วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เจิมศักดิ์ขอคิดด้วยฅน

อนาคตสื่อในมือระบอบทักษิณ (เจิมศักดิ์ขอคิดด้วยฅน)


บริษัทสื่อยักษ์ใหญ่ดำเนินการเลิกจ้างนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นับเป็นกรณีล่าสุดที่ตอกย้ำถึง "ความไม่ปกติ" ในแวดวงสื่อมวลชนและการเมืองบ้านเรา

เพราะคุณประสงค์นั้น เป็นนักข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน วิเคราะห์เจาะลึกประเด็นทุจริตและการกระทำผิดของนักการเมือง มืออันดับหนึ่งของประเทศไทย เชื่อกันว่าไม่เป็นที่โปรดปรานของทักษิณ ชินวัตร ผู้เคยถูกประสงค์สาวไส้เงื่อนงำการซุกหุ้น (เช่นเดียวกับที่ประสงค์เคยทำหน้าที่ตรวจสอบนักการเมือง ไม่ว่าจะกรณีทุจริตธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ (บีบีซี) ของนักการเมืองกลุ่ม 16 หรือกรณีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินหนี้สินอันเป็นเท็จ จำนวนเงิน 45 ล้านบาท ของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์)

ล่าสุด ประสงค์ได้เขียนบทความตั้งคำถามกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะว่าที่นายกรัฐมนตรี แต่หลังจากนั้นมติชนก็ถอดเขาออกจากหน้าคอลัมน์ ถึงกระนั้น ประสงค์ก็เลือกที่จะนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงต่อไปในพื้นที่ส่วนตัวบนเว็บไซ ต์ "www.prasong.com" เช่น เปิดคำให้การ ก.ล.ต.จากกองทุนลับ "ซิเนตร้า" ถึง "วินมาร์ค" สวน "ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ-พจมาน", พลิกแฟ้มคำให้การ "ยิ่งลักษณ์" กรณี "วินมาร์ค" อุ้มครอบครัวชินวัตร? รวมถึงการเปิด จม.ประวัติศาสตร์ "Secret Nominee" จุดชนวนมหากาพย์ซุกหุ้น "ทักษิณ" ฯลฯ

ประสงค์ถูกย้าย ถูกลดบทบาท ถูกถอดออกจากคอลัมน์ เท่านั้นยังไม่พอ ยังถูกดำเนินการเลิกจ้างในที่สุด

ยิ่งกว่านั้น ยังปรากฏรายงานข่าวออกมาว่า ภายหลังจากเลิกจ้างประสงค์ วันรุ่งขึ้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เดินทางไปร่วมรับประทานอาหารกับผู้บริหารของบริษัทสื่อ ยักษ์ใหญ่ดังกล่าวด้วย

กรณีนี้ นับเป็นเรื่องที่สมาคมวิชาชีพสื่อสารมวลชนและผู้เกี่ยวข้องจะต้องเอาจริง

ข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร? การกระทำเช่นนี้เหมาะสมเพียงใด? หลักจรรยาบรรณและการคุ้มครองคนทำงานสื่อสารมวลชนจะศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร? ถ้าอำนาจการเมืองแทรกแซงสื่อได้ถึงขนาดสั่งปลดใครก็ได้? หรือใช้วิธีบีบ กดดัน เอาผลประโยชน์เข้าข่มขืนคนทำงานสื่อแบบมืออาชีพ รัฐธรรมนูญจะมีความหมายอะไร? และที่ว่า "แก้ไข ไม่แก้แค้น" จะมีความหมายใด?

เรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของคุณประสงค์ และไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวของคุณประสงค์ เพราะในส่วนที่เป็นเรื่องส่วนตัว คุณประสงค์ก็คงได้เจรจาพูดคุยกับบริษัทยักษ์ใหญ่รายนั้นไปแล้ว

แต่สิ่งที่เป็นผลประโยชน์ส่วนรวมก็คือ ต่อไปนี้ การทำหน้าที่สื่อสารมวลชนในประเทศไทย คนไทยทั้งประเทศจะสามารถไว้วางใจได้แค่ไหนว่า สื่อจะไม่ "เซ็นเซอร์ตัวเอง" หรือถูกครอบงำ แทรกแซง บงการ เพื่อกำหนดวาระข่าวสาร ทิศทางข่าวสาร ตลอดจนสร้างกระแสชี้นำสังคมไปในทิศทางที่เป็นผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจการ เมือง

นี่จึงเป็นภาระหน้าที่โดยตรงของสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ จะนิ่งดูดายไม่ได้เด็ดขาด

