วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

เมื่อราษฎร์ถวายฎีกา

บล็อดเกอร์ไปพบบทความบทหนึ่ง ซึ่งเป็นบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งได้กล่าวถึงรายละเอียดในการยื่นฎีกาของคนเสื้อแดง บทความดังกล่าวน่าจะออกมาในเวลาที่คนเสื้อแดงยื่นถวายฎีกา มี 3 ตอนจบ แต่บล็อคเกอร์ได้รวบรวมไว้เป็นตอนเดียวจบ ซึ่งแม้จะเป็นการจัดทำในขณะที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ แต่บทความนี้ก้ได้บอกรายละเอียด ข้อกฎหมาย ระเบียบ วิธี ธรรมเนียมจารีตประเพณีที่ปฎิบัติสืบทอดกันมา จึงมีคุณค่าแก่การศึกษา ในกรณีที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยกำลังดำเนินการตีตวามในเรื่องนี้อยู่

หากทำให้บทความนี้หายไปได้ พวกที่ใคร่กระหายจะช่วยทักษิณพ้นผิดด้วยวิธีนี้ คงอยากทำให้หายวับกับตา ไม่ให้หลงเหลือไว้ในหน้าเว็บไซค์ใดๆเลย





บทวิเคราะห์ : "เมื่อราษฎร์ถวายฎีกา"
คงปฎิเสธไม่ได้ว่า กระแสเคลื่อนไหวที่กลุ่มคนเสื้อแดงกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ นั่นคือ ทั้งการจัดกิจกรรมฉลองครอบรอบวันคล้ายวันเกิด 60 ปี ให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 26 กรกฏาคม ที่ผ่านมา และรวบรวมรายชื่อเพื่อทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไปในคราวเดียวกัน ทำให้รัฐบาลและหลายหน่วยงานไม่สามารถนิ่งนอนใจ เร่งประชาสัมพันธ์และชี้แจงข้อกฎหมายว่าด้วย ระเบียบ และขั้นตอนปฏิบัติที่ถูกต้องในการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา


เริ่มจากกระทรวงยุติธรรม โดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ถึงกับต้องนำทีมงานของกระทรวงไปใช้ศูนย์แถลงข่าว ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ชี้แจงอย่างเป็นทางการ เกี่ยวกับข้อกฎหมายที่เป็นหลักเกณฑ์ในการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษ และกระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษ โดยได้ยกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และหลักเกณฑ์ที่ถือปฏิบัติมาพร้อมกับการประกาศใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2478) มาอธิบายอย่างละเอียด

เริ่มด้วยบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 259 ที่ว่า ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษอย่างใดๆ หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าจะทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ขอรับพระราชทานอภัยโทษ จะยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ได้ มาตรา 261 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีหน้าที่ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ พร้อมทั้งถวายความเห็นว่าควรพระราชทานอภัยโทษหรือไม่

สำหรับผู้ที่มีสิทธิ์ยื่นทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษ ต้องเป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้รับโทษทางอาญา , ผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง ซึ่งหมายถึง ผู้มีความสัมพันธ์กันทางสายโลหิต ผู้ที่มีหน้าที่ดูแลตามกฎหมาย โดยทางศีลธรรม หรือ ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการได้รับโทษทางอาญาดังกล่าว คือ เป็นบิดา มารดา คู่สมรส บุตรหลาน หรือญาติที่ใกล้ชิด หรือกรณีของนักโทษเด็ดขาดชาวต่างประเทศ เช่น สถานทูต

ส่วนเงื่อนไขในการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกานั้น ต้องมีคำพิพากษาถึงที่สุด , ศาลต้องพิพากษาให้รับโทษอาญา หมายถึง โทษตามมาตรา 18 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ต่อด้วยขั้นตอนดำเนินการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษ โดยละเอียด

ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตั้งข้อสังเกตว่ากรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่เข้าข่ายตามเงื่อนไขของกฎหมาย และห่วงใยว่าอาจมีการชักชวนให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน

ข้อกังวลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอีกประการ ก็คือ การเคลื่อนไหวครั้งนี้ ต้องการให้เกิดอะไรขึ้นมา?? แต่ประชาชนที่มาร่วมลงชื่อ อาจเข้าใจผิดในข้อเท็จจริง หรือ เข้าใจผิดในข้อกฎหมาย หรืออาจถูกชักนำให้เข้าใจในทางอื่น ซึ่งประเด็นนี้ จะทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายและอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการใช้พระราชอำนาจได้ และเป็นเรื่องที่คิดว่าไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้น

