วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Political

การเมืองไทยยุคทักษิณตั้งแต่ปี 2544 ได้สร้างปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวในทิศทางใหม่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ศักยภาพของนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ได้ใช้แนวทางบริหารการเมืองภายใต้ฐานคิด "ธุรกิจ+การเมือง" เป็นจุดตั้งในการบริหารจัดการพรรคการเมืองชื่อไทยรักไทย (ก่อตั้งเมื่อ 2541) นำพาพรรคชนะการเลือกตั้งและจัดการควบรวมพรรคเล็กพรรคน้อยเข้าอยู่ใต้ปีกไทยรักไทย และขึ้นบริหารประเทศในแนวทางที่ใฝ่ฝัน
การขับเคลื่อนการเมืองของประเทศออกจากความอ่อนล้า เซื่องซึม ทางเศรษฐกิจ และพลิกอำนาจของราชการที่ล้อมครอบและใช้อำนาจการเมืองตลอดมา ให้มีการจัดปรับตำแหน่งแห่งที่ทางการบริหารให้ไปตามแบบการเมืองตะวันตกในแนวทางประชาธิปไตย และใช้นโยบายประชานิยมจัดจ้านขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมยุคนั้นอย่างเต็มที่ การเมืองไทยช่วงปี 2544-2549 จึงถูกเปลี่ยนผ่าน/ขับเคลื่อนออกจากสภาวะเดิม/บริบทเดิม ด้วยระบอบทักษิณอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง
ความเคลื่อนไหวที่โดดเด่นของระบอบทักษิณคือ การขับเคลื่อนสังคมการเมืองที่พยายามผนวกเอา "ผลประโยชน์กลุ่ม" "ความใฝ่ฝันทางการเมือง" และ "ประโยชน์สุขของสังคม" คลุกเคล้าผสมผสานให้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน เพื่อเปิดพื้นที่การกระทำตามอำเภอใจ และการแสวงประโยชน์ให้เนียนกลืนไปกับความต้องการของสังคม และการครองอำนาจทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ นี่คือจุดดับที่แฝงฝังอยู่ในธรรมชาติความโดดเด่นที่เกิดขึ้น ไม่ว่ากลุ่มผู้เข้าร่วมขับเคลื่อนระบอบทักษิณและผู้เสพสมาทานระบอบนี้จะตั้งใจกระทำหรือเข้าร่วมด้วยความบริสุทธิ์ใจก็ตาม!
ปรากฏการณ์ความสดใหม่ของ "การเมืองที่กินได้" ที่เป็นผลิตผลของระบอบทักษิณ แม้จะสร้างความรู้สึกโดนใจ สร้างศรัทธาจากผู้คน โดยเฉพาะชาวบ้านที่เคยถูกกีดกัน ปิดกั้น จากการเมืองให้อยู่นอกพื้นที่ความข้องเกี่ยวกับอำนาจ จนทำให้ปรากฏการณ์สยบยอมทักษิณแพร่กระจายฝังรากความรัก ความศรัทธาจนสั่นคลอนพรรคการเมืองอื่น กลุ่มความเคลื่อนไหวต่างๆ รวมทั้งสถาบันทางสังคมที่สำคัญ แต่เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปแล้ว ผู้คนกลับพบว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมีเงื่อนงำให้เห็นว่า การจัดการพื้นที่ในระบอบประชาธิปไตยของอำนาจการเมืองระบอบทักษิณนั้นให้น้ำหนักเรื่อง "ผลประโยชน์กลุ่ม" กับ "ความใฝ่ฝันทางการเมือง" มากกว่า "ประโยชน์สุขของสังคม" ความเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจและการอำพรางผลประโยชน์ของระบอบนี้จึงปะทุอย่างเปิดเผยรุนแรงเมื่อช่วงปี 2549 จนนำไปสู่ความชะงักงัน ถดถอย ของระบอบประชาธิปไตย และเกิดความแตกแยกในสังคม รวมทั้งเปิดโอกาสให้การเมืองขั้วตรงข้ามโผล่ขึ้นมาหายใจในระยะสั้นๆ
มาถึงการเมืองวันนี้ ฯพณฯ น้องสาวอย่างคุณยิ่งลักษณ์จึงมีโอกาสมาทานผลพวงที่ ฯพณฯ พี่ชายอย่างคุณทักษิณได้สร้างทำไว้ โดยมีแนวโน้มว่าการบริหารบ้านเมืองแบบเดิมในยุคทักษิณนั้นจะถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใช้อย่างครบสูตร เพียงแต่เปลี่ยนคนทำคนละกลุ่มและมีท่าทีไม่แข็งกร้าวแบบเดิม รวมทั้งมีการเปิดพื้นที่การเมืองเล็กๆ ให้พวก ใบเฟิร์น หินรองทอง มีพื้นที่ยืนหงิมเงียบอยู่ข้างๆ ด้วย โดยหวังว่าแรงกดดันเสียดทางทางการเมืองจะเบาลงไปมาก รวมทั้งมีกลุ่มก๊วนนอกสภาฯ คอยฮึ่มฮั่มข่มขู่สังคมอยู่อีกชั้นนึงด้วย!
