วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เงินกับต้นทุนทางการเมืองของสังคมไทย

เงินกับต้นทุนทางการเมืองของสังคมไทย (ปราโมทย์ นาครทรรพ)
"Money is the mother's milk of politics. เงินคือน้ำนมแม่ของการเมือง" (On campaign contributions ว่าด้วยเงินบริจาคหาเสียงเลือกตั้ง)

"If you can't eat their food, drink their booze, screw their women and then vote against them, you have no business being up here. ถ้าคุณกินอาหารของเขา ดื่มเหล้าของเขา นอนกับผู้หญิงของเขา แล้วไม่สามารถลงคะแนนคัดค้านเขาแล้ว คุณก็ไม่สมควรจะมาอยู่บนนี้" (On lobbyists ว่าด้วย ล็อบบี้ยิสต์)

1.Jesse Marvin Unruh (September 30, 1922 -August 4, 1987), ประธานสภาผู้แทนรัฐคาลิฟอเนีย ดาวรุ่งพุ่งแรงแข่งกับอนาคตประธานาธิบดีเรแกน มีฉายาว่า Big Daddy Unruh เป็นผู้นำพรรคเดโมแครตระดับชาติของคาลิฟอเนีย ภายหลังเป็น California State Treasurer รัฐมนตรีคลังของรัฐคาลิฟอเนีย ซึ่งเป็นตำแหน่งเลือกตั้ง

.............................................................................


ผู้นำในระบบราชการและการศึกษาไทยน่า จะนับร้อยคนเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาเซ้าเทอร์นคาลิฟอเนีย หรือ USC ที่มีทีมฟุตบอลโด่งดัง ชื่อ The Trojan มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มี John F Kennedy School of Government ทีเลื่องชื่อ The University of Southern California Department of Political Science ก็มี the Jesse M. Unruh Institute of Politics ที่ลือชาเหมือนกัน

ทั้งสองแห่งนี้ หากใครอยากรู้เรื่องบทบาทของเงินในการเมืองอเมริกัน (Money in American Politics) ก็สามารถจะไปเรียนได้ถึงระดับปริญญาเอกและสูงขึ้นไปอีก(post doctoral) เนื้อหาของหลักสูตรก็คงจะไม่หนีกัน ที่ต่างกันก็คงจะเป็นบรรยากาศ ลวดลายของครู และคุณภาพของนักเรียน ท่านที่อยากรู้ก็ลองเปิด google ดู syllabus on Money in American Politics ก็คงจะรู้ว่าใครสอนอะไรอย่างไร

แม้ "เงิน"จะมีความสำคัญในการเมืองเหมือนกับ "น้ำนมแม่" แต่เงินก็เป็นเพียง 1 ในต้นทุนทางการเมือง (political capital) ซึ่งไม่มีใครรู้แน่ว่าคืออะไร และมีอะไรบ้าง อะไรสำคัญกว่ากัน รู้แต่ว่าเงินเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ แต่บทบาทของเงิน และต้นทุนทางการเมืองของอเมริกันและไทยต่างกันอย่างไร ตอบได้ว่าต่างกันแน่ๆ และต่างมากเสียด้วย

ผู้เขียนไปสนทนากับนักศึกษาปริญญาเอกกับคณาจารย์มหาวิทยาเอกชนมีชื่อแห่ง หนึ่งเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เรื่อง"ทุนทางการเมืองของสังคมไทย" ได้ประเมินผลตนเองว่า เกือบสอบตก สาเหตุก็คือความไม่แน่ใจว่า ตนเองควรจะไปพูดหรือไม่ เกรงว่าการไปพูดนั้นเท่ากับการส่งเสริมให้การเรียนปริญญาเอกแพร่หลายในเมือง ไทย ซึ่งผู้เขียนไม่เห็นด้วย ผู้เขียนอยากเห็นการทุ่มเทปฏิรูปการศึกษาไทยให้มีความยุติธรรมทั่วถึง สอดคล้องกับฐานะและความต้องการที่แท้จริงของบุคคลชุมชนและประเทศ และมีคุณภาพที่ดีพอที่จะทำให้ผู้ที่จบมัธยม 3 สามารถ "มีความรู้-อยู่กับบ้าน-การงานดี-มีความสุข-ทันยุคทันโลก" ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ และถ้าหากทำได้เช่นนั้น เราก็จะรักษาสถาบันครอบครัว ชุมชนหมู่บ้าน การปกครองท้องถิ่นไว้ได้ ให้เป็นทุนหรือรากฐานสำหนับพัฒนาการเมืองและเศรษฐกิจระดับประเทศต่อไป ตรงนี้ก็แปลได้แล้วว่า คุณภาพของประชาชน คือ ทุนทางการเมืองของประเทศ

