วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การกลับมา ของระบอบทักษิณ

การกลับมา ของระบอบทักษิณ
รายงานพิเศษ15 สิงหาคม 2554 - 00:00

ชำแหละการยุติคดีภาษีชินคอร์ป
มูลค่าหมื่นหนึ่งพันล้านบาทของชินวัตร

ความสับสน (โดยสุจริต?) ของกรมสรรพากร
กรณียุติคดีภาษีขายชินคอร์ป-ชินวัตร

1.ความเข้าใจเบื้องต้น
ธุรกิจโทรคมนาคมของตระกูลชินวัตรเป็นธุรกิจสัมปทานผูกขาด พ.ต.ท.ทักษิณนำหุ้นชินคอร์ปเข้าสู่ตลาดเมื่อปี 2538 จน 10 ปีผ่านไป หุ้นชิน 49% ที่ชินวัตรเก็บไว้ในมือในราคาทุนหุ้นละ 1 บาท ก็ขายให้แก่ทุนสิงคโปร์ได้ในราคาหุ้นละ 49.25 บาท ได้กำไรกว่า 7 หมื่นล้านบาท
การขายธุรกิจสัมปทานของประเทศให้แก่ต่างชาติ ได้กำไรมหาศาลแล้วยังไม่เสียภาษีเงินได้แม้แต่บาทเดียวเช่นนี้ หลังรัฐประหารของ คมช.ในปี 2549 แล้วก็มีการตรวจสอบโดย คตส. จนพบหลักฐานว่า หุ้น 49% นี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงถือประโยชน์อยู่ทั้งทางตรงและทางอ้อม ผ่านชื่อบุตรและพี่น้อง จึงได้มีการดำเนินคดีติดตามมาเป็นสามระบบกฎหมายด้วยกันคือ

กฎหมายภาษีเงินได้

กฎหมายเอาโทษการให้ข้อมูลเท็จ
(กม.หลักทรัพย์-กม.อาญา)
หุ้นชิน-ชินวัตร กฎหมายปราบคอรัปชั่น
๔๙% (กม.ป.ป.ช.-กม.อาญา )

ภาพข้างต้นต้องการชี้ให้เห็นว่า เมื่อนักการเมืองซุกหุ้นสัมปทาน แล้วมีการใช้อำนาจรัฐทำนุบำรุงธุรกิจของตนโดยมิชอบ จนขายได้กำไรมากมายโดยไม่เสียภาษีนั้น จะมีกฎหมายเข้ามาตรวจสอบสามระบบด้วยกัน ทั้งตรวจคอรัปชั่น ตรวจภาษี และตรวจการหลอกลวงพร้อมๆ กันทั้งสามขนาน โดยแต่ละขนานเปรียบได้กับแว่นขยายที่จะ มีหลักมีระเบียบวิธีคิดเป็นของตนเองไม่ขึ้นแก่กัน การเอาผลในคดีคอรัปชั่นมาใช้ปะปนกับคดีภาษีเงินได้ จนสั่งยุติคดีภาษีขายหุ้นชินคอร์ปส่วนแอมเพิลริชของตระกูลชินวัตร หมื่นกว่าล้านบาทจึงไม่ถูกต้อง ดังจะขอขยายความโดยลำดับดังนี้
คดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการตรวจสอบการจัดการหุ้นชินของชินวัตร
ปัจจุบันได้มีการตรวจสอบจนเกิดมูลคดีต่างๆ ดังนี้
ตรวจสอบคอรัปชั่น
1.คดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท ตามกฎหมาย ป.ป.ช. คดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาว่ามีการซุกหุ้นชิน 49% ของชินวัตร แล้วมีการใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ธุรกิจชินคอร์ปโดยมิชอบ 5 มาตรการ รัฐเสียหายกว่าแสนล้านบาท จึงเป็นการได้ประโยชน์โดยมิสมควร ให้ยึดเงินค่าขายหุ้นที่ได้มา 4.6 หมื่นล้านบาท
2.คดีขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีโดยยังคงถือไว้ซึ่งหุ้นธุรกิจสัมปทาน คดีนี้เป็นผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช.มีสองกระทง นำขึ้นฟ้องต่อศาลฎีกาแล้ว แต่พักไว้รอให้ได้ตัวจำเลยก่อน
3.คดีแจ้งบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ 5 ครั้ง เป็นผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช.คดีนี้ยังอยู่ที่ ป.ป.ช.
4.คดีทุจริตตาม ป.อาญา มาตรา 154 ที่ให้เอ็กซิมแบงก์ให้พม่ากู้เงินเพื่อนำไปซื้อสินค้าธุรกิจชินคอร์ป คดีนี้ฟ้องแล้วรอให้ได้ตัวจำเลย
(ยังมีคดีอาญาที่ไม่เกี่ยวกับหุ้นชิน 2 คดี คดีแรกตัดสินจำคุกแล้ว 2 ปี คือคดีสมรู้ให้ภริยาซื้อที่ดินรัชฎาฯ ของราชการ คดีที่สองอยู่ที่ ป.ป.ช. คือคดีสั่งการให้ธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อโดยทุจริต 8 พันล้านบาท)
ตรวจสอบการให้ข้อมูลเท็จ
5.การซุกหุ้นชิน 49% จากปี 2543–2549 ทำให้คนในตระกูลชินวัตรต้องร่วมกันแสดงข้อมูลอันเป็นเท็จหลายกาลโอกาส จนมีมูลความผิดหลายมาตราและหลายกระทงด้วยกัน แต่ก็ขาดอายุความไปเกือบหมดแล้ว เหลือให้ดีเอสไอพิจารณาสืบสวนตามคำร้อง คนท.อยู่เพียง 2 คดีเท่านั้นคือ การให้ข้อมูลในหนังสือชี้ชวนเป็นเท็จ และการให้ข้อมูลเท็จต่อ ก.ล.ต. เรื่องการซื้อหุ้นชินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คดีกลุ่มนี้ทั้งหมด นายธีรชัย รัฐมนตรีคลังปัจจุบันสมัยเป็นเลขา ฯ ก.ล.ต. แถลงว่า ก.ล.ต.ยุติคดีหมดแล้ว
6.การให้ข้อมูลเท็จต่อ คตส.และต่อศาลฎีกา ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ทำให้เกิดมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาสองคดี ทั้งสองคดีนี้ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสืบสวนของดีเอสไอ ตามคำร้อง คนท.
(พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงเคยถูก ก.ล.ต.กับดีเอสไอกล่าวหากรณีนำ บริษัทเอสซีแอสเสทเข้าตลาดหลักทรัพย์โดยแจ้งข้อมูลผู้ถือหุ้นเป็นเท็จแต่อัยการสั่งไม่ฟ้อง โดยอธิบดีดีเอสไอถูกรัฐบาลสมัครสั่งย้ายด้วย)

