วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ปัญหาคอรัปชั่นเป็นวงจรอุบาทว์ เป็นหน้าที่ของทุกคนต้องแก้ไข

ปัญหาคอรัปชั่นเป็นวงจรอุบาทว์ เป็นหน้าที่ของทุกคนต้องแก้ไข (รศ.ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ)
ปัญหาคอรัปชั่นหรือภาษาไทยเรียกว่า "การฉ้อราษฎร์บังหลวง" เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำลายสังคมให้ย่อยยับทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ด้านการเมือง

การฉ้อราษฎร์บังหลวงสร้างความเลวร้ายต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะเงินที่นักการเมืองผู้มีอำนาจได้รับมา จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการซื้อสิทธิขายเสียง กล่าวคือ ผู้ต้องการดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ใช้เงินเป็นเครื่องมือ เมื่อสำเร็จก็ถอนทุนคืนด้วยการเบียดบังหลวง ที่เรียกว่าลาภมิควรได้ เมื่อได้เงินมา ก็เพิ่มบารมี และถึงคราวเลือกตั้งก็ใช้เงินที่ได้มา เป็นเครื่องมือในการซื้อสิทธิขายเสียง

ประชาชนก็เช่นกันยอมขายตัว ขายจิตและวิญญาณด้วยเงินอันน้อยนิด ส่งเสริมให้นักการเมืองขี้ฉ้อเหล่านั้นไปเสวยอำนาจและเบียดบังหลวงต่อไป ข้าราชการก็ไม่แตกต่างกัน มีการซื้อขายตำแหน่ง ทำให้คนดีมีความสามารถไม่อาจสู้เงินจากผู้ที่ไม่มีความสามารถได้ ทำให้การดำเนินงานของราชการอ่อนแอลง รวมทั้งเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างก็เช่นกัน สมัยก่อนได้ยินแต่วลีที่ว่า กินตามน้ำ ซึ่งไม่รุนแรงเหมือน กินทวนน้ำ หมายถึง ถ้าจะได้สินน้ำใจกับนักธุรกิจบ้าง ก็เรียกกินตามน้ำ แต่ถ้าเป็นการเรียกเงินสินบนด้วยตั้งราคาการอนุมัติเป็นเรื่องกินทวนน้ำ ปัจจุบันกล่าวกันว่าประเทศชาติเสียเงินงบประมาณซึ่งเป็นเงินจากเลือดเนื้อ ของประชาชนในรูปภาษีอาการเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งมีเสียงลือ ทั้งนักการเมืองและข้าราชการประจำเรียกเงินสินบนในแต่ละโครงการถึงร้อยละสาม สิบถึงห้าสิบ ผลก็คือ นอกจากรัฐต้องเสียเงินแล้วยังได้สิ่งของที่ด้อยคุณภาพด้วย

การคอรัปชั่นนี้ได้ขยายไปยังกลุ่มธุรกิจด้วยกันเอง และแม้ในวงการศึกษา ผลก็คือ การคอรัปชั่นสร้างความอ่อนแอด้อยคุณภาพทั้งวัตถุที่ได้รับและคุณภาพของคนที่ เกี่ยวข้อง

ถ้าสังคมไทยยังปล่อยให้เหตุการณ์ดังกล่าวดำเนินต่อไปจะทำให้คนในสังคมเกิด ความเคยชินและเห็นว่า การคอรัปชั่นไม่ใช่สิ่งเลวร้าย ดังที่ปรากฎเป็นข่าวว่า เยาวชนมองปัญหาว่า ถ้าคอรัปชั่นแต่ทำให้ได้ผลงานก็ไม่เป็นไร ซึ่งเป็นการสร้างจิตสำนึกที่ชั่วร้ายต่อเยาวชน เป็นการทำลายทั้งเศรษฐกิจและสังคม

การคอรัปชั่นนั้นไม่ได้เกิดจากผู้รับหรือผู้ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เกิดจากการยินยอมทั้งผู้รับและผู้ให้ เสมือนปรบมือข้างเดียวไม่ดัง ฉะนั้นการแก้ไขปัญหาจะต้องทำพร้อมๆกันไป ทั้งจากฝ่ายผู้มีอำนาจ ฝ่ายที่ต้องการผลประโยชน์จากเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น การสั่งจ้างสั่งซื้อ ผู้ต้องการได้งานก็จะเสนอไปยังผู้มีอำนาจอนุมัติ และ/หรือผู้มีอำนาจอนุมัติตั้งข้อเรียกร้องอามิสสินจ้าง ถ้าทั้งสองฝ่ายตกลงกันเรื่องก็จบ

การแก้ไขปัญหานี้ไม่ใช่ด้วยกฎหมายแต่ฝ่ายเดียว ประชาชนทุกคนจะต้องมีส่วนร่วม โดยต้องไม่ทำตามวลีที่ว่า ธุระไม่ใช่ หรือมองแต่ประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง ประชาชนต้องรวมตัวเป็นกลุ่มพลังดำเนินการต่อต้านการคอรัปชั่นทุกรูปแบบอย่าง จริงจัง ดังตัวอย่างที่สภาหอการค้านำโดยประธานคือ คุณดุสิต นนทนาคร กำลังเริ่มดำเนินการ

นอกจากนี้การสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนต่อต้านด้วยการชี้นำ สั่งสอน อบรม และริเริ่มให้พวกเขาปฏิบัติในเรื่องใกล้ตัวจนเป็นนิสัย ควบคู่ไปกับการป้องกันและปราบปราม ผู้ใหญ่ต้องไม่ทำตัวดังนิทานสุภาษิตเรื่องแม่ปูกับลูกปู ถ้าทำได้ดังนี้ จะทำให้ผู้ที่รังเกียจการคอรัปชั่น อาจเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์

สุดท้ายนี้ ใคร่ขอยกตัวอย่างที่เป็นจริงในประเทศสวีเดนที่ประชาชนทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจ สอบ ตัวอย่างที่หนึ่ง นายทหารชั้นผู้ใหญ่นำรถยนต์ไปใช้ส่วนตัว ณ สถานที่ตากอากาศชายทะเล ประชาชนทำเรื่องถึงรัฐบาล นายทหารผู้นั้นถูกปลดฐานใช้พาหนะของราชการโดยมิชอบ ตัวอย่างที่สอง ประธานสหพันธ์กรรมกรคนหนึ่งถูกเพื่อนบ้านสงสัยว่ามีความเป็นอยู่เกินฐานะจึง ทำเรื่องแจ้งไปยังทางการให้ไปตรวจสอบ ผลคือพบเงินซุกอยู่ใต้ที่นอนจำนวนมาก เพราะการคอรัปชั่นและไม่เสียภาษี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น