ทุกวันนี้หรือนานมาแล้ว เมืองไทยเดินหน้าไปสู่ความล่มสลายเพราะการโกหกหลอกลวงและเอาเปรียบกันทั้ง ประเทศ ด้วยสิ่งที่ผู้เขียนเรียกสั้นๆว่า การคอร์รัปชั่นอำนาจและคดโกงบ้านเมือง ซึ่งมีอุปกรณ์ 2 อย่าง คือกำลังทหารและระบบราชการ กับทุน

เนื่องจากเราเป็นประเทศทุนนิยมล้าหลัง นายทุนหรือผู้มีทุน จึงจะมีโอกาสเป็นนาย ผู้ที่ยากจนหรือด้อยการศึกษาจึงต้องตะเกียกตะกายที่จะหาโอกาสเรียนสูงๆหรือ ทำงานดีๆ เพื่อจะได้มีโอกาสเปลี่ยนฐานันดรไปเป็นชนชั้นปกครองเต็มภาคภูมิ จะได้กอบโกยเอาอำนาจและทุนมาตุนไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้คนที่มีทุนมากกว่ามาแย่งชิงสิ่งที่ตนหามาได้ด้วยยาก

ที่ผู้เขียนยินดีไปพูดวันนั้นเพราะผู้เขียนชอบการแสวงหาความรู้และมีความ เคารพในตัวคณาจารย์และนักศึกษา ซึ่งผู้เขียนเห็นจากข้อมูลที่ส่งมาให้แล้ว พอจะอนุมานได้ว่า มีความตั้งใจจะเรียนรู้จริง

แต่ความยากลำบากอย่างหนึ่งในการสนทนาก็คือ ทุนหรือความรู้หรือความเข้าใจเรื่องทุนของเรายังไม่เพียงพอ ในขณะที่ทุนเองก็เป็นเรื่องที่เข้าใจยากมาก หนังสือเล่มหนึ่งของKarl Marx ที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองทั่วโลก ทั้งในประเทศและนานาชาติมีชื่อสั้นๆว่า ทุน ผู้เขียนไม่ได้ถามว่าทั้งนักศึกษาและคณาจารย์มีกี่คนที่ได้เคยอ่าน ดังนั้นจำเป็นจะต้องปูพื้นฐานทางทฤษฎีและความเป็นจริงต่างๆทางสังคมวิทยา จิตวิทยา ปรัชญา ฯลฯของสำนักดิดต่างๆ เสียก่อน

ความเข้าใจเรื่องทุนในสังคมไทยมีน้อยมาก เพราะเราเป็นสังคมกึ่งชนบทกึ่งเมือง จึงมักจะเข้าใจสิ่งที่มองเห็นจับต้องได้เป็นรูปธรรมเช่น เงิน ดีกว่าทุนซึ่งเป็นนามธรรม คนไทยจึงมีคำพังเพยว่า "มีเงินมีทองพูดได้ มีไม้มีไร่ปลูกเรือนงาม"

เป็นที่รู้กันว่าเงินเป็นปัจจัยชี้ขาดผลรวมในการเลือกตั้งของไทย ต่างกับอเมริกันที่เงินซึ่งถึงแม้จะเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้เหมือนกัน แต่ผลของการเลือกตั้งทั้งรวมและย่อยคือ รายบุคคล ขึ้นอยู่กับทุนทางการเมืองอื่นๆซึ่งมิใช่เงิน

เงินที่ซื้อการเลือกตั้งได้ก็คือ เงินที่ซื้ออำนาจรัฐได้ของไทย ก็ต่างกับของอเมริกันอีก คือของเรามีแหล่งที่มาจากนายทุนและพรรคพวกที่เป็นเจ้าของพรรคอย่างเดียว แต่ของอเมริกันมาจากกองเชียร์พรรคหรือกองเชียร์ผู้สมัครรายเล็กรายน้อย เมื่อรวมกันแล้วมากกว่าเงินบริจาคของกลุ่มผลประโยชน์หรือล็อบบี้ที่ Unruh พูดถึง และทุนที่ล็อบบี้ให้ ก็ใช่ว่าจะสั่งนักการเมืองอเมริกันที่นั่งอยู่ "บนนั้น"ได้ง่ายๆ เพราะนักการเมืองแบบ Unruh มีมากกว่านักการเมืองที่เป็นทาสนายทุนที่สั่งส.ส.ได้เหมือนกับระบบเผด็จการ ทุนนิยมพรรคสามานย์ตามคำนิยามของศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์

นางสดศรี สัตยธรรม 1ใน 5 กกต.อนุมานว่าการเลือกตั้ง 3 กรกฎาที่ผ่านมา ต้องใช้เงินหลายหมื่นล้านบาทต่อสู้กัน แต่นางสดศรีและคณะไม่ยักทำอะไร ทั้งๆที่รู้ว่าผู้สมัครทุกคนหากใช้เงินเกิน1 ล้าน5แสนบาทก็ถือว่าผิดกฎหมาย "เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้" ดังนี้ กกต.ก็สมควรวินิจฉัยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แต่กกต.ก็บังคับให้คนไทยเป็นไอ้และอีโกหกทั้งชาติเหมือนกับตนเอง แสดงว่าเงินสำคัญกว่า และนางสดศรีกับกกต.ทั้งคณะไม่มีค่าหรือมิใช่ทุนทางการเมืองของสังคมไทยแม้ แต่นิดเดียว