ตรวจสอบภาษีเงินได้
1.ตามแผนผังประกอบการ์ตูนที่จะนำเสนอต่อไปนี้ จะพบรายละเอียดว่า ก่อนขายหุ้น 49% ให้เทมาเส็ก 1 วัน คือในวันที่ 18 มกราคม 2549 นั้น ชินวัตรมีชื่อถือหุ้นชินอยู่สองลักษณะ 38% แรกถือโดยชื่อบุคคลธรรมดามาตลอด อีก 11% ที่เหลือ พ.ต.ท.ทักษิณได้ใช้เงิน 1 ดอลลาร์ จัดตั้งบริษัทเล่นหุ้นขึ้น 1 บริษัทตามกฎหมายเกาะบริติชเวอร์จิ้น ชื่อบริษัท “แอมเพิลริช” แล้วขายหุ้น 11% นี้ให้แอมเพิลริชในราคาทุน แล้วมีชื่อถือหุ้นก้อนนี้มาตลอดจนปี 2549 (ดูแผนผังหน้า 5)
2.โดยสภาพข้างต้น ถ้าให้ผู้มีชื่อทุกรายขายหุ้นชินในชื่อของตนให้แก่เทมาเส็กตรงแล้ว หุ้น 38% จะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้เพราะมีกฎหมายยกเว้นภาษีให้ในกรณีที่ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และขายโดยบุคคลธรรมดา ส่วนหุ้น 11% ที่ถือโดยแอมเพิลริชนั้น ต้องเสียภาษีกว่าสองพันล้านบาท เพราะเป็นการขายโดยนิติบุคคล
เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีข้างต้น จึงมีความพยายามเลี่ยงภาษีโดยทำเป็นให้แอมเพิลริชขายหุ้นชิน 11% นี้ให้แก่กรรมการบริษัท คือ โอ๊ค–เอม ในราคาทุนหุ้นละ 1 บาทก่อน (ขายราคานี้ แอมเพิลริชไม่มีกำไร จึงไม่เกิดภาษี) จากนั้น ในวันรุ่งขึ้นจึงใช้ชื่อ โอ๊ค–เอมขายหุ้น 11% นี้ให้เทมาเส็กพร้อมหุ้นอื่นๆ ในคราวเดียวกันในราคาหุ้นละ 49.25 บาท เป็นเงิน 7.3 หมื่นล้านบาท ได้กำไร 7 หมื่นล้านบาทโดยไม่ต้องเสียภาษีแม้แต่บาทเดียวในที่สุด (ดูแผนผังหน้า 6)

พ.ต.ท.ทักษิณซุกหุ้นชิน 49% ในปี 2543 เพื่อขึ้นเป็นนายกฯ ในปี 2544

ความเป็นนิติบุคลของ AR Iช่วยให้ทักษิณจัดการหุ้นชินเป็นการลับได้ในรายงานประจำปีจะมีแต่ชื่อ UBS สิงคโปร์ถือหุ้นชินแทนคนคนหนึ่งที่ระบบตลาดหุ้นไทยไม่มีสิทธิ์รู้ (เพราะยูบีเอสอยู่นอกอำนาจ กม.ไทย) แม้ต่อมาจะรู้ว่าเป็น ARI หรือ WINMARK ก็ไม่รู้อีกว่าใครถือหุ้น (เพราะยูบีเอสมีสิทธิเก็บเป็นความลับ และบริษัททั้งสองอยู่ในระบบ กม.บริติชเวอร์จิ้น ที่ข้อมูลบริษัทเป็นความลับอีกเช่นกัน) ในภาพคือแผนผังการจัดการหุ้นที่ คตส.พยายามตรวจจนพบ การจัดการโยกย้ายหุ้นลักษณะต่างๆ ในสามบริษัท
การขายหุ้นชิน-ชินวัตร 49% ให้กองทุนเทมาเส็ก เมื่อ 20 มกรา. 49 และการหลีกเลี่ยงภาษีในส่วนหุ้นชิน-ชินวัตร-แอมเพิลริช
กฎหมายไทยมีบทยกเว้นภาษีเงินได้ จากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์โดยบุคคลธรรมดา ซึ่งถ้าชินวัตรนำหุ้นชิน 11% ของแอมเพิลริชขายตรงให้แก่เทมาเส็กแล้ว ก็จะต้องเสียภาษีเพราะเป็นการขายโดยนิติบุคคล เพื่อเลี่ยงภาษีกว่าสองพันล้านข้างต้นจึงจัดการให้แอมเพิลริชโดยกรรมการ (โอ๊ค, เอม และกาญจนาภา) ทำเป็นขายหุ้นในราคาเท่าทุนหุ้นละ 1 บาทให้แก่โอ๊ค-เอมก่อน วันรุ่งขึ้นจึงใช้ชื่อเด็กทั้งสองขายหุ้นนี้ให้แก่เทมาเส็กพร้อมหุ้นอื่นๆ อีกครั้งหนึ่ง หุ้นละ 49.25 บาทได้เงิน 7.3 หมื่นล้านกำไรกว่า 7 หมื่นล้าน โดยไม่เสียภาษีแม้แต่บาทเดียว

