุ้มครองจากรัฐในการดำรงชีวิตในครอบครัว
6. สิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ เมื่อได้รับความไม่เป็นธรรม
7. สิทธิในการรับการศึกษาขั้นมูลฐาน
8. สิทธิที่จะฟ้องหน่วยราชการ เมื่อเห็นเจ้าพนักงานของหน่วยราชการทำ ไม่ถูกต้อง
และเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมีคือ
1. เสรีภาพในการนับถือศาสนา
2. เสรีภาพในการประกอบอาชีพ
3. เสรีภาพในการพูด การเขียน การพิมพ์และโฆษณา
4. เสรีภาพในการเดินทางและเลือกที่อยู่อาศัย
5. เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
6. เสรีภาพในการศึกษา
7. เสรีภาพในร่างกาย
8. เสรีภาพในการตั้งพรรคการเมือง

การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติสิทธิและเสรีภาพประกัน สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชน การมีสิทธิเสรีภาพดังกล่าวมิได้แสดงว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะทำอะไรก็ได้ เพราะหากทุกคนคิดว่าตนมีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ สิ่งที่จะตามมาก็คือ กฎหมายทุกฉบับไม่สามารถที่จะนำมาบังคับได้ จนนำไปสู่ สังคมจะกลายเป็นอนาธิปไตย และทำให้สังคมความวุ่นวายขึ้นในที่สุด ดังนั้น รัฐจึงจำเป็นที่จะต้องจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนบางประการ โดยสาเหตุสำคัญ 4 ประการที่รัฐจะจำเป็นต้องจำกัดมีดังนี้

1. การรักษาความมั่นคงของชาติ ป้องกันมิให้การใช้สิทธิของประชาชนกระทบกระเทือนต่อสถาบันชาติ

ศาสนาและพระมหากษัตริย์
2. การรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง หรือศีลธรรมอันดีงามของประชาชน ป้องกันมิให้มีการปลุกปั่นยุยงให้ประชาชนเกิดความตื่นกลัว หรือก่อความไม่สงบ หรือเผยแพร่สิ่งตีพิมพ์อนาจาร เป็นต้น
3. การป้องกันมิให้ประชาชนละเมิดสิทธิซึ่งกันและกัน เช่นการรุกล้ำอาคารสถานที่ การใช้เสียงดังเกินควร และการปล่อยเขม่าควันฝุ่นละออง ของโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
4. การสนับสนุนให้รัฐสามารถปฏิบัติงานได้โดยสะดวก เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมและความเป็นธรรมในสังคม เช่น เมื่อเกิดสงคราม รัฐจะจำกัดสิทธิของประชาชน โดยห้ามออกนอกบ้านเป็นบางเวลาหรือการเวนคืนที่ดินของประชาชนมาสร้างถนนหรือทางด่วน เป็นต้น

เมื่อนำความหมายของคำว่าสิทธิและเสรีภาพมาเปรียบเทียบกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้วจะเห็นได้ว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นเป็นการบัญญัติไว้เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขแห่งรัฐ เพราะพระมหากษัตริย์ก็ทรงมีสิทธิและเสรีภาพของพระองค์เช่นเดียวกับประชาชนธรรมดา หากประชาชนทั่วไปถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพ ผู้ที่ละเมิดนั้นก็ต้องมีความผิด เพราะทุกคนต่างมีสิทธิและเสรีภาพของตน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 28 ที่มีใจความว่า บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่เนื่องด้วยพระมหากษัตริย์ไทยนั้นทรงดำรงอยู่ในฐานะที่สูงกว่าคนทั่วไป ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตราที่ 2 มีใจความว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นั้นแสดงให้เห็นถึงฐานะของพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ ดังนั้นการปกป้องเกียรติ และศักดิ์ศรีของพระมหากษัตริย์นั้นก็เป็นเช่นเดียวกับการปกป้องเกียรติภูมิและความมั่นคงของรัฐด้วย จึงไม่แปลกที่ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตราที่ 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี จะรุนแรงและเฉียบขาดกว่าการดูหมิ่นประชาชนทั่วไป ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 ผู้ใด ดูหมิ่น ผู้อื่น ซึ่งหน้า หรือ ด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน หนึ่งเดือน หรือ ปรับไม่เกิน หนึ่งพันบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

