วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ประชาธิปไตย – ประชาธิปไตยแบบไทยๆ เป็นฉันท์ใด

ประชาธิปไตย – ประชาธิปไตยแบบไทยๆ เป็นฉันท์ใด


ณ วันนี้เราคงปฎิเสธไม่ได้ว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (Democracy) เป็นระบอบการปกครองที่มีความสอดคล้องกับสภาพการณ์ของโลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถึงแม้จะมีนักวิชาการหลายท่านยังไม่ได้เห็นดีเห็นงามไปกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือแม้แต่นักการเมือง/ผู้นำประเทศชื่อดังก็ยังไม่ได้มองว่า ระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ยกตัวอย่างเช่น อริสโตเติลที่มองว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ไม่ดี หรือ โธมัส ฮอบส์ ที่มองว่าระบบกษัตริย์เป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุด หรือแม้แต่ นรม.สหราชอาณาจักรในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองอย่าง เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล (Sir Winston Churchill) ได้กล่าวว่า "Democracy is the worst form of government except for all those others that have been tried."หรือถอดใจความเป็นภาษาไทยได้ว่า "ประชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองที่เลวที่สุดหากเรายกเว้นไม่ไปกล่าวถึงบรรดารูปแบบการปกครองอื่นทั้งหลายทั้งปวงที่เคยถูกทดลองใช้บ้างเป็นเป็นครั้งคราว" หรือที่เรานิยมใช้กันว่า “ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบบการปกครองที่ดีที่สุด แต่เลวน้อยที่สุด” เป็นต้น การทำความเข้าใจในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจึงกลายมาเป็นสิ่งที่เราทุกคนในสังคมไทยจำเป็นต้องเรียนรู้

สำหรับการศึกษาในวิชาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองนั้นเมื่อกล่าวถึงคำว่าประชาธิปไตยแล้ว หลายๆ ท่านอาจจะนึกถึงประโยคอมตะที่ประธานาธิบดีลินคอร์น ได้กล่าวไว้ว่า “Democracy is the government of the people, by the people, for the people” หรือถอดใจความได้ว่า “ประชาธิปไตยคือการปกครองประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน” ซี่งจะว่ากันไปแล้วประโยคที่กล่าวมาในข้างต้นนั้นเป็นเพียงการสะท้อนบริบทของสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น ณ เวลา และสถานที่ในขณะนั้น (ในสหรัฐฯ ช่วงสงครามกลางกลางเมือง พ.ศ.2404 - 2408 (ค.ศ. 1861–1865)) คือการมีส่วนร่วมของคนในชาติ (สหรัฐฯ) ที่กำลังแตกแยกในขณะนั้น แต่ไม่สามารถใช้เป็นสะท้อนมุมมองหรือแนวคิดภาพรวมของระบอบประชาธิปไตยทั้งโลกได้ ทั้งนี้เพราะสภาพการเมืองที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันไปตามความคิด ความเชื่อ ที่ตั้ง การศึกษา และคุณภาพชีวิต ยกตัวอย่างได้แก่ แนวคิดที่เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยของฝรั่งเศสที่สะท้อนมุมมองในบริบทของความเท่าเทียมกันระหว่างชนชั้น ดังจะเห็นได้จาก คำขวัญของฝรั่งเศสที่ว่า Liberté, Égalité, Fraternité หรือในภาษาไทยคือ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพซึ่งเป็นข้อความที่ใช้เป็นคำขวัญประจำชาติของฝรั่งเศสที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสปี พ.ศ.2489 และ พ.ศ.2501 โดยจุดเริ่มแรกของคำขวัญดังกล่าวจะมาจากคำขวัญในยุคปฏิวัติฝรั่งเศส ที่ในขณะนั้นมีความแตกต่างทางชนชั้นที่ก่อให้เกิดปัญหาอย่างรุนแรง

ดังนั้นหากเราหันกลับมาพิจารณาประเทศไทยแล้วจะพบว่า จุดเปลี่ยนจากเดิมที่ประเทศไทยมีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยาเป็นต้นมา ไปเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎรได้กระทำรัฐประหาร ในสมัยรัชกาลที่ 7 และเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งในขณะนั้นสิ่งที่ปรากฏชัดเจนคือ ความไม่พร้อมและการขาดความรู้ความเข้าใจของประชาชนในเรื่องของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ประกอบกับการปฏิวัติกระทำโดยการที่กองทหารต่างๆ ถูกหลอกให้มาซ้อมรบ ไม่ได้มาเพื่อการทำปฏิวัติรัฐประหารโดยตรง ด้วยความไม่พร้อมต่างๆ นี้เองทำให้ความชัดเจนของการเกิดระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยเป็นเรื่องที่ยังหาคำตอบไม่ได้ ทั้งนี้เพราะสังคมไทยในขณะนั้นมีสภาพลักษณะเป็นระบบศักดินาที่ต้องมีชนชั้นปกครอง เมื่อปวงชนชาวไทยทุกคนได้อำนาจอธิปไตยมาอยู่ในมือ และเป็นผู้ที่เลือกและกำหนดอนาคตทางการเมืองกันเอง จึงเป็นเรื่องทีถูกชักนำได้ง่าย และส่งผลตามถึงปัจจุบันที่ประชาชนทั่วไปส่วนใหญ่จะถูกชักนำ ไม่ว่าจะเป็นระดับรากแก้วหรือชนชั้นกลาง วันนี้ประเทศไทยหา แก่น หรือ core ของประชาธิปไตยไม่เจอ