หุ้น 4 ชื่อนี้ขายตรงได้ ไม่เสียภาษี หุ้นบริษัท ต้องขายอ้อมเลี่ยงภาษี



โอ๊ค-เอมซื้อมาแล้ววันเดียวขายต่อไม่เสียภาษี

บริษัทกองทุนเทมาเส็ก รับซื้อหุ้นชิน-ชินวัตร 49%ทั้งหมด

2.การขายหุ้นชินที่เกิดเป็นคดีภาษี
ทางเดินหุ้นชิน-ชินวัตร-แอมเพิลริช เมื่อตรวจสอบหุ้นชิน-ชินวัตร 49% ที่ถูกรวมขายให้เทมาเส็กโดยไม่เสียภาษีแล้ว คตส.ก็พบว่ามีหุ้น 11% ของแอมเพิลริชเท่านั้น ที่มีปัญหาว่าควรจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จากกำไรกว่าหมื่นล้านทีได้จากการขายหรือไม่
อนุกรรมการตรวจสอบภาษีชินคอร์ปของ คตส. จึงได้ลงมือตรวจทางเดินของหุ้นชิน-ชินวัตร-แอมเพิลริช 11% ข้างต้น จนพบนิติกรรมที่เกี่ยวข้อง 4 นิติกรรมด้วยกันคือ
นิติกรรมที่ 1 ปี 2542 พ.ต.ท.ทักษิณขายหุ้นชิน 11% ให้แก่บริษัทแอมเพิลริช ในตลาดหลักทรัพย์มีการจ่ายเงินผ่านโบรกเกอร์ให้ผู้ขาย ในราคาหุ้นละ 1 บาท นิติกรรมนี้ พ.ต.ท.ทักษิณชี้แจงว่าเพื่อให้แอมเพิลริชนำหุ้นชินไปเข้าตลาดหุ้นนิวยอร์ก โดยมีงานวิจัยตลาดของบริษัทชินคอร์ปมาแสดงอย่างจริงจัง นิติกรรมนี้ ทั้ง คตส., อัยการ และศาลฎีกาไม่สงสัยว่าเป็นการซื้อขายจอมปลอม
นิติกรรมที่ 2 ปลายปี 2543 เป็นคำกล่าวอ้างโดยเลื่อนลอยในปี 2545 ของ พ.ต.ท.ทักษิณว่า ก่อนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในต้นปี 2544 นั้น ตนได้ขายบริษัทแอมเพิลริชให้บุตรชายแล้วในราคา 1 ดอลลาร์ ตนจึงขึ้นเป็นนายกฯ โดยมิได้ถือหุ้นสัมปทาน 11% นี้ โดยอ้อม อีกต่อไป นิติกรรมนี้ คตส.ตรวจพบว่าไม่จริง เพราะผู้เป็นบิดายังลงนามให้สถาบันการเงินต่างประเทศ จัดการหุ้นก้อนนี้มาตลอด และศาลฎีกาก็พิพากษาว่าเป็นจริงตามที่ คตส.ตรวจพบ (ตรงนี้ต้องสังเกตให้ดีว่า ศาลตัดสินว่าบริษัทแอมเพิลริชที่ถือหุ้นชิน 11% นี้เป็นของคุณทักษิณ ไม่ใช่ตัดสินว่าหุ้นชิน 11% เป็นของคุณทักษิณ การจะตัดสินอย่างนั้นได้ต้องปฏิเสธนิติกรรมที่ 1 ว่าไม่มีการขายหุ้นชินให้แอมเพิลริชเลย ซึ่งคดียึดทรัพย์ไม่มีประเด็นนี้เลย)
นิติกรรมที่ 3 เมื่อ 19 มกรา. 49 ที่ชินวัตรจัดการให้แอมเพิลริชขายหุ้นชิน 11% ให้บุคคลธรรมดาคือ โอ๊ค–เอมในราคาหุ้นละ 1 บาท รวม 320 ล้านหุ้น เพื่อนำไปขายให้เทมาเส็กที่รอซื้ออยู่แล้วในวันรุ่งขึ้นในราคาหุ้นละ 49.25 บาท นับเป็นขั้นแรกของการเลี่ยงภาษีอย่างชัดเจน
นิติกรรมที่ 4 เมื่อ 20 มกรา. 49 ที่เด็กทั้งสองคือ โอ๊ค-เอม ทำสัญญาขายหุ้นชิน 11% นี้ให้เทมาเส็ก ในราคาจริงจนชินวัตรได้กำไรไปในส่วนนี้หมื่นสองร้อยล้าน โดยไม่ต้องเสียภาษี สองพันกว่าล้านบาท เพราะอ้างว่าเป็นการขายในตลาดหลักทรัพย์โดยบุคคลธรรมดา
มติ คตส. กฎหมาย คตส.ระบุให้ คตส.มีอำนาจเสนอให้กรมสรรพากรเก็บภาษีได้ ซึ่งเมื่อพบพฤติการณ์เลี่ยงภาษีในนิติกรรมที่ 3 และที่ 4 ของหุ้นชิน-ชินวัตร-แอมเพิลริชข้างต้นนี้แล้ว คตส.ก็มีทางเลือกสองทางที่จะจัดการกับการเลี่ยงภาษีครั้งนี้ คือ
1.นิติกรรมอำพราง? คือชี้ว่ามีนิติกรรมแท้จริงในช่วงท้าย ก็คือการขายหุ้นชินจากแอมเพิลริชให้แก่เทมาเส็กเพียงนิติกรรมเดียว ส่วนนิติกรรมที่ 3-4 นั้นมีขึ้นมาเพื่อนำบุคคลธรรมดามาโผล่เป็นคนขายแทนนิติบุคคลจะได้ไม่เสียภาษีเท่านั้นเอง ถ้าถือตามนี้ ก็ต้องฟ้องตามนิติกรรมจริงว่า แอมเพิลริชเป็นผู้ขายตรงและมีเงินได้ที่ต้องเสียภาษี โดยฟ้องเรียกภาษีทั้งจากแอมเพิลริชและเจ้าของ