หลักการด้านความเสมอภาค

ก่อนที่จะนำหลักการด้านความเสมอภาคมาเปรียบเทียบ เราจะต้องเข้าใจและทราบถึงความหมายของคำว่า ความ

เสมอภาคกันก่อน“ความเสมอภาค” หมายถึง การที่ประชาชนทุกคน มีความเท่าเทียมกัน และทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน โดยหลักการที่ว่าด้วยความเสมอภาคนั้นจึงเป็นหลักการที่ว่ารัฐจะต้องเป็นหลักประกันให้แก่ประชาชนทุกคนโดยที่ทุคนนั้นจะต้องได้รับเท่าเทียมกัน โดยไม่นำข้อจำกัดทาง ศาสนา ฐานะ รูปร่างหน้าตา สีผิว เพศ มาใช้ ความเสมอภาคขั้นพื้นฐานของประชาชน มี ความเสมอภาคของผู้เลือกตั้ง ความเสมอภาคทางกฎหมาย ความเสมอภาคทางสังคม ความเสมอภาคทางโอกาส ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

มีบางกลุ่มเช่นเดียวกันได้กล่าวว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นขัดต่อด้านความเสมอภาคด้วย เพราะหากเสมอภาคเหตุใดโทษของการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์จึงโทษหนักกว่าโทษของการดูหมิ่นประชาชนทั่วไป ก่อนที่เราจะได้รู้ถึงคำตอบต้องมาดูถึงภูมิหลัง ทางสังคมและวัฒนธรรม ว่านับตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ราว 600กว่าปี ประเทศไทยได้ถูกปกครองโดยกษัตริย์มาโดยตลอด จากนั้นจึงกลายมาเป็นประชาธิปไตย จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวความคิดเทวสิทธิกษัตริย์ นี้ยังคงมีอยู่กับประชาชนปัจจุบัน และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันยังทรงครองพระองค์อยู่ในทศพิธราชธรรม ประชาชนไทยจึงให้ความสำคัญกับความเป็นกษัตริย์เป็นอย่างมาก

จะเห็นได้ว่า สังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้ได้ให้พระมหากษัตริย์นั้นดำรงอยู่ในฐานะที่สูงกว่าคนทั่วไป อีกทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตราที่ 2 มีใจความว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นั้นแสดงให้เห็นถึงฐานะของพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ ดังนั้นการปกป้องเกียรติ และศักดิ์ศรีของพระมหากษัตริย์นั้นก็เป็นเช่นเดียวกับการปกป้องเกียรติภูมิและความมั่นคงของรัฐด้วย การยกระดับประมุขแห่งรัฐ ให้เหนือกว่าประชาชนทั่วไป นั้นไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ในต่างประเทศที่ปกครองโดยระบอบราชาธิปไตย นั้นก็มีเนื้อหาในลักษณะที่ยกพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ว่าพระมหากษัตริย์นั้นทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ และที่เคารพสักการะ อีกทั้งจะล่วงละเมิดมิได้ เช่นเดียวกับประเทศไทย

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรนอร์เวย์ ปี 1814 มาตรา 5 บัญญัติไว้ว่า The King’s person is

sacred; he cannot be censured or accused. The responsibility rests with his Council. (องค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะ และจะถูกกล่าวหาหรือตรวจสอบมิได้)

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรเดนมาร์ก ปี 1953 มาตรา 13 บัญญัติไว้ว่า The King shall not be

answerable for his actions ;his person shall be sacrosanct. The Ministers shall be responsible for the conduct of government; their responsibility shall be defined by statute. (พระมหากษัตริย์ไม่ต้องทรงรับผิดชอบจากการกระทำ องค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของรัฐบาลนั้นความรับผิดชอบของพวกเขาจะถูกกำหนดโดยพระราชบัญญัติ)

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรเบลเยี่ยม ปี 1970 มาตรา 88 บัญญัติไว้ว่า The King’s person is

inviolable; his ministers are accountable. (องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานอันละเมิดมิได้ รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบแทนพระมหากษัตริย์)

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสเปน มาตรา 56 (3) บัญญัติไว้ว่า King is inviolable and shall

not be held accountable. His acts shall always be countersigned in the manner established in Article 64. (องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันละเมิดมิได้ และไม่ต้องทรงรับผิดชอบใดๆ ทางการเมือง)