ดังนั้น รัฐบาลโดยกระทรวงยุติธรรม จึงต้องการสร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจว่า ผู้ที่ต้องคำพิพากษาให้ลงโทษ เบื้องต้นจะต้องยอมรับในโทษที่ได้กระทำผิดตามคำพิพากษาก่อน และความมีประสงค์ที่จะได้รับการอภัยโทษ " การอภัยโทษไม่ใช่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา จากที่ศาลได้พิพากษาว่ากระทำผิด เป็นว่าไม่ได้กระทำความผิด เพราะอาจทำให้เกิดความเข้าใจสับสนที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ได้"

ขณะที่ความเคลื่อนไหวอีกด้านหนึ่งของกลุ่มนักวิชาการ ก็มีการจัดเสวนา เรื่อง "เมื่อราษฎร์ถวายฎีกา : กฎหมายและระเบียบปฏิบัติ" เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม เวลา 09.00 - 12.00 น.ที่ห้อง 301 อาคารพินิตประชานาถ จุฬาฯ เพื่อชี้แจงกฎหมาย ระเบียบและขั้นตอนปฏิบัติที่ถูกต้องในการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา โดยผู้ทรงคุณวุฒิในหลากหลายสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษ เพื่อก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้สาธารณชนได้รับทราบ เนื่องจากขณะนี้สังคมไทยกำลังสนใจกรณีการเข้าชื่อทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษเป็นอย่างยิ่ง และมีความเห็นแตกต่างกันออกไปทั้งในเชิงเห็นด้วยและมีไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว อันอาจนำไปสู่ประเด็นทางสังคมต่อไป

สำหรับผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้าร่วมในการเสวนาครั้งนี้ ได้แก่ ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อดีตรองนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) พูดในเรื่อง "กฎหมายและระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการถวายฎีกา" จากนั้นเป็นการอภิปรายเรื่อง "เมื่อราษฎร์ถวายฎีกา" ผู้อภิปราย ได้แก่ ศ.กิตติคุณ ดร.ปิยะนาถ บุนนาค ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.สุริชัย หวันแก้ว ผอ.สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.วีระ สมบูรณ์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.วีระ สมบูรณ์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น.ส.เพ็ญจันทร์ โชติบาล เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงต่างประเทศ นิติศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำวิทยานิพนธ์เรื่องพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษของพระมหากษัตริย์ไทย

ทั้งนี้ การจัดเสวนาดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากมีคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มหนึ่งเห็นว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช.ล่ารายชื่อประชาชน 1 ล้านชื่อ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 2 ปี นอกจากเป็นการกดดันเบื้องสูงแล้ว เนื้อหาในฎีกาหลายตอนมีเนื้อหาที่ไม่บังควรอย่างยิ่งอีกด้วย จึงมีการหารือกันและเห็นว่าควรเชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ออกมาชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชน โดยเฉพาะ ดร.วิษณุ เครืองาม ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องระเบียบกฎหมายและโบราณราชประเพณีอย่างยิ่ง


การรณรงค์ชี้แจงทำความเข้าใจข้อกฎหมายให้แก่ประชาชน ถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุดของรัฐบาลในเวลานี้ เพราะการตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลไม่ว่าด้วยวาจาหรือวิธีอื่นใด ในสถานการณ์สังคมแบ่งขั้วเช่นนี้ มีแต่จะเพิ่มช่องว่างให้ขยายมากขึ้น และสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ความสงบสันติจะเกิดขึ้นหรือความแตกร้าวจะบานปลาย ก็อยู่ที่คนไทยทั้งชาติ ในการใช้สติ ตรึกตรอง ด้วยเหตุผล มิใช่อคติ หรืออารมณ์ เพราะอาจตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็เป็นได้ !!!

----------------------------------------

ในขณะที่การเดินหน้ารวบรวมรายชื่อประชาชนของแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง เพื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่กำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการเร่งเครื่องนัดหมายแกนนำแต่ละภาค เพื่อทำความเข้าใจขั้นตอน และชี้แจงกลไกขัดขวางของกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยนี้ ท่ามกลางความเคลื่อนไหวดังกล่าว มีการออกมาแสดงความคิดเห็นจากหลายฝ่าย ทั้งที่ไปในทาง สนับสนุนและออกมาคัดค้าน