2.แอมเพิลริชโอนประโยชน์จากหุ้นชินที่ถือไว้ให้เจ้าของ? คือชี้ว่าการที่คนของบริษัทซื้อสมบัติบริษัทในราคาถูกนั้น ต้องถือว่าได้เงินได้จากบริษัทไม่ต่างจากปันผลหรือโบนัส ดังนั้น คนที่ซื้อหุ้นชิน ราคาหุ้นละ 49.25 บาท ในราคา 1 บาท เมื่อวันที่ 19 มกราคม จึงเป็นผู้มีเงินได้ตรงส่วนต่างหุ้นละ 48.25 บาทนั้น
ในทางเลือก 2 ทางข้างต้น คตส.เลือกทางเลือกที่สอง คือฟ้อง โอ๊ค-เอมว่าเป็นกรรมการบริษัทแล้วซื้อสมบัติบริษัทในราคาถูกต่ำว่าตลาดอย่างยิ่ง ส่วนต่างที่ว่านี้จึงมีค่าเป็นเงินได้ของคนทั้งสองไม่ต่างจากโบนัส ซึ่งเมื่อ คตส.เสนอไปแล้ว กรมสรรพากรก็เห็นด้วย จึงดำเนินการประเมินภาษี และฟ้องเรียกภาษีจากลูกคุณทักษิณด้วยอำนาจและความรับผิดชอบกรมเมื่อปี 2551 พร้อมทั้งติดตามอายัดทรัพย์ของทั้งสองคนไว้กว่าพันล้านบาท
ทฤษฎี “การใช้กฎหมายอย่างเป็นระเบียบ” หลังจากมีมติในคดีภาษีชินคอร์ปไปแล้ว ผลการตรวจสอบการถือหุ้นชินก็ทยอยออกมาว่าพบหลักฐานว่าเป็นการซุกหุ้นชัดเจน อีกทั้งยังมีการใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ธุรกิจนี้โดยมิชอบถึง 5 มาตรการอีกด้วย จึงควรไต่สวนเป็นคดียึดทรัพย์ยึดเงินขายหุ้นได้
ถึงตรงนี้ คตส.ก็ต้องปรึกษากันอย่างหนักว่า การกล่าวหาว่าแท้จริงคุณทักษิณถือหุ้นชินทั้งโดยตรงและโดยอ้อมผ่านชื่อบุตรและพี่น้องแล้วขอให้ศาลยึดทรัพย์นั้น จะขัดแย้งกับคดีภาษีเงินได้จากการขายชินคอร์ปที่ คตส.มีมติให้ประเมินภาษีจากลูกคุณทักษิณหรือไม่ ซึ่งก็ได้ข้อยุติข้างมาก ว่าคดีภาษีกับคดียึดทรัพย์คอรัปชั่นนั้น มีระเบียบกฎหมายที่แยกแยะจากกัน จะปฏิบัติด้วยมาตรฐานเดียวกันไม่ได้
คือคดีภาษีนั้นเมื่อพบเงินได้แล้ว รัฐก็มุ่งจะได้ภาษีจากเงินได้นั้นเป็นสำคัญ ไม่ได้มุ่งหาความผิดของผู้ใด ถ้าใครมีชื่อถือเงินได้ก็ประเมินจากผู้นั้น แม้จะสงสัยว่าเป็นนอมินีหรือตัวแทนเชิด สรรพากรก็ไม่จำเป็นต้องไปสืบเสาะเพราะไม่ใช่หน้าที่ สรรพากรมีอำนาจประเมินหรือฟ้องเรียกภาษีจากผู้มีชื่อนั้นได้เลยเว้นเสียแต่ว่า ผู้ถูกประเมินจะบ่ายเบี่ยงว่าไม่ใช่ของตนเท่านั้น
ในทางตรงข้ามสำหรับกฎหมายปราบคอรัปชั่นแล้ว จะมุ่งลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทุจริต ดังนั้น แม้พบว่าธุรกิจหนึ่งจะอยู่ในชื่อลูก ผู้ตรวจสอบก็ต้องขุดคุ้ยลึกลงไปให้ได้ว่าเจ้าหน้าที่ยังถือประโยชน์ในธุรกิจนั้นอยู่หรือไม่ ถ้าพบว่าใช่และมีการใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ ก็ต้องสรุปว่าเจ้าหน้าที่นั้นได้ประโยชน์โดยมิสมควรสืบเนื่องจากตำแหน่งหน้าที่แล้วเสนอให้ศาลยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยมิต้องสนใจเลยว่า ในคดีภาษีเงินได้นั้นสรรพากรจะประเมินภาษีใครในระหว่างลูกกับพ่อ เพราะนั่นเป็นงานหาเงินเข้ารัฐไม่ใช่งานปราบคอรัปชั่นไม่
เมื่อแยกแยะเห็นเป็นหลักการใช้กฎหมายอย่างเป็นระเบียบเช่นที่กล่าวมา คตส.จึงเดินหน้าดำเนินคดียึดทรัพย์ จนพนักงานอัยการนำขึ้นเป็นคดีฟ้องร้องต่อศาลฎีกา ซึ่งฝ่ายจำเลยก็ยกปัญหาสองมาตรฐานนี้ขึ้นมาโต้แย้งอีก แต่ศาลฎีกาท่านก็วินิจฉัยยืนยันตรงกับ คตส.ว่า ไม่ใช่เรื่องสองมาตรฐาน แต่เป็นเรื่องกฎหมายสองระบบที่มีระเบียบวิธีคิดต่างกัน จะใช้มาตรฐานเดียวกันไม่ได้