- รัฐธรรมนูญแห่งราชรัฐลักเซมเบิร์ก มาตรา 4 บัญญัติไว้ว่า La personne du Grand-Duc est

inviolable. (องค์แกรนด์ดยุกทรงดำรงอยู่ในฐานะอันละเมิดมิได้)

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักภูฎาน มาตรา 2 (3) บัญญัติไว้ว่า 3. The title to the Golden

Throne of Bhutan shall vest in the legitimate descendants of Druk Gyalpo Ugyen Wangchuck asenshrined in the inviolable. (ราชบัลลังก์ของภูฏานจะมอบให้รัชทายาทที่ถูกต้องตามกฎหมายของพระเจ้า Druk Gyalpo Ugyen Wangchuck ซึ่งอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพไม่สามารถที่จะล่วงละเมิดได้)

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรฮัชไมด์จอร์แดน มาตรา 30 บัญญัติไว้ว่า The King is the Head

of the State and is immune from any liability and responsibility. (พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐและได้รับการยกเว้นจากความผิดและความรับผิดชอบใดๆ)

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา มาตรา 7 บัญญัติไว้ว่า The King of Cambodia shall

reign but shall not govern. The King shall be the Head of State for life. The King shall be inviolable.

(พระมหากษัตริย์ครองราชย์สมบัติ แต่ไม่ทรงยุ่งเกี่ยวทางการเมือง พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ และพระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพ และจะถูกล่วงละเมิดมิได้

- รัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่น มาตรา 1 The Emperor shall be the symbol of the State and the unity of

the people, deriving his position from the will of the people with whom resides sovereign power.

(องค์สมเด็จพระจักรพรรดิทรงเป็นเครื่องแสดงแห่งรัฐ และความสามัคคีของคนในรัฐ ตำแหน่งของพระองค์ได้มาจากประชาชน และผู้ใช้อำนาจอธิปไตย)

- รัฐธรรมนูญแห่งมาเลเซีย มาตรา 32(1) There shall be a Supreme Head of the Federation, to be

called the Yang di-Pertuan Agong, who shall take precedence over all persons in the Federation and shall not be liable to any proceedings whatsoever in any court. ( ให้เรียกผู้นำสูงสุดว่า ยังดี-เปอร์ตวน อากง ซึ่งเป็นผู้ที่มีฐานะสูงสูงกว่าบุคคลในสมาพันธรัฐทุกคน และไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำใดใด)

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรเลโซโธ มาตรา 44 (1) There shall be a King of Lesotho who

shall be a constitutional monarch and Head of State. ( พระมหากษัตริย์แห่งเลโซโธ นั้นเป็นประมุขของราชอาณาจักร เลโซโธ ที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข)

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักสวาซีแลนด์ มาตรา 4 (1) King ( iNgwenyama )of Swaziland

is an hereditary Head of State and shall have such official name as shall be designated on the occasion of his accession to the Throne. (พระมหากษัตริย์แห่งสวาซีแลนด์ เป็นประมุขแห่งรัฐ โดยสืบสายมาจากบรรพบุรุษ และ ต้องมีชื่ออย่างเป็นทางการ หลังจากได้รับการแต่งตั้งให้ครองราชย์สมบัติ)

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสวีเดน มาตรา 7 The King cannot be prosecuted for his

actions. Neither can a Regent be prosecuted for his actions as Head of State. (พระมหากษัตริย์ นั้นไม่สามารถถูกฟ้องร้องจากการกระทำของพระองค์ และผู้สำเร็จราชการก็เช่นเดียวกับประมุขแห่งรัฐ)

หรือแม้แต่บางประเทศในประมวลกฎหมายอาญาก็ยังมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเหมือนไทยเช่นเดียวกัน อาทิเช่น

ประมวลกฎหมายอาญา ของประเทศนอร์เวย์

101. Any person who commits violence or any other assault against the King or the Regent, or is accessory thereto, shall be liable to imprisonment for a term of not less than two years. If serious injury to body or health is caused or attempted, imprisonment for a term not exceeding 21 years may be imposed.

Any person who defames the King or the Regent shall be liable to detention or imprisonment for a term not exceeding five years.