พระรักเกียรติ รักขิตธัมโม หรืออดีตฯพณฯนายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรมว.กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นอดีตนักโทษชายชั้นดีได้รับการปลดปล่อยภายใน 5 ปีจากการพิพากษาจำคุก 15 ปีฐานคอร์รัปชั่นเงินเพียง 5 ล้านบาท พระรักเกียรติเขียนสูตรการซื้ออำนาจรัฐไทยว่า สามารถทำได้โดยใช้เงินประมาณ3 หมื่นล้านบาท เอาจำนวนที่นั่งเสียงข้างมากในสภาหารดูก็จะรู้ว่า ส.ส.คนหนึ่งต้องใช้เงินเท่าไร จะได้เอาไปฟาดหัว กกต.ฐานทำให้ไทยเป็นชาติของ "ลูกอีโกหก"

พระรักเกียรติสรุปว่าการเลือกตั้งแบบนี้ มิใช่คำตอบของชาติ เพราะสู้เลือกตั้งด้วยเงินกันเสร็จแล้วยังต้องมาประมูลเก้าอี้รัฐมนตรีสู้ กันอีก พระรักเกียรติผ่านการเลือกตั้งมา 7 ครั้งชนะรวด ได้เก้าอี้รัฐมนตรี 5 ครั้ง และเล่าว่าเป็นรัฐมนตรีไทยเงิน 1 พันล้านไม่ต้องหา อยู่เฉยๆมันมาเอง รวมทั้งลาภยศอื่นๆและผู้หญิง แบบเดียวกับที่ Unruh เล่า ต่างกันที่ของไทยต้องคืนทุนและตุนกำไรเอาไว้ให้เจ้าของทุนครองประเทศต่อไป สรุปแล้วนักการเมือง พรรคการเมือง และรัฐบาล กลับมิใช่ทุน หากเป็นหนี้ทางการเมืองของสังคมไทยไป

คำวาทุนทางการเมือง คนไทยไปยืมมาจากคำฝรั่งว่า political capital ซึ่งเป็นคำที่ไม่มีในปทานุกรม และไม่มีฐานะเป็นศัพท์ในวิชารัฐศาสตร์ คำนี้มีที่มาจากคำพูดของประธานาธิบดีที่ได้ชื่อว่าทึ่มที่สุดของอเมริกา ผู้ที่พูดและเขียนผิดๆถูกๆเป็นประจำ ได้แก่ George W. Bush ซึ่งกล่าวภายหลังการเลือกตั้งปี 2004 ว่า เขาได้ earned political capital มาจากการเลือกตั้ง จึงจะต้องนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ตลอดสมัย ท่านผู้อ่านลองทบทวนผู้นำไทยดูมีใครที่อ้างทุนทางการเมืองอย่างเดียวกับ George W. Bush บ้าง

ทุนทางการเมืองดั้งเดิมหมายถึงราคาผู้นำที่ตีค่าโดยประชาชนว่าควรนั้นคนนี้ สมควรได้รับเลือกมากที่สุด เพราะมี 1,2,3,4ที่เป็นที่ชื่นชอบของประชาชน ทุนทางการเมืองของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับเวลา และสถานที่กับตัวบุคคล เช่น ผิวสีของโอบามาอาจเป็นทุนกับผู้เลือกผิวดำ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สังคมย่อมมีทุนทางการเมืองได้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์เคยอธิบายว่า ไทยเรามีทุนทางการเมืองต่ำ เพราะมูลค่าของนักการเมืองและประชาชนมีต่ำ ดังนั้น ทุนทางการเมืองของสังคมน่าจะหมายถึงคุณภาพของประชาชน ความเข้มแข็งมั่นคงของชุมชนและประเทศ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี องค์กรสถาบันและภาวะผู้นำที่เข้มแข็ง พลังและศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งทีดีกว่าฯลฯ

ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็น่าวิตกเพราะเงินซึ่งมีบทบาทยิ่งกว่าพระเจ้าได้ถูกกำหนดและยอมให้เป็น ปัจจัยชี้ขาดในการเมืองไทย เงินนี้ก็จะเพิ่มอำนาจ และอำนาจก็จะเพิ่มเงิน ในขณะที่ทั้งสองปัจจัยนี้จำเริญขึ้นเรื่อยภายใต้การผูกขาดของบุคคลและกติกา การเมืองและสังคม ทุนทางการเมืองอื่นๆที่สำคัญและดีกว่าข้างต้นก็จะสร้างขึ้นมาไม่ได้ และที่มีอยู่ก็นับวันจะหมดไป

หวังว่าท่านผู้อ่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาและคณาจารย์ที่ได้ร่วมสนทนากันจะได้ช่วยกันศึกษาขบคิดและหาวิธีแก้ไขกันต่อไป/***

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น