3.คำตัดสินศาลต้นและความผิดพลาดของกรมสรรพากร
คำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีภาษี หลังจากที่ศาลภาษีได้พิจารณาคดีภาษีที่กรมสรรพากรฟ้องเรียกภาษีหมื่นหนึ่งพันล้านบาทจากโอ๊ค-เอม ได้ระยะหนึ่ง ศาลฎีกาก็ได้มีคำพิพากษาในคดียึดทรัพย์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณยังถือประโยชน์ในธุรกิจชินคอร์ปดังนี้
1.ถือหุ้นชิน 38% อย่างบุคคลธรรมดา โดยใช้ชื่อบุตรและพี่น้องสี่คน ถือหุ้นแทน
2.ถือหุ้นบริษัทแอมเพิลริชแล้วบริษัทแอมเพิลริชถือหุ้นชิน 11% อีกชั้นหนึ่ง โดยใช้ชื่อโอ๊ค-เอมถือหุ้นแอมเพิลริชแทนตน
เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาลคดีภาษีจึงมีความเห็นว่า เนื่องจากโอ๊ค-เอมและ พ.ต.ท.ทักษิณ ล้วนเข้าเป็นตัวความในคดียึดทรัพย์ด้วย และคดีนั้นถึงที่สุดแล้ว (โอ๊ค-เอมเข้าไปคัดค้านในคดียึดทรัพย์ว่าบริษัทแอมเพิลริชเป็นของตน ) ดังนั้นตามกฎหมายวิธีพิจารณาความ ข้อเท็จจริงนี้ย่อมเป็นที่ยุติผูกพันผู้มีชื่อไปตลอด ศาลในคดีอื่นเช่นคดีภาษีจึงต้องฟังข้อเท็จจริงยุติตามศาลฎีกาด้วย
เมื่อสำคัญเช่นนี้แล้วศาลต้นในคดีภาษีจึงพิพากษายกฟ้องคดีหมื่นกว่าล้านนี้ โดยอธิบายว่าข้อเท็จจริงได้ยุติตามศาลฎีกาแล้วว่า โอ๊ค-เอมผู้เป็นจำเลยมิใช่เจ้าของเงินได้ตัวจริง
ทางเลือกที่ถูกต้องของกรมสรรพากร คำพิพากษาศาลต้นที่กล่าวมาเห็นได้ว่าขัดแย้งกับหลักกฎหมายรัษฎากร ที่ระบุให้กรมสรรพากรประเมินภาษีจากผู้มีชื่อ โดยไม่ต้องไปสนใจสืบเสาะหาเจ้าของตัวจริงเลย ด้วยเหตุนี้กรมสรรพากรจึงควรที่จะยื่นอุทธรณ์ให้คดีถึงที่สุด เพื่อรักษาระเบียบกฎหมายของตนไว้ โดยอุทธรณ์ว่าการประเมินภาษีผู้มีชื่อที่ทำไปนั้นก็ถูกต้องมีกฎหมายรองรับ จำเลยก็มิได้บ่ายเบี่ยงยกเป็นข้อต่อสู้เลยว่าหุ้นไม่ใช่ของตน ประเด็นว่าใครเป็นเจ้าของเงินได้จึงไม่มีในคดี ศาลฎีกาจะตัดสินอย่างไรจึงไม่เกี่ยวกับคดีนี้ และกรณีก็ไม่ใช่เรื่องความสงบเรียบร้อยที่ศาลภาษีจะยกขึ้นเองได้
หนทางที่กรมสรรพากรจะยอมตามศาลต้น ก็มีแต่การยอมรับอย่างเป็นข้อยกเว้นเท่านั้นว่า หลักให้ฟ้องผู้มีชื่อถือเงินได้นั้นเป็นหลักปกติ แต่เมื่อใดที่มีคำพิพากษาเป็นที่ยุติผูกพันผู้มีชื่อและเจ้าของตัวจริงแล้ว กรมก็ต้องประเมินจากตัวจริงตามความผูกพันที่ปรากฏขึ้นนั้น หากรับคำพิพากษาศาลต้นโดยจำกัดอย่างที่กล่าวมานี้ กรมก็พอที่จะรักษาระเบียบกฎหมายรัษฎากรไว้ได้ จากนั้นกรมจะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาแล้วหันมาประเมินภาษีจากคุณทักษิณ โดยอ้างทั้งคำพิพากษาศาลฎีกา และศาลต้นเลยก็ได้ ซึ่งจำเลยใหม่นี้ก็จะมีทรัพย์สินมากกว่าจำเลยเดิมมากเลยทีเดียว
ทางเลือกของอธิบดีสรรพากร ในชั้นแรกมีแต่การให้ข่าวว่ากรมสั่งไม่อุทธรณ์และคืนทรัพย์สินที่อายัดไว้ให้โอ๊ค-เอมแล้วเท่านั้น ส่วนจะฟ้องเรียกภาษีก้อนนี้จากคุณทักษิณหรือไม่ ก็กำลังพิจารณาข้อกฎหมายอยู่ ตรงนี้ก็ทำให้ถามกันมาก ว่าถ้าไม่อุทธรณ์ก็ต้องหมายความว่าฟ้องคุณทักษิณไปในตัว คือต้องเป็นการตัดสินใจในคราวเดียวกันเลย จะไม่อุทธรณ์แล้วมาคิดอีกทีว่าจะฟ้องคุณทักษิณดีหรือไม่ได้อย่างไรกัน เพราะศาลต้นก็ชี้แล้วว่า คุณทักษิณเป็นผู้มีเงินได้
สองวันให้หลังต่อมา คุณสาธิต อธิบดีกรมสรรพากร จึงออกมาแถลงใหม่ว่ากรมได้ตัดสินว่าจะไม่ฟ้องคุณทักษิณไปด้วยแล้ว แต่เหตุที่ไม่บอกก็เพราะเกรงจะเป็นปัญหาทางการเมือง ซึ่งตรงนี้ก็ทำให้น่าสงสัยมาก ว่าทำไมจึงแถลงกันลับๆ ล่อๆ แบบนี้