และเมื่อวานนี้ (28 ก.ค.52)กลุ่มนักวิชาการ คณาจารย์ คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเวทีอภิปรายเรื่อง "เมื่อราษฎร์ถวายฎีกา: กฎหมายและระเบียบปฏิบัติ" เพื่อชี้แจงกฎหมาย ระเบียบ และขั้นตอนปฏิบัติที่ถูกต้องในการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาโดยผู้ทรงคุณวุฒิในหลากหลายสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษ เพื่อก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้สาธารณชนได้รับทราบเพราะเห็นว่า ขณะนี้สังคมไทยกำลังสนใจกรณีการเข้าชื่อทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ เป็นอย่างยิ่ง และมีความเห็นแตกต่างกันออกไปทั้งในเชิงเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว อันอาจนำไปสู่ประเด็นทางสังคมต่อไปได้

สำนักข่าวแห่งชาติขอนำส่วนหนึ่งของการอภิปรายมาเสนอในประเด็นที่ประชาชนควรทราบดังนี้

หลักการทูล เกล้าฯ ถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ไทย

การทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ ในปัจจุบันมีสองประเภทคือฎีกาขอพระราชอภัยโทษของนักโทษในคดีที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้วประการหนึ่ง และฎีกาขอพระราชทานความเป็นธรรมในเรื่องต่างๆ ที่ผู้ทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานพระมหากรุณา


1.) ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 259-267 และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรค 2 ที่ว่า ”คดีใดซึ่งศาลฎีกาได้พิจารณาพิพากษาแล้ว คู่ความหามีสิทธิที่จะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาคัดค้านคดีนั้นต่อไปอีกหรือไม่” ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันที่พระราชกฤษฎีกาวางระเบียบทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาซึ่งตราขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและประกาศใช้บังคับ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2457 ซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ข้อ1(1) ที่ว่า “ขอพระราชทานพระมหากรุณาลดหย่อนผ่อนโทษ ซึ่งศาลหลวงใดๆ ตั้งแต่ ศาลฎีกาลงไป ได้วางบทแล้วตามพระราชกำหนดกฎหมาย (แต่ไม่ใช่โต้แย้งคำพิพากษาของศาลนั้นๆ )” นอกจากนั้น ประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญาได้วางหลักการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษไว้ ทั้งผู้มีสิทธิทูลเกล้าฯ ถวาย ที่ที่จะยื่นฎีกา ขั้นตอนการถวายฎีกาและการกราบบังคมทูลถวายความเห็นของรัฐบาล กล่าวคือ ผู้มีสิทธิทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาคือผู้ต้องคำพิพากษาเอง หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องอันได้แก่ บิดา มารดา คู่สมรส บุตร ญาติ พี่น้อง(มาตรา 259) หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (มาตรา 261 วรรคสอง) ที่ที่จะยื่นฎีกาคือเรือนจำ หรือกระทรวงยุติธรรม การทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อสำนักราชเลขาธิการนั้น “ถือเป็นการยื่นเรื่องราวที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย” หากไปยื่นต่อสำนักราชเลขาธิการก็ต้องส่งเรื่องกลับมายังกระทรวงยุติธรรมเพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงและให้รัฐมนตรีว่าการกระทรรวงยุติธรรมทำความเห็นกราบบังคมทูลขึ้นไปก่อน


2.) ฎีการ้องทุกข์หรือขอพระราชทานความเป็นธรรม ฎีกาประเภทนี้ ประชาชนคนใดได้รับความเดือดร้อนก็สามารถทูลเกล้าฯ ถวายได้ ไม่ว่าจะเป็นทุกข์ร้อน ขอพระมหากรุณาให้ทรงช่วยเหลือหรือทรงแก้ทุกข์ให้ เช่น ขอพระราชทานที่ดินทำกิน ขอพระราชทานแหล่งน้ำ หรือส่วนราชการอาจกระทำการอันไม่เป็นธรรม ฎีกาประเภทนี้ พระราชกฤษฎีกาวางระเบียบทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา พ.ศ.2457 ข้อ1(2) กำหนดว่า “บรรดาฎีกาที่จะทูลเกล้าฯ ถวายโดยตรง และที่จะทรงรับวินิจฉัยโดยพระองค์เองนั้น ต้องตกอยู่ในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง.....” การขอพระราชทานพระมหากรุณา ขอรับพระราชทานพระราชานุเคราะห์ในกิจการส่วนตัว เพื่อปลดเปลื้องทุกข์อันจะหาหนทางปลดเปลื้องโดยอาการอื่นไม่ได้ นอกจากขอพระราชทานพระมหากรุณาโดยตรง กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาประเภทนี้ ต้องขอโดยผู้มีทุกข์และขอในกิจการส่วนตัวของผู้นั้นเอง ฎีการ้องทุกข์ประเภทนี้จะทูลเกล้าฯ ผ่านสำนักราชเลขาธิการหรือทูลเกล้าฯ ต่อพระองค์เอง หรือจะส่งทางไปรษณีย์ก็ได้แต่ต้องมีชื่อและที่อยู่ของผู้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา

ขั้นตอนการพิจารณาการฎีกา

หากเป็นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งต้องเริ่มต้นที่กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ก็เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ต้องสรุปข้อเท็จจริง นำเสนอตามลำดับจนถึงรัฐมนตรีว่ากระทรวงยุติธรรม แล้วรัฐมนตรีก็จะทำความเห็น ส่งเรื่องมาที่สำนักราชเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะสรุปเรื่องให้นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายลงนามทูลเกล้าฯ ถวาย แล้วสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก็จะส่งเรื่องไปสำนักราชเลขาธิการ สำนักราชเลขาธิการก็จะนำความเห็นรัฐบาล เสนอคณะองคมนตรีกลั่นกรองและทูลเกล้าฯ ถวายความเห็น ขั้นตอนต่อจากนี้ก็สุดแท้แต่จะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้พระราชทานอภัยโทษหรือลดโทษหรือยกฎีกา


อนึ่ง หากมีการยื่นผิดขั้นตอนไปยังสำนักราชเลขาธิการ สำนักราชเลขาธิการก็ไม่อาจพิจารณาเรื่องนี้ได้ ต้องส่งกลับมาที่กรมราชทัณฑ์กระทรวงยุติธรรมเพื่อเริ่มต้นให้ถูกต้อง

พระราชอำนาจในการทรงพิจารณาฎีกา

เดิมในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระราชอำนาจในการทรงพิจารณาฎีกาไม่มีข้อจำกัด กล่าวคือจะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้กลับคำพิพากษาศาลฎีกาเสียก็ได้ หรือจะมีพระบรมราชวินิจฉัยสั่งการให้กระทรวง ทบวง กรม ทำหรือไม่ทำสิ่งใดก็ได้ เพราะถือว่าเป็น ”ราชาธิปไตย” คือทรงมีและทรงใช้พระราชอำนาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการได้สูงสุดแต่พระองค์เดียว แม้กระนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงตราพระราชกฤษฎีกาวางระเบียบทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา พ.ศ. 2457 ห้ามมิให้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลอีกต่อไปดังกล่าวแล้ว เพื่อให้คำพิพากษาของศาลมีความศักดิ์สิทธิ์ตามหลักสากล

สำหรับในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 3 กำหนดไว้ชัดเจนเป็นหลักว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

แม้การพระราชทานอภัยโทษในมาตรา 191 ซึ่งบัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ” ก็อยู่ภายใต้หลักการดังกล่าว คือพระมหากษัตริย์จะทรงใช้พระราชอำนาจทุกชนิดที่เกี่ยวกับกับการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น พระราชทานอภัยโทษก็ดี หรือแก้ไขทุกข์ของราษฎรที่ต้องให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐปฎิบัติก็ดี พระมหากษัตริย์ก็ต้องทรงใช้อำนาจอธิปไตยโดยผ่านคณะรัฐมนตรีซึ่งต้องรับผิดชอบทงการเมือง ดังที่รัฐธรรมนูญมาตรา195 กำหนดว่า “บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขาและพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดินนั้น ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้”


ดังนั้น นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่รับมอบหมายจึงต้องเป็นผู้กลั่นกรองเรื่องฎีกาทุกชนิดที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ หรือฎีการ้องทุกข์ รวมทั้ง กราบบังคมทูล ถวายคำแนะนำและนำพระบรมราชวินิจฉัยมาปฏิบัติ และรับผิดชอบทางการเมืองและกฎหมายแทนพระมหากษัตริย์ ตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ในตอนหน้า สำนักข่าวแห่งชาติ จะนำเสนอการอภิปรายของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ในประเด็นเรื่องการพระราชทานอภัยโทษในกรณีของไทยโดยเชื่อมโยงและเทียบเคียงกับหลักการและแนวปฎิบัติในภาพรวมกับประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์ประมุขเช่นเดียวกับไทย และประเทศที่ปกครองในระบอบสาธารณรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข

-------------------------

ในเวทีอภิปรายเรื่อง "เมื่อราษฎร์ถวายฎีกา: กฎหมายและระเบียบปฏิบัติ" ซึ่งจัดโดยคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีระ สมบูรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อภิปรายในมุมมองด้านรัฐศาสตร์ โดยเน้นไปที่การพิจารณาในประเด็นเรื่องการพระราชทานอภัยโทษในกรณีของไทยโดยเชื่อมโยงและเทียบเคียงกับหลักการและแนวปฎิบัติในภาพรวมกับประเทศอื่น ที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขเช่นเดียวกับไทย รวมทั้งประเทศที่ปกครองในระบอบสาธารณรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข โดยเชื่อว่า การพิจารณาเช่นนี้ จะทำให้เห็นหลักการทั่วไปที่ใช้กันอยู่ในนานาอารยประเทศและมองเฉพาะไทยได้ชัดเจนขึ้น ดร.วีระ ได้กล่าวถึงประเด็นหลัก คือ

1. สาระและความมุ่งหมายของการอภัยโทษโดยรัฐาธิปัตย์

2. การอภัยโทษ กับการเมืองการปกครอง

ขณะนี้ สังคมกำลังสนใจประเด็นความแตกต่างระหว่าง ฎีการ้องทุกข์กับฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ นั่นคือ การร้องทุกข์จากความเดือดร้อนและการขอบรรเทาโทษ จากผู้เป็นประมุขของรัฐ ซึ่งได้ชัดเจนแล้วว่าเป็นสองเรื่องที่แตกต่างกัน แต่ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่มักจะถูกโยงกับเรื่องนี้อยู่เรื่อย ๆ นั่นก็คือ การนิรโทษกรรม ซึ่ง 3 เรื่องนี้ ต้องแยกให้ออกว่า เป็นคนละเรื่องกันทั้งสิ้น ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจความหมายของคำว่า นิรโทษกรรมก่อน

นิรโทษกรรม ในภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า amnesty มีรากศัพท์เหมือนกับคำว่า amnesia ซึ่งหมายถึง ผู้มีโรคความจำเสื่อม แต่คำว่า amnesty หมายถึงว่า การลืม ดังนั้น การนิรโทษกรรม คือการเลิกแล้วต่อกัน หรือพูดง่ายๆ คือ การลืมๆ ไปเสีย ดังนั้น เรื่องนิรโทษกรรมจึงเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง เป็นเรื่องทางการเมืองหรือเป็นเรื่องความผิดทางการเมือง และก็เป็นการที่จะต้องกระทำเป็นการทั่วไป จะกระทำให้แก่บุคคลใด บุคคลหนึ่งไม่ได้ และในการนิรโทษกรรมในแต่ละประเทศนั้น ต้องตราเป็นกฎหมาย และทำตามขั้นตอนหรือประกาศเป็นกฎหมาย โดยระบุเหตุการณ์หรือช่วงเวลาที่ชัดเจนรวมทั้งบุคคลที่เข้าข่าย ดังนั้น 3 เรื่องนี้จึงไม่ควรสับสนหรือนำมาปนเปกัน

สาระและความมุ่งหมายของการอภัยโทษโดยรัฐาธิปัตย์

การอภัยโทษที่ทำโดยรัฐาธิปัตย์ ในอดีตกาล เป็นพระราชอำนาจและพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ เพราะตามหลักการของการเมืองการปกครองทั่วโลก ผู้ปกครองมีทั้งอำนาจและหน้าที่ ในการลงโทษหรือลงทัณฑ์ และเป็นภารกิจหลักของผู้ปกครอง ในการพิจารณา ตัดสินผู้กระทำ และลงทัณฑ์ ตามสมควรแก่การกระทำ เมื่อเป็นเช่นนี้ เมื่อมีเหตุอันสมควร ให้ยกเลิก ยุติหรือลดหย่อนผ่อนผันการลงทัณฑ์ ย่อมเป็นพระราชอำนาจ ของกษัตริย์

การพระราชทานอภัยโทษ นอกจากเป็นเรื่องของกฎหมาย ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของพระมหากรุณาธิคุณ หรือจะพูดอีกอย่างว่า การลงโทษนั้น ใช้พระเดช การอภัยโทษ ใช้พระคุณ นอกจากนี้ ยังอิงกับหลักการที่ว่า โทษทัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจองจำ มีไว้เพื่อให้ผู้กระทำได้ชดใช้และเกิดการสำนึกผิด และป้องกันไม่ให้ผู้กระทำผิด กลับมาทำซ้ำอีก เพราะฉะนั้นหากเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ผลของการลงโทษ ได้สำเร็จหรือบรรลุผลตามสมควรแล้ว และผู้กระทำผิดได้ชดใช้ตามสมควร ระยะหนึ่ง เกิดความสำนึกผิด และมีพฤติกรรมอันเชื่อได้ว่า จะไม่กระทำซ้ำอีก ในกรณีนี้ จึงสมควรแก่การกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ นี่คือที่มาที่ไปของการอภัยโทษ