กรณีนี้ไม่ใช่กรณีแรก และคงไม่ใช่กรณีสุดท้าย

ก่อนหน้านี้ เคยมีกรณีปัญหาทำนองอย่างนี้มาแล้ว หลายกรณี ทบทวนความจำสั้นๆ ดังนี้

1) กรณีนักการเมืองแทรกแซง แทรกซื้อ และบงการสื่อในช่วงเลือกตั้ง

คงจำได้ว่า มีการปูดอีเมล์ลับ ในหัวข้อ "จดหมายถึงท่านพงษ์ศักดิ์?" และ "ข้อเสนอ วิม" ที่อ้างว่าเป็นอีเมล์ของกุนซือ "คุณปู" ระบุถึงการให้เงินสื่อ พร้อมเลี้ยงข้าว-เหล้า บางส่วนบอกถึงขั้นว่า

"สำหรับหน้าที่ ที่ผม และน้องสุธิศา รับผิดชอบช่วยคุณปูอยู่ในขณะนี้

1.แจ้งประเด็นให้คุณปู ทราบทุกวันว่าวันนี้มีประเด็นอะไร ประเด็นไหนที่แรง ให้โยนไปให้ทีมคุณนิวัติธำรงค์ ช่วยแนะนำ

2.เช็กประเด็นจากสื่อมวลชน ว่าจะถามอะไรคุณปู เพื่อให้คุณปู เตรียมตัวให้พร้อมที่จะพูด

3.สร้างประเด็น หรือ ภาพกิจกรรมในพื่นที่หาเสียงเพื่อให้ได้ภาพหน้า 1 ทุกวัน

4.ประสานหัวหน้าข่าว และ โต๊ะข่าวการเมืองว่าต้องการภาพแบบไหน เพื่อส่งให้ทุกวัน

5.ประสานสำนักข่าวต่างประเทศเพื่อให้ตามคุณปู ลงพื้นที่เพื่อให้ข่าวคุณปูออกไปทั่วโลก

6.ประสานสำนักข่าวในประเทศ เพื่อให้พรรค(คุณนิวัตธำรงค์) จัดบุคคลไปตอบคำถามในทีวี

ส่วนเรื่องดูแลสื่อในขณะนี้ ผมพยายามประคองกระแสให้ข่าวและรูปของคุณปูอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ให้ได้ทุก วัน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์หัวสี ไทยรัฐ (พี่โมทย์) มติชน (พี่เปียก กับ พี่จรัญ) ข่าวสด (พี่ชลิต) เดลินิวส์ (พี่ป๊อป สมหมาย) คม-ชัด-ลึก (คุณโจ้ และปรีชา ที่มาสัมภาษณ์ ที่บ้านเมื่อสัปดาห์ก่อน) ซึ่งทุกคนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี สัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว ผมช่วยดูแลไปแล้วที่ละ 2 หมื่น ส่วนผู้สื่อข่าว ทีวี ก็ใช้วิธีเลี้ยงข้าวบ้าง เลี้ยงเหล้าบ้าง ยังไม่ได้มีใครเรียกร้องอะไร ยกเว้น ช่อง 7 ที่ขอไวน์และเหล้า ส่วนเวลาไปต่างจังหวัด..."

เรื่องนี้ ทราบว่า สภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กำลังดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ขณะนี้ ยังไม่ปรากฏความคืบหน้า

ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก เพราะหากสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ไม่สามารถตอบคำถามสังคมได้ หรือเอาผิดใครไม่ได้เลย ก็ยากที่สังคมจะมีความเชื่อถือ เชื่อมั่นได้อีกต่อไปว่า สภาวิชาชีพสื่อมวลชนจะทำหน้าที่ดูแลมาตรฐานการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนใน ประเทศไทยให้มีความน่าเชื่อถือได้อย่างไร

อันที่จริง สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ตลอดจนสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ฯ (และอาจจะรวมถึงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ) ก็คงไม่อาจปัดหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเองไปได้ เพราะประเด็นและตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้นกระทบกระเทือนและเกี่ยวพันไปถึง สื่อหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ ตลอดจนสิทธิในด้านข้อมูลข่าวสารของสาธารณชนที่จะต้องได้รับการคุ้มครองอย่าง ชัดเจน

2) กรณีสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส รายการตอบโจทย์ ที่ถูกร้องเรียนไปยังคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน

ประเด็นปัญหาปรากฏตามหนังสือร้องเรียนที่นำมาให้พิจารณา ดังต่อไปนี้




เรื่องนี้ ปรากฏว่า รายการตอบโจทย์ก็ได้ไปเชิญฝ่ายที่กล่าวหามาออกอากาศด่าซ้ำอีกครั้งจริงๆ

หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2554 นายสมชัย สุวรรณบรรณ ประธานอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ได้มีหนังสือแจ้งผลการร้องเรียนกลับมา โดยมีเนื้อความสาระสำคัญบางตอนระบุว่า


อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีปัญหากรณีนี้ ก็ปรากฏว่า รายการตอบโจทย์ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก กรณีให้ทีมงานและผู้ดำเนินรายการเดินทางไปสัมภาษณ์ผู้หลบหนีโทษจำคุกตามคำ พิพากษาของศาลฎีกาฯ ผู้ต้องหาคดีทุจริต และคดีร้ายแรงอีกหลายคดี แถมยังโจมตี ใส่ร้ายกระบวนการยุติธรรมและศาลยุติธรรมของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ "ทักษิณ ชินวัตร" ณ ดูไบ

นำมาออกอากาศในช่องไทยพีบีเอส ถึง 2 ตอน ทั้งๆ ที่ เป็นสถานีโทรทัศน์ที่ประกาศตัวจะเป็นผู้นำการยกระดับมาตรฐานจรรยาบรรณ วิชาชีพ มากกว่าจะแข่งขันดึงดูดคนดูด้วยความหวือหวา

แนวทางปฏิบัติเพื่อธำรงจริยธรรมวิชาชีพการผลิต การจัดหา และการเผยแพร่รายการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ข้อ 11.4 ระบุว่า

"ไม่ควรสัมภาษณ์อาชญากร หรือผู้ที่มีพฤติกรรมเป็นอาชญากร แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องสัมภาษณ์ ควรขออนุมัติจากผู้บริหารฝ่ายข่าวหรือรายการก่อน และแม้ได้รับการอนุมัติแล้วก็ต้องระมัดระวังไม่ให้เนื้อหาการสัมภาษณ์ส่อไป ในทางสร้างความโดเด่น ความชื่นชอบในอาชญากร ไม่เสนอเนื้อหาทางเทคนิคหรือขั้นตอนกระบวนการของการกระทำผิด ที่อาจทำให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบ และไม่นำเสนอให้เห็นเป็นการแทรกแซงหรือลบหลู่กระบวนการยุติธรรม"

ก็หวังว่า ไทยพีบีเอสจะเร่งดำเนินการให้เกิดการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เพื่อยกระดับคุณภาพ และมาตรฐานจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อสารมวลชนยิ่งขึ้นโดยเร็ว

3) กรณีปัญหาทั้งหลายที่หยิบยกขึ้นมาข้างต้น สะท้อนถึงปัญหาในแวดวงสื่อมวลชน ในยุคที่นักการเมืองผู้นิยมการแทรกแซง ครอบงำ บงการสื่อมวลชนเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของตนเอง กำลังจะกลับมามีอำนาจในบ้านเมือง

ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวข้างต้น ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของนายประสงค์ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของบริษัทสื่อมวลชนที่ถูกอ้างถึงในอีเมล์ และไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของนายเจิมศักดิ์ แต่เป็นประโยชน์ของสาธารณะในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนผู้อ่าน หนังสือพิมพ์ ผู้ดูโทรทัศน์ และติดตามข่าวสารบ้านเมือง โดยที่สาธารณชนควรจะต้องได้รับหลักประกันว่า ข้อมูลข่าวสารที่สื่อนำเสนอออกมานั้นจะอยู่บนพื้นฐานการทำหน้าที่อย่างมี จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ และมีคุณภาพ

มิใช่ข้อมูลข่าวสารที่ผ่านการคัดกรอง ปรุงแต่ง ใส่สีตีไข่ ภายใต้การบงการ สั่งการ แทรกแซง หรือกำหนดโดยฝ่ายการเมืองผู้มีผลประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝง โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องและความเป็นมืออาชีพ

หลังจากวันนี้ไป... สังคมไทยจะต้องเฝ้าระวังว่า อนาคตสื่อในมือระบอบทักษิณ จะเสกสร้างหรือโฆษณาชวนเชื่อ ยอมตกเป็น "หมาล่าเนื้อ" ให้นักการเมืองที่ต้องการจะล้มล้างความผิดแก่ตนเองและพวกพ้อง

หรือจะมีใครยังทำหน้าที่ "หมาเฝ้าบ้าน" (watch dog) อีกสักเท่าใด?

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น