ในส่วนเหตุผลที่อ้างมานั้น ก็อธิบายว่าแม้กรมจะรับตรงกับศาลต้นว่าเงินได้เป็นของคุณทักษิณก็ตาม แต่กรมก็จะไม่ประเมินภาษีต่อไป โดยอ้างว่าเมื่อศาลฎีกาในคดียึดทรัพย์ได้ตัดสินแล้วว่าหุ้นชิน-ชินวัตรนี้เป็นของคุณทักษิณมาตลอด ดังนั้น คนขายหุ้นให้แก่เทมาเส็กจึงเป็นคุณทักษิณซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา คุณทักษิณจึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเพราะเป็นการขายในตลาดหลักทรัพย์โดยบุคคลธรรมดา
ความผิดพลาดของกรมสรรพากร พิเคราะห์แล้ว คำกล่าวอ้างของอธิบดีกรมสรรพากรข้างต้น คลาดเคลื่อนเกินไปจากคำพิพากษาอย่างชัดแจ้งกล่าวคือ
1.หุ้นชิน–ชินวัตร ก้อน 11% นี้ ทั้ง คตส., อัยการ และคู่ความทั้งปวงยอมรับกันแล้วว่าเป็นของบริษัทแอมเพิลริช ไม่มีใครและไม่มีประเด็นเกิดในคดีใดเลยว่าการที่คุณทักษิณขายหุ้นก้อนนี้ให้บริษัทแอมเพิลริชเมื่อปี 2542 นั้นเป็นนิติกรรมจอมปลอม พึ่งมีแต่อธิบดีนี้เท่านั้นที่มากล่าวอ้างในปี 2554 โดยเลื่อนลอยว่า หุ้นนี้ไม่เคยเป็นของใครเลยนอกจากคุณทักษิณ
2.ประเด็นในคดียึดทรัพย์ในส่วนหุ้นชิน-ชินวัตร-แอมเพิลริชนี้ คู่ความจะโต้แย้งกันตรงที่ว่า ที่คุณทักษิณอ้างว่าตนได้ขายแอมเพิลริชให้ลูกไปแล้วในปี 2543 นั้นเป็นจริงหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาก็ตัดสินว่าไม่จริง คุณทักษิณจึงถูกศาลวินิจฉัยว่าถือประโยชน์โดยอ้อมในธุรกิจชินคอร์ป 11% ผ่านบริษัทแอมเพิลริช หาใช่ตัดสินว่าหุ้นชิน 11% นี้เป็นของคุณทักษิณแต่อย่างใดไม่ เพราะในคดียึดทรัพย์เนื่องจากทุจริตโดยถือประโยชน์ทับซ้อนนั้น ศาลจะดูและตัดสินตรงที่การถือประโยชน์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมเท่านั้น การที่อธิบดีมาสรุปว่าศาลตัดสินชี้ขาดกรรมสิทธิ์ด้วย จึงเป็นเรื่องที่เกินคำพิพากษาอย่างชัดแจ้ง
3.ที่ถูกต้องนั้นเมื่อยุติกันแล้วว่า หุ้นชิน 11% นี้เป็นของนิติบุคคลชื่อแอมเพิลริช มาตั้งแต่ปี 2542 กรมสรรพากรก็พึงเล็งเห็นว่า
3.1) การให้บุคคลธรรมดามาซื้อหุ้นชินแอมเพิลริช ในราคาหุ้นละ 1 บาทแล้ววันรุ่งขึ้นก็ขายต่อให้เทมาเส็กในราคา 49.25 บาทโดยไม่ต้องเสียภาษี นี้ คือการเลี่ยงภาษีอย่างชัดเจนที่สุด กรมจะขาดภาษีในเงินได้ก้อนนี้ไม่ได้
3.2) คดีแรกนั้น กรมได้ตัดสินใจเลือกฟ้องว่า โอ๊ค-เอมเป็นกรรมการบริษัทแล้วซื้อสมบัติบริษัทในราคาถูก ซึ่งตามกฎหมายต้องถือเป็นเงินได้ชนิดหนึ่ง ดังนั้น หากกรมจะยืนอยู่ตรงเงินได้ก้อนนี้ต่อไป ก็ต้องฟ้องคุณทักษิณว่าเป็นเจ้าของบริษัทที่เชิดบุตรเป็นกรรมการแล้วให้บุตรซื้อหุ้นออกจากบริษัทแทนตน
3.3) อีกทางหนึ่งก็คือ ปฏิเสธไปเลยว่าไม่มีการขายหุ้นจากแอมเพิลริชให้โอ๊ค-เอม ธุรกรรมจริงมีธุรกรรมเดียวคือ การขายหุ้นจากแอมเพิลริชตรงไปยังเทมาเส็กในตลาดหลักทรัพย์ ผู้มีเงินได้จึงเป็นแอมเพิลริช และเป็นเงินได้ที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษี กรมจึงต้องประเมินภาษีจากแอมเพิลริชและเจ้าของตัวจริงคือ คุณทักษิณ
ทางเลือกระหว่าง 3.2) และ 3.3) นี่เอง คือทางเลือกในทางกฎหมายที่รอการตัดสินใจของกรมสรรพากรอยู่ ว่าจะฟ้องคุณทักษิณด้วยฐานเงินได้ใดหาใช่หลับตามองไม่เห็นแอมเพิลริช แล้วยุติคดีโดยอ้างว่าคุณทักษิณขายหุ้นของตนในตลาดอย่างที่กรมสรรพากรและกระทรวงการคลังได้กระทำไปแต่อย่างใดไม่
ถ้าหลับตาเห็นแต่บุคคลธรรมดาเท่านั้นอย่างนี้บ่อยๆ ไม่ช้าก็คงต้องเลิกระบบภาษีเงินได้นิติบุคคลไปเสียเลยจะดีกว่า