ผู้กระทำความผิดฐานใช้ความรุนแรงหรือทำร้ายร่างกายอื่นๆต่อกษัตริย์หรือผู้สำเร็จราชการหรือรัชทายาทจะต้องรับผิดชอบต่อการจำคุกในระยะไม่น้อยกว่าสองปี ถ้าบาดเจ็บสาหัสกายหรือสุขภาพ, มีโทษจำคุกในระยะไม่เกิน 21 ปี

ผู้ ใส่ร้ายป้ายสีทำให้เสื่อมเสีย ต่อกษัตริย์หรือผู้สำเร็จราชการจะต้องรับผิดชอบต่อการกักกันหรือจำคุกสำหรับคำไม่เกินห้าปี

ประมวลกฎหมายอาญา ของประเทศเนเธอร์แลนด์

Article 111: Intentional insulting of The King is prosecutable with a detention of maximum 5 years and/or a monetary fine of the fourth category.

Article 112: Intentional insulting of the spouse of The King, the Heir Apparent and the spouse of the Heir Apparent is prosecutable with a detention of maximum 4 years and/or a monetary fine of the fourth category.

Article 113: He who openly distributes written or imagined contents in which an insult is made of The King, the spouse of The King, the Heir Apparent, the spouse of the Heir Apparent or the Regent, or has these in stock and is aware of the insulting content of it, is prosecutable with a detention of maximum 1 year and/or a monetary fine of the third category.

มาตรา 111: การเจตนาดูหมิ่นดูแคลนพระมหากษัตริย์นั้นจะได้รับโทษ กักขังสูงสุด 5 ปีและหรือปรับเป็นเงินในชนิดที่สี่.

มาตรา 112: การเจตนาดูหมิ่นดูแคลนพระราชินี รัชทายาทและคู่สมรสของรัชทายาทมีโทษ กักขังสูงสุด 4 ปีและหรือปรับเป็นเงินในชนิดที่สี่.

มาตรา113: ผู้เขียน ผู้เปิดเผย หรือจำหน่าย สิ่งที่มีเนื้อหาที่ดูถูก ดูแคลน แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและคู่สมรสของรัชทายาท หรือผู้ที่มีในครอบครอง และมีส่วนในการกระทำเหล่านี้มีโทษ กักขังสูงสุด 1 ปีและหรือปรับเป็นเงินในชนิดที่สาม.

ด้วยเหตุนี้จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นไม่ขัดต่อหลักความเสมอภาค เลยแม้แต่น้อย

จากการเปรียบเทียบข้างต้น จะเห็นได้ว่ากฎหมายหมิ่นกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นไม่ขัดต่อหลักอำนาจอธิปไตย หลักสิทธิและเสรีภาพ และความเสมอภาค หากมองความเป็นจริงถ้าทุกคนนั้นมี อำนาจอธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคที่เท่าเทียมกันทุกคน แล้วใครจะมาทำหน้าที่ปกครอง เพราะการที่ทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ อำนาจ และความเสมอภาคเท่ากัน นั้นเท่ากับว่าไม่มีใครสั่งให้คนนี้ทำตาม หรือสั่งลงโทษที่กระทำความผิด หากเป็นเช่นนั้นคำว่าประชาธิปไตยก็คงกลายเป็นระบอบอนาธิปไตย ทุกคนอยู่อย่างปัจเจก อยากทำอะไรก็ทำโดยไม่สนใจคนรอบข้าง จนทำให้ สังคมวุ่นวาย และการที่ประเทศไทยนั้นมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และการมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถ จนทำให้ประชาชนทั้งปวงศรัทธาและเลื่อมใส นั้นก็ถือได้ว่าประเทศไทยมีเอกลักษณ์ทางการเมืองแตกต่างชาติตะวันตกอื่นๆที่เห็นกษัตริย์นั้นเป็นเช่นเดียวกับคนชั้นสูง และคนรวยทั่วไป สามารถเขียนข่าว ด่าว่า เช่นไรก็ได้ แต่การที่ประเทศไทยไม่สามารถที่จะทำเช่นนั้นได้ถือได้ว่า เป็นการนำระบอบประชาธิปไตยของตะวันตก มาผสมผสานรวมกับเอกลักษณ์วัฒนธรรมของไทยได้อย่างลงตัว บุคคลที่สงสัยและเคลือบแคลงกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้ว่าขัดต่อหลักประชาธิปไตยหรือไม่ และเห็นสมควรว่าควรยกเลิกทิ้งไป นั้น ก็คงจะหนีไม่พ้นพวกที่เติบโตมาจากต่างประเทศโดยลืมรากเหง้า ความเป็นไทย เอกลักษณ์และวัฒนธรรม ที่ถูกสืบทอดต่อกันมา เห็นว่ากษัตริย์ต่างประเทศนั้น ถูกว่ากล่าว มีปาปารัซซี่แอบถ่าย ได้โดยไม่มีความเคารพและเกรงใจในฐานะประมุขแห่งรัฐ เช่นนั้น บุคคลที่เคลือบแคลงก็ควรที่จะไปอยู่ในประเทศนั้น เพราะไม่เหมาะสมกับการเป็นคนไทยและใช้สัญชาติไทยต่อไป

ในส่วนของข้อเสนอแนะนั้น จะเห็นได้ว่ามีผู้ที่ต้องการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศคงจะไม่ยินยอมให้คนเหล่านี้ใช้ข้ออ้างมายกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จนนำมาสู่การส่งเสริมให้คนเหล่านี้มีสิทธิโดยชอบกฎหมายในการ วิจารณ์ พระมหากษัตริย์ และทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติ แต่กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ใช้มาเป็นระยะเวลาเกือบ 30 ปี แล้ว จึงเห็นสมควรว่าควรปรับปรุงแก้ไขดังต่อไปนี้

- ควรมีการเพิ่มโทษของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้รุนแรงขึ้น เพื่อที่จะลดความพยายามกระทำ

ความผิดในโทษฐานนี้

- ในการตัดสินคดีนี้ควรมีการคำนึงถึง เจตนา ของบุคคลนั้นๆด้วยเพื่อไม่ให้ ผู้ไม่มีเจตนาเป็นเหยื่อของ

กฎหมายนี้ และใช้ข้ออ้างนี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

- ควรตั้งหน่วยงานผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ขึ้นและให้หน่วยนี้มีหน้าที่ตรวจสอบและรับรองหนังสือหรือสื่อใน

ประเภทอื่นที่หมิ่นเหม่ต่อความผิดในโทษฐานดังกล่าว ก่อนที่จะนำเผยแพร่แก่สาธารณชน หากไม่ผ่านการรับรองก็ให้นำกลับไปแก้ไข หรือยกเลิกการเผยแพร่ต่อไป เพื่อเป็นการสกัดเนื้อหาของหนังสือและบทความก่อนได้รับการเผยแพร่ต่อสาธารณชนทั่วไปได้ทางหนึ่ง

- การฟ้องเพื่อดำเนินคดีต่อความผิดในโทษดังกล่าวควรมีหน่อยงานผู้รับผิดชอบโดยเฉพาะ ซึ่งมีอำนาจ

ตรวจสอบ คำพูด บทความ บทสัมภาษณ์ อื่นๆ ที่ไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานนี้ แต่มีเนื้อหาที่ค่อนไปทางการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยที่หน่วยงานนี้ควรมีอำนาจในการเป็นผู้ฟ้องต่อเจ้าพนักงานแต่เพียงหน่วยงานเดียว เนื่องจากข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นใครๆก็สามารถเป็นผู้ฟ้องได้ จึงทำให้เกิดการนำข้อหานี้มาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หากมีหน่วงงานเพื่อพิจารณาก่อนฟ้อง จะทำให้ลดการใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง อีกทั้งเมื่อมีการพิจารณาก่อนจะทำให้มีการคัดกรองก่อนนำไปสู่ขั้นตอนในชั้นศาล อีกด้วย



บรรณานุกรม

ณัชชาภัทร อุ่นตรงจิตร. (2550). รัฐศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ดนัย ไชยโยธา. (2552). นักคิด นักรู้ และนักการเมือง จากอดีตถึงปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.

Nelson, Brian R. (2550). ความคิดทางการเมืองแบบตะวันตก จากโสกราติสถึงยุคอุดมการณ์. แปลโดย สมนึก ชูวิเชียร.

กรุงเทพฯ: เอ็มแอล ครีเอชั่น แอนด์ พริ้นติ้ง.

ไพโรจน์ พลเพชร และคณะ. (2547). รายงานวิจัย ฉบับสมบูรณ์ เรื่อง สิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์. กรุงเทพฯ:

โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วิทยากร เชียงกูล. (2551). ปรัชญา การเมือง เศรษฐกิจ สังคม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สายธาร.

