วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ให้คนโง่เถียงกันว่าระบบสภาจกเปรตดีอย่างไร

ให้คนโง่เถียงกันว่าระบบสภาจกเปรตดีอย่างไร (ปราโมทย์ นาครทรรพ)
For Forms of Government let fools contest; whatever is best administered is best. รัฐบาลจะเป็นระบบไหน ก็ให้คนโง่เถียงกันไป อะไรก็ตามที่บริหารดีที่สุด ก็ต้องถือว่าดีที่สุด� Alexander Pope กวีอังกฤษ (พฤษภาคม 21, 1688-พฤษภาคม 30,1744 )

................................................................................

ระบบการเมืองเป็นเรื่องลอกกันยาก แต่อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ก็ไปได้สวยไม่แพ้อังกฤษประเทศแม่ แม้แต่ญี่ปุ่นก็ดัดแปลงสำเร็จ เกาหลี ไต้หวันกำลังจะตามมา ส่วนไทยเรายังไม่เห็นฝุ่น

หากอยากเหมือนต้นตำรับ ต้องรักษา core value หรือคุณค่าที่เป็นแกนอันได้แก่ rule of law คือการปกครองด้วยกฎหมาย มีกฎหมายใหญ่กว่าคนและการเมืองไว้ให้ได้เสียก่อน

ของเราแหลกเหลวลงทุกที สักแต่ว่ามีการเลือกตั้ง ปิดบังไม่ให้รู้ว่าโกงไว้เรียบร้อยแล้วล่วงหน้า ก็อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย

โกงอย่างไร ก็คือโกงโดยซื้อองค์กรและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่เกี่ยวข้องทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นไว้ล่วงหน้า ที่ไหนซื้อไม่ได้ก็ใช้กฎหมู่หรือกติกาโจรเข้าคุกคาม ส่วนหัวคะแนนและ รากหญ้าก็ซื้อผ่อนส่ง จ่ายล่วงหน้าและสารพัดวิธีซื้อ ที่อยู่เหนือปัญญาของคนสมองทึบและตาถั่ว กับทั้งจ้างล็อบบี้และรัฐบาลมหาประเทศไว้คอยขู่ทหารและคนไทยให้คอยรับผลการ เลือกตั้ง ที่ตนเองเอาเงินจากงบประมาณของคองเกรสมาช่วยสนับสนุนโฆษณาทางเว็บไซต์ รวมทั้งการฝึกอบรมจัดตั้งรากหญ้ามาเป็นปี

อย่างนี้หรือเรียกว่าเลือกตั้งเสรีสุจริตเที่ยงธรรม free and fair เลือกตั้งทาสและโสเภณีซิไม่ว่า

ผู้เขียนเรียกสภาที่แล้วของไทยว่า สภาจกเปรต มิใช่เพราะชิงชัง แต่เพื่อให้สอดคล้องกับความประพฤติและผลงานบรรดาสส. แม้แต่ในทางพุทธก็ไม่สามารถเรียกว่าสภาได้ เพราะมิใช่ที่ประชุมของคนดี

ใครชอบสะเออะว่า เรามีระบบเหมือนอังกฤษและอเมริกา สภาสูงอเมริกันเขาเลือกตั้งโดยตรงรัฐละ 2 คน ของเราล่าสุดจังหวัดละ 1 คนที่เหลือเท่ากันให้มนุษย์วิเศษเหนือกฎหมาย 6 คนเป็นผู้เลือก นี่คือประชาธิปตวย มิใช่ประชาธิปไตย

เพื่อนไทยในอเมริกาอยากเห็นดร.ไสว บุญมา เป็นสมาชิกวุฒิสภา ดร.ไสวสอบได้ที่ 1 ตั้งแต่ปริญญาตรีถึงเอก ชนะฝรั่งมังค่า จีน แขก ญี่ปุ่น ยิว เป็นอดีตนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลก เชี่ยวชาญทฤษฎีและวิธีปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง

ให้ดร.ไสวเป็นวุฒิฯสักคนจะดีไหม ผู้เขียนตอบไปว่า moot แปลว่าไร้คุณค่าไม่มีความหมาย แต่ถ้าไม่เชื่อก็ลองเสนอชื่อดู

เทวดาตดเหม็นผู้เลือกคงไม่อ่านประวัติและหนังสือของดร.