บทเรียนที่พึงสังเคราะห์
กระบวนการหาประโยชน์จากทุนชินคอร์ปของชินวัตร ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมานี้ เป็นมหากาพย์คอรัปชั่นที่ซับซ้อน ยืดเยื้อ และเสียหายยิ่งต่อบ้านเมือง ผู้นำเสนอบทวิเคราะห์นี้ก็เป็นหนึ่งใน คตส.และทีมงานที่ได้ทุ่มเทตรวจสอบนำกฎหมายมาทำความยุติธรรมให้ปรากฏ ทั้งคดีคอรัปชั่นและคดีภาษี จึงถือตนว่ามีส่วนได้เสียเฉพาะตนที่จะติดตามรักษาความยุติธรรมนี้ให้คงอยู่ต่อไป
การยุติคดีภาษีชินแอมเพิลริช หมื่นหนึ่งพันล้านบาทในครั้งนี้ เป็นการกลับมาของความอยุติธรรม ที่พึงเรียนรู้และสังเคราะห์เป็นบทเรียนได้ดังนี้
ทุจริตชินคอร์ป การลงทุนสร้างชินคอร์ปในเวลา 16 ปี เอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ 14 ปี เก็บไว้ไม่ขาย 49% แล้วยกล็อตขายให้ทุนสิงคโปร์จนได้กำไรกว่าเจ็ดหมื่นล้านบาทของตระกูลชินวัตรนี้ มองในแง่ตัวเลขก็นับว่าไม่เคยมีมาก่อนในประวัติการลงทุนของวิสาหกิจไทย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าฐานมูลค่าเพิ่มนี้ส่วนหนึ่งมาจากอำนาจผูกขาดตลาดโทรคมนาคม เหมือนกับรัฐผูกขาดการขนส่ง แล้วเอกชนได้สัมปทานสร้างถนนพหลโยธินแล้วเก็บค่าผ่านทางจากการขนส่งภาคเหนือทั้งภาคเลยทีเดียว การแก้กฎหมายเปิดช่องให้บริษัทของนายกรัฐมนตรีนำบริษัทไปขายให้ต่างชาติเพื่อได้สิทธิผูกขาดการขนส่งของชาติจึงเป็นปัญหาอย่างยิ่งเป็นข้อแรก
นอกจากฐานมูลค่าจากการผูกขาดแล้ว ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่ามาจากความเติบโตของตลาดโทรคมนาคมด้วย แต่ทำไมธุรกิจโทรคมนาคมชินคอร์ปจึงเติบโตทิ้งคู่แข่งร่วมยุคอย่างไม่เห็นฝุ่นนั้น คำตอบก็มาจากการใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐใต้อำนาจรัฐบาลนายกฯ ชินคอร์ป จำนวนห้ามาตรการ ที่ทำรัฐเสียหายไปกว่าแสนล้านบาทนั่นเอง
ด้วยเหตุดังกล่าว การใช้กฎหมายปราบปรามคอรัปชั่นของไทย จนสามารถเท่าทันยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทุจริตนี้ได้ จึงนับเป็นความสำเร็จไม่ต่างไปจากการยึดธุรกิจบ้านจัดสรร ที่ราชายาบ้านำเงินค้ายาบ้ามาฟอกลงทุนแต่อย่างใด
หนีภาษีขายชินคอร์ป การยึดทรัพย์สินในธุรกิจค้ายาบ้านั้น เป็นการลงโทษตัดตอนขบวนการค้ายาตามกฎหมายฟอกเงินที่มีระบบของตนเองอยู่ แต่ในขณะเดียวกันถ้าสรรพากรพบว่า ธุรกิจบ้านจัดสรรนั้นมีกำไรที่ต้องเสียภาษี สรรพากรก็มีหน้าที่ต้องเรียกเก็บจากบริษัทหรือลูกชายหัวหน้าค้ายาบ้าที่มีชื่อถือหุ้นบริษัทได้ โดยลูกหนี้ภาษีเหล่านี้จะอ้างมิได้เลยว่ารัฐได้ริบเงินได้ของตนไปแล้วตามกฎหมายฟอกเงิน และถ้าลูกหนี้เหล่านี้แพ้คดีเมื่อใดสรรพากรก็จะต้องเที่ยวยึดอายัดทรัพย์สินต่างๆ ของลูกหนี้มาชำระภาษีจนหมดตัวได้เลย