คนไทยทุกคนที่มีโอกาสได้รับการศึกษาจะมีโอกาสได้เรียนเรื่องราวเกี่ยวกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ใช้ในหลากหลายประเทศรวมถึงทั้งทฤษฏีและหลักการที่เกี่ยวข้อง แต่บนความเป็นจริงแล้วคนไทยทุกคนรวมถึงนักวิชาการทางรัฐศาสตร์หลายๆ คนไม่สามารถตอบคำถามสังคมไทยได้ว่า อย่างไรล่ะคือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับบริบทของความเป็นไทย ความเป็นสังคมไทย และความเป็นคนไทย และวันนี้ประเทศไทยได้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมายาวนาน แต่การเดินผ่านมาก็ยังหาคำตอบกันไม่ได้ว่า ประชาธิปไตยแบบไทยๆ นั้นเป็นอย่างไร

นอกเหนือจากการค้นหาประชาธิปไตยแบบไทยๆ กันแล้ว กระแสการเปลี่ยนแปลงโลกาภิวัตน์ ได้เปรียบเสมือนสิ่งที่คอยมากดดันให้สังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบอย่างที่ประเทศตะวันตกและประเทศที่พัฒนาแล้วอยากให้เป็น กระแสต่างๆ ที่กล่าวถึงนี้ได้แก่ ทุนนิยมและเสรีนิยม สิทธิมนุษยชน ธรรมาภิบาลและความโปร่งใส ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้กลายมาเป็นเครื่องมือในการต่อรอง กดดัน และแสวงประโยชน์ของประเทศตะวันตกบางประเทศ และประเทศที่เจริญแล้วต่อประเทศที่กำลังพัฒนา เช่นกรณีที่ชาติใดไม่มีธรรมาภิบาล มีการคอร์รัปชั่นสูงๆ ย่อมที่จะถูกใช้เป็นเงื่อนไขในการในการกีดกันการลงทุน

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าความจริงแล้วระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในความเป็นจริงนั้นจะขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละรัฐชาติ ไม่ได้มีลักษณะที่เป็นปทัสถาน หรือ Norm หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ บรรทัดฐาน ที่เหมือนกันทุกชาติ หากแต่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้นจะมีลักษณะที่มีความสอดคล้องกับบริบทของประเทศนั้นๆ โดยบริบทที่ว่านี้จะประกอบไปด้วยองค์ประกอบหลักๆ คือ คุณภาพของประชากร ที่ตั้งประเทศ (ว่าอยู่ในสภาพอากาศอย่างไร) วัฒนธรรม ศาสนา สภาพเศรษฐกิจ ค่านิยมความเชื่อของประชากรในประเทศ และอื่นๆ

ทุกวันนี้หากจะว่าไปแล้ว ความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้ส่วนหนึ่งแล้วมีรากของปัญหาที่เกิดจาก ความไม่รู้จักในระบอบประชาธิปไตย และความไม่เข้าใจในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ความเข้าใจในประชาธิปไตยแบบไทยๆ จึงทำให้การแสวงประโยชน์ของนักการเมืองที่มีวาระซ่อนเร้น และการเรียกร้องต่างๆ ของการเมืองภาคประชาชนมีลักษณะเป็นกระแสที่คล้อยตามผู้ที่ชักจูงให้เป็นไปตามผลประโยชน์ที่กลุ่มผู้ชักจูงต้องการได้ง่าย หรือจะว่าไปแล้วคนไทยและสังคมไทยยังคงต้องการผู้นำที่มาช่วยนำพาให้ตนเองพ้นจากปัญหาต่าง หรืออีกนัยหนึ่งคือ รากของวัฒนธรรมไทยที่มีมาแต่ช้านานโบราณกาลนั้นมีส่วนทำให้สังคมของคนหมู่มากในสังคมไทยมีความต้องการผู้นำหรือกลุ่มคนที่มาทำหน้าที่ในการปกครองบริหาร มากกว่าที่จะต้องทำอะไรเองโดยไม่มีใครชี้นำ

ณ วันนี้ถึงแม้สังคมไทยดูจะวุ่นวายแต่ถ้ามองในเชิงบวกแล้ว ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่มีวิวัฒนาการในตัวของมันเอง หลายสิ่งหลายอย่างอาจจะต้องใช้เวลา หลายสิ่งหลายอย่างคนส่วนใหญ่อาจจะไม่เห็นด้วย แต่นั่นแหละก็คือหนึ่งในกระบวนการในการปรับเปลี่ยนไปสู่สังคมแบบประชาธิปไตยที่มีความสอดคล้องกับความเป็นไทย ยังไงยังไงก็คนไทยด้วยกันจะทำอะไรก็ขอให้คิดกันมากๆ นะครับ................


ดร.ธีรนันท์ นันทขว้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น