แต่อย่างไรก็ดีต้องไม่ลืมว่า ความเคลื่อนไหวและกติกาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้น แม้เสียงส่วนใหญ่ในการเลือกตั้งจะเป็นเสียงชี้ขาดให้พรรคการเมืองเสียงข้างมากชนะการเลือกตั้งได้ครองอำนาจการเมืองในการบริหารประเทศ แต่การขับเคลื่อนทางการเมืองนั้นขึ้นอยู่กับ "ความเชื่อถือ (trust) ไว้วางใจ" จากผู้คนและสังคมเป็นสำคัญ ดังที่สังคมการเมืองไทยมีตัวอย่างการบริหารที่ไปไม่รอดกลางคันให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง การขับเคลื่อนการเมืองที่ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากสังคม จึงเป็นเรื่องที่ต้องตระหนักระวังและไม่อาจละเลยได้!
ประเด็นที่น่าพิจารณาจากแบบแผนการเมืองจาก "ทักษิณ" ถึง "ยิ่งลักษณ์" ต่อสังคมไทยคือ การขับเคลื่อนพรรคและนโยบายการบริหารประเทศนั้นมีเป้าหมายอยู่ที่ใด? มีเงื่อนงำอำพรางใดซ่อนกลบอยู่หรือไม่? ซึ่งเรื่องนี้ไม่อาจกลบแก้ด้วยการกล่าวอ้างชัยชนะทางการเมืองหรือเสียงส่วนใหญ่จากการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ เท่านั้น เพราะตัวชี้วัดที่แท้จริงคือการจัดการกับเงื่อนปมปัญหาสำคัญของสังคมที่ฉุดรั้งความก้าวหน้าและประโยชน์สุขของผู้คนทั้งประเทศ ไม่ว่าเรื่อง การจัดการความพิกลพิการของเศรษฐกิจ-สังคม โดยเฉพาะซากเดนของระบบพาณิชย์นิยมที่โยงใยกับการคอรัปชั่น/ความบิดเบี้ยวของระบบตลาด/และความถดทอยของพลังการผลิต การสถาปนาระบบอุปถัมภ์ใหม่ที่เคลื่อนตัวจากระบบอำมาตย์เข้าการอิงซบสู่ระบบทุนและพรรคการเมือง ที่นำไปสู่การขยายความเหลื่อมล้ำและสร้างความขัดแย้งในสังคมขึ้นตลอดเวลา กระบวนการเปลี่ยนแปลงการถือครองอำนาจรัฐที่บิดเบี้ยวฉ้อฉลมากขึ้นทุกขณะ และขยายตัวกว้างขวางขึ้นอย่างน่าตกใจ รวมทั้งความป่วยไข้ของสังคมที่เกิดจากระบบการศึกษาที่เลอะเทอะ อ่อนล้า และงมงาย ฯลฯ
การจัดการปัญหาเหล่านี้จะเป็นดัชนีที่จะตอบโจทย์ในเรื่อง "ผลประโยชน์กลุ่ม" "ความใฝ่ฝันทางการเมือง" และ "ประโยชน์สุขของสังคม" ว่ายุคยิ่งลักษณ์นั้นเปิดสร้างพื้นที่ใดกว้างกว่ากันระหว่าง ตัวเองและพวกพ้อง หรือสังคมของคนส่วนใหญ่?.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น