ในทำนองเดียวกัน แม้คุณทักษิณจะถูกยึดทรัพย์ที่ได้จากธุรกิจชินคอร์ปไปแล้วก็ตาม แต่ภาษีเงินได้จากการขายหุ้นชินของนิติบุคคลแอมเพิลริชก็ยังคงดำรงอยู่และเป็นหน้าที่สรรพากรจะต้องติดตามบังคับให้จงได้ การกล่าวอ้างว่าคุณทักษิณถูกยึดทรัพย์ชินคอร์ปไปแล้วก็ดี หรือโมเมเอาคำพิพากษาในคดียึดทรัพย์มาอ้างในคดีภาษีโดยเลอะเลือนจนยุติคดีไปเลยก็ดี ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการใช้กฎหมายโดยบิดเบือน นอกจากจะไม่เป็นธรรมต่อประชาชนผู้ยอมเสียภาษีด้วยดีแล้ว ก็ยังเป็นการทำลายครรลองการใช้กฎหมายรัษฎากรอย่างสำคัญ
คำตอบสุดท้ายอยู่ที่ไหน? ระบอบประชาธิปไตยต้องมีทั้งระบบผู้แทน และระบบนิติรัฐประกอบเข้าด้วยกันอย่างได้สมดุลย์ เหมือนเหรียญที่ต้องมีสองหน้า แต่กว่าทศวรรษที่ผ่านมานี้ระบอบทักษิณก็ได้นำอำนาจที่ได้จากระบบผู้แทนมาแย่งยึดครองพื้นที่ของระบบนิติรัฐอยู่ตลอดเวลา จนเมื่อถูกรัฐประหารและใช้รัฐธรรมนูญใหม่แล้ว ก็ยังเอาการเมืองท้องถนนมาอาละวาดแล้วกลับมาได้อำนาจจากระบบผู้แทนมาเสริมฐานอีกเช่นปัจจุบัน
ณ วันนี้ การรุกกลับทำลายระบบกฎหมายของบ้านเมือง ด้วยอำนาจและอิทธิพลการเมืองของระบอบทักษิณได้กลับมาอย่างไม่รีรอและชัดเจนยิ่งแล้ว คำชี้แจงปฏิเสธอันสวยงามของนายกฯ หญิงแสนสวย ที่ในอดีตได้เคยกล้าโกหกกลางศาลต่อหน้าผู้พิพากษาผู้ใหญ่ 9 คน ในคดียึดทรัพย์พี่ชายมาแล้วนั้น จึงเป็นเพียงลมปากที่เธอเผยอออกมาเป็นประจำทุกวันเท่านั้นเอง และในไม่ช้านี้ข้อเสนอนิรโทษกรรมคดีคอรัปชั่นคุณทักษิณ จะต้องปรากฏให้เห็นอย่างแน่นอน โดยเธอจะต้องบอกไม่รู้ไม่เห็นอีกเช่นเคยอยู่ดี
สังคมไทยจะวุ่นวายครั้งใหญ่หรือไม่ในศึกทักษิณครั้งสุดท้ายนี้ ส่วนหนึ่งและส่วนแรก ก็ขึ้นอยู่กับการลุกขึ้นมายืนหยัดในหน้าที่ของระบบตรวจสอบทั้งปวงที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นสำคัญ
เฉพาะการรุกกลับยุติคดีภาษีชิน-ชินวัตร-แอมเพิลริช ในครั้งนี้ ก็มีความผิดพลาดทางกฎหมายปรากฏชัดเจนยิ่ง ชัดเจนจนเกินกว่าที่ ป.ป.ช., สตง., คณะกรรมาธิการของทั้งสองสภาฯ จะเพิกเฉยไม่รู้ไม่เห็นได้อีกต่อไปแล้ว


การนิ่งเงียบงงงัน..โดยดุษณียภาพ..ไม่ทำอะไรเลย..... ของท่านผู้มีหน้าที่ตรวจสอบทั้งหลายในทุกวันนี้ จึงมีค่าไม่ต่างจากสุนัขเฝ้าบ้านที่ นอนมองหรือแกล้งหลับตา ปล่อยให้ขโมยรื้อบ้านไปขายทั้งหลังเลยทีเดียว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น