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่า สูงสุดแล้วจะเป็น พระราชอำนาจเด็ดขาดทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมในอดีต ที่เต็มไปด้วยการต่อสู้ ต่อรองอำนาจของชนชั้นสูง เช่น อำนาจของขุนนาง พระราชอำนาจก็มีขอบเขตจำกัดเหมือนกัน และมีวิวัฒนาการ เช่น การแย่งชิงอำนาจของขุนนางชั้นสูงของสหราชอาณาจักร ดังนั้น พระราชอำนาจจึงถูกลดทอนหรือขีดกรอบ โดยอำนาจที่คงอยู่กับกษัตริย์นั้น เรียกว่า พระราชอำนาจพิเศษ

เพราะฉะนั้น โดยธรรมเนียมปฎิบัติและโดยรัฐธรรมนูญของประเทศที่มีกษัตริย์เป็นประมุข อำนาจในการอภัยโทษ จึงมักได้รับการบำรุงรักษาไว้ ให้เป็นอำนาจพิเศษของพระมหากษัตริย์ ส่วนประเทศที่ปกครองในระบอบสาธารณรัฐ ซึ่งมีประธานาธิบดี เป็นประมุข อำนาจในการอภัยโทษ จะอยู่ในอาณัติแห่งอำนาจของประธานาธิบดี

จึงกล่าวได้ว่า แม้เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่แล้ว การอภัยโทษ โดยรัฐาธิปัตย์ ก็เป็นสิ่งที่ปรากฎอยู่ในทุกรัฐ แล้วก็ล้วนเป็นอำนาจของผู้เป็นประมุข ซึ่งถือว่าเป็นผู้ใช้อำนาจส่วนหนึ่ง ผ่านฝ่ายบริหาร ของรัฐ

อย่างไรก็ตาม อำนาจในการอภัยโทษ นี้ ไม่ว่าโดยใคร ก็เหมือนกับอำนาจทั้งหลาย หากมีการนำไปใช้ในทางที่เอื้อประโยชน์ก็นำไปสู่แนวทางที่เสื่อมเสียได้ ในประวัติศาสตร์หลายประเทศ จะเห็นว่า การใช้อำนาจดังกล่าวนี้ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ด้านการเงิน แรงงาน เพื่อแสวงหาสมัครพรรคพวก ทางการเมือง หรือบางกรณี ก็มีการใช้ประโยชน์ในเชิงนโยบายอีกด้วย ดังนั้น อำนาจในการอภัยโทษ ก็มีทั้งคุณูปการและโทษมหันต์

เนื่องจากสังคมปัจจุบัน มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นๆ ดังนั้น ในทุกประเทศ จะมีการบัญญัติหลักการ กระบวนการลงโทษ อย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จะเชื่อมไปสู่ประเด็นที่สอง นั่นคือการอภัยโทษ กับการเมืองการปกครอง

การอภัยโทษ กับการเมืองการปกครอง

ปัจจุบัน การอภัยโทษ โดยรัฐาธิปัตย์ ซึ่งถือเป็นสถาบันสาธารณะ หรือสถาบันส่วนรวม และเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันการเมืองการปกครอง จะต้องมีขอบเขตของอำนาจ หลักการที่ใช้กำหนด และมีวิธีการ และกระบวนการที่ชัดเจน รอบคอบ ประกอบด้วยธรรมาภิบาล ดังที่กล่าวแล้วว่า อำนาจในการอภัยโทษมีทั้งคุณูปการและโทษมหันต์ ดังนั้นจะต้องไม่กระทบบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

“ต้องเข้าใจนะว่า เรื่องที่เราพิจารณาอยู่นี้ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของใคร เพราะนี่คือสถาบันสาธารณะ เพราะฉะนั้น ก็จะเกี่ยวข้องกับสิทธิของผู้อื่น รวมไปถึงกระทบสวัสดิภาพของรัฐได้ด้วย และทุกประเทศจึงต้องมีการบัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญหรือตราเป็นกฎหมาย เป็นระเบียบปฎิบัติ หรืออย่างน้อย ก็ต้องมีหลักปฎิบัติในลักษณะที่เป็นจารีตประเพณีเพื่อกำกับกระบวนการอภัยโทษ โดยเฉพาะ “

ในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่มีกษัตริย์เป็นองค์ประมุข หลักและกระบวนการอภัยโทษย่อมอยู่ภายใต้ หลักทั่วไปที่ว่า การกระทำอันใดที่ มีผลผูกพันรับผิดชอบตามกฎหมาย หรือรับผิดชอบในทางการเมือง ย่อมไม่อาจตกอยู่กับองค์ประมุขได้ จำต้องมีบุคคลหรือหน่วยราชการ ทำหน้าที่กลั่นกรอง ถวายความเห็นหรือคำแนะนำ รวมทั้งเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และเป็นผู้รับผิดชอบด้วย เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการกำหนดอย่างชัดเจนว่า การขอพระราชทานอภัยโทษและกระบวนการอภัยโทษนั้น เริ่มต้นที่ใด และ สิ้นสุดลงที่ใด มีเงื่อนไขและเงื่อนเวลาอย่างไร เพราะฉะนั้น ตามหลักการที่ว่านี้ ราษฎรทุกคนมีสิทธ์ในการขอและได้รับการพระราชทานอภัยโทษได้ ดุจเดียวกันถ้วนหน้า แต่สิทธินั้นต้องไปเป็นไปตามหลักและกระบวนการ ที่บัญญัติขึ้นโดยเสมอหน้ากัน เข่นเดียวกัน จะผิดแผกแตกต่างกันหรือนอกเหนือออกไปไม่ได้ ดังนั้น ผู้ขอมีสิทธิแต่จะทำนอกขั้นตอนไม่ได้

และผู้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง กับการอภัยโทษ ตั้งแต่การรับเรื่องไปจนสิ้นสุดกระบวนการ หากปฎิบัติผิดแผกจากกฎเกณฑ์ที่กำหนด ก็ย่อมเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้เข่นกัน

ทั้งสองกรณี จึงต้องพิจารณาให้ชัดเจน จะวินิจฉัยกันตามอำเภอใจมิได้ ดังนั้น ในประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจึงมีข้อกำหนดชัดเจน เช่น กรณีของสหราชอาณาจักร ก็ยึดถือทั้งธรรมเนียมปฏิบัติและถือเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ โดยจะต้องผ่านการพิจารณากลั่นกรองของกระทรวงมหาดไทยในเบื้องต้น แล้วต่อมาก็มีเงื่อนไขบัญญัติเพิ่มเติมว่าต้องผ่านคณะกรรมาธิการพิจารณาทบทวนตีความของรัฐก่อนด้วย ส่วนในประเทศสเปน เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก เป็นต้น มีการบัญญัติเงื่อนไขเบื้องต้นเพิ่มเติมไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ โดยให้อำนาจในการพิจารณาเป็นไปตามพระราชบัญญัติของรัฐสภาก็มี ขึ้นอยู่กับศาลสูงก็มี ขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของรัฐสภาก็มี จะเห็นว่าทุกประเทศ ต้องมีเงื่อนไขหลักการที่ชัดเจน มิใช่ว่าใครจะมีอำนาจวินิจฉัยตามอำเภอใจได้ รวมทั้งประเทศที่ปกครองแบบสาธารณรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุขก็เช่นเดียวกัน

การอภัยโทษ อันเกี่ยวเนื่องด้วยความผิดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

การอภัยโทษ อันเกี่ยวเนื่องด้วยความผิดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนี้ เกี่ยวข้องกับการเมือง การปกครองและเชื่อมโยงกระบวนการอภัยโทษกับการเมืองโดยตรง ความเกี่ยวเนื่องนี้ มีความสำคัญอย่างน้อยสองประการ

ประการแรก ในเมื่อการใช้อำนาจในการอภัยโทษ เป็นการใช้อำนาจสูงสุด คือ อำนาจอธิปไตย ซึ่งอยู่เหนือกระบวนการยุติธรรมทั้งปวง จึงเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง ที่การใช้อำนาจนี้ จะเกี่ยวพันกับอำนาจทางการเมือง เพราะเท่ากับว่าผู้ที่มีอำนาจทางการเมือง สามารถใช้อำนาจนี้อยู่เหนือกระบวนการทางการเมืองและเหนือกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดได้

ประการสอง การกระทำผิดทางอาญาโดยทั่วไป ก่อให้เกิดความเสียหายทั่วไปหรือต่อบุคคลหรือกลุ่มอื่นๆ มากบ้าง น้อยบ้าง แต่คงต้องยอมรับว่า การกระทำความผิดทางอาญาโดยใช้อำนาจทางการเมืองนั้น ย่อมส่งผลเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติ เพราะฉะนั้น การที่รัฐใดรัฐหนึ่งจะมีข้อปฏิบัติอย่างไรต่อความผิดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ย่อมเป็นบรรทัดฐานที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง ในการตรวจสอบและป้องปรามการกระทำของผู้ที่ใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินโดยมิชอบ


การคำนึงนัยสองประการนี้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมในรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายของประเทศต่างๆ มากมายทั่วโลก จึงมีบัญญัติไว้เป็นหลักการ เกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างชัดเจน ว่า

การอภัยโทษหรือลดหย่อนผ่อนโทษ โดยรัฐาธิปัตย์ มิอาจกระทำได้ ในกรณีความผิดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นความผิดฐาน กบฎ ความผิดทางอาญา ความผิดในการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ หรือเป็นความผิดในฐานทุจริตคอรัปชั่น


“ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่การจำกัดพระราชอำนาจของประมุขในการอภัยโทษ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่การลากเส้นแบ่ง ระหว่าง การอภัยโทษ ซึ่งเป็นสถาบันของรัฐและสังคม ออกจากอำนาจทาการเมืองให้ชัดเจน และเท่ากับเป็นการทำให้ผู้มีอำนาจทางการเมือง ไม่สามารถดำเนินการให้มีการอภัยโทษ แก่ตนหรือพวกพ้องได้ ไม่ว่าจะด้วยอำนาจของตนเอง หรือโดยการต่อรองกดดันประมุขแห่งรัฐ ด้วยคณะรัฐมนตรีหรือโดยใช้ผู้สนับสนุนตนเอง และนัยนี้ ทั้งประมุขและผู้มีหน้าที่รับผิดชอบก็จะมีภูมิคุ้มกัน ทางกฎหมายต่อการแทรกแซงทางการเมืองโดยปริยาย”

กล่าวโดยสรุป การอภัยโทษ เป็นสถาบันซึ่งเชื่อมโยงกับอำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดเหนืออำนาจทั้งปวง เพราะมีเพียงอำนาจอธิปไตยเท่านั้นที่จะให้การยกเว้น ลดหย่อน ต่อกระบวนการยุติธรรม ที่ใช้อยู่ตามปกติได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องมีหลักและกระบวนการอย่างชัดเจน และปฎิบัติตามอย่างรัดกุม และจะต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือภายใต้อาณัติของอำนาจของผู้นำทางการเมืองที่จะใช้อำนาจในการอภัยโทษเป็นเครื่องมือ

หมายเหตุ : รัฐาธิปัตย์ คือ ผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐ (สำหรับประเทศไทย รัฐาธิปัตย์ แบ่งออกเป็น 3 ฝ่ายได้แก่ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ แต่ละฝ่ายก็จะมีอำนาจสูงสุด เฉพาะด้านของตนเท่านั้น )


ที่มา สำนักข่าวแห่งชาติ ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 ตอนที่ 3

-----------------------------------------------

สุุดท้ายนี้ เพื่อให้เอ็นทรี่เรื่องนี้จบลงอย่างสมบูรณ์แบบ บล็อคเกอร์ขอนำคำกล่าวบรรยาย รศ.ธงทอง จันทรางศุ ที่ได้กล่าวไว้ในงานเสวนาเรื่อง “เมื่อราษฎร์ถวายฎีกา กฎหมายและระเบียบปฏิบัติ" เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 ณ ห้อง 301 อาคารพินิตประชานาถ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นข้อคิดเตือนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้


ณ ปัจจุบันนี้ รศ.ธงทอง จันทรางศุ ก็เป็น 1 ในคณะกรรมการกรั่นกรองในเรื่องฎีกาของคนเสื้อแดง ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้แต่งตั้งขึ้น และหวังว่าเรื่องนี้คงมีบทสรุปจากข้อเท็จจริงไปสู่ข้อกฎหมาย ให้ทุกฝ่ายยอมรับได้

" แม้การพระราชทานอภัยโทษเป็นพระราชอำนาจ แต่อยากฝากข้อคิดว่า การเมืองควรแก้ปัญหาด้วยการเมือง การทำให้การเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ สมควรต้องตรึกตรองด้วยความรอบคอบ เพราะในหลายประเด็นนั้นพระมหากษัตริย์ไม่สามารถชี้แจงหรือปกป้องตัวเองได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์นี้หรือเหตุการณ์ใด พยายามอย่าให้พระมหากษัตริย์ต้องมาเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยที่ต้องช่วยกันคิด"(กรุงเทพธุรกิจ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น