ลิขิต ธีรเวคิน. (2546). วิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย. พิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สมเกียรติ วันทะนะ. (2549). อุดมการณ์การเมืองร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: ศุนย์ส่งเสริม และฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ.

สมบัติ จันทรวงศ์; และ ชัยอนันต์ สมุทวณิช. (2523). แนวความคิดทางการเมืองไทย. กรุงเทพฯ: บรรณกิจ.

เจษฎา พรไชยา. (2546). พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยกับประเทศอังกฤษ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์

แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. (2550, 24 สิงหาคม). ราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา. เล่ม 124

ตอนที่ 47 ก.
ประชาไท. (2553). สัมภาษณ์ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล : ว่าด้วยความพอดีของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ. สืบค้นเมื่อ 1
กุมภาพันธ์ 2553, จาก http://www.prachatai.com/journal/2009/08/25590

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. (2553). ความผิดฐาน “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”: เอกลักษณ์ประชาธิปไตยไทยในกระแส

ประชาธิปไตยโลก. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2553, จาก http://www.kpi.ac.th/kpith/index.php?

option=com_content&task=view&id=286&Itemid=9

สำนักงานกฎหมาย พีศิริ. (2553). ประมวลกฎหมายอาญา. สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2553, จาก http://www.peesirilaw.com/

index.php?lay=show&ac=article&Id=538614872&Ntype=10

ฟ้าเดียวกัน.(2553). วิวัฒนาการกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ. สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2553, จาก http://sameskyboard.com/index.php?showtopic=31185

SRP.(2553). การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข. สืบค้นเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2553,

จาก http://www2.srp.ac.th/~social/online/data/001.htm

Wikipedia. (2553). Lèse majesté. Retrieved February 1, 2010, from http://en.wikipedia.org/wiki/L%C3%A8se_ma

jest%C3%A9

Stortinget. (2553). Constitution of Norway. Retrieved February 5, 2010, from http://www.stortinget.no/en/In- English/About-the-Storting/The-Constitution/The-Constitution/.





Legislationline. (2553). Constitution of the Kingdom of Belgium (in English). Retrieved February 7,

2010, from http://www.legislationline.org/download/action/download/id/1744/file/b249d2a5

8a8d0b9a5630012da8a3.pdf.

Legislationline. (2553). Constitution of the Kingdom of Denmark (in English). Retrieved February 5, 2010, from

http://www.legislationline.org/download/action/download/id/1587/file/c57ee1ef8edd6198a252e187fdf2.htm/

Constitution. (2553). Constitution of Bhutan. Retrieved February 5, 2010, from http://www.constitution.bt/html/

constitution/articles.htm

Constitution. (2553). Constitution of Cambodia. Retrieved February 5, 2010, from http://www.constitution.org/

cons/cambodia.htm

Kinghussein. (2553). Constitution of Jordan. Retrieved February 5, 2010, from http://www.kinghussein.gov.jo/

constitution_jo.html

Salon. (2553). Constitution of Japan. Retrieved February 6, 2010, from http://www.solon.org/Constitutions/

Japan/English/english-Constitution.html

Worldstatesmen. (2553). Constitution of Brunei. Retrieved February 6, 2010, from http://www.worldstatesmen.org/

Brunei1984.PDF

Wikipedia. (2553). Constitution of Malaysia. Retrieved February 7, 2010, from http://en.wikisource.org/wiki/

Constitution_of_Malaysia

Parliament. (2553). Constitution of Lesotho. Retrieved February 10, 2010, from library2.parliament.go.th/

giventake/content_cons/lesotho.pdf

Theroyalforums. (2553). Lese Majesty And Other Insults to Queen Beatrix. Retrieved February 10, 2010,

from http://www.theroyalforums.com/forums/f158/lese-majesty-and-other-insults-to-queen-beatrix-16445.html

NIEW. (2553). Constitution of Swaziland. Retrieved February 10, 2010, from http://www.niew.gov.my/niew/

index.php?option=com_docman&task=doc_details&gid=258&Itemid=35&lang=en&color=purple

Riksdagen. (2553). Constisution of Sweden. Retrieved February 10, 2010, from http://www.riksdagen.se/templates

/R_PageExtended____6322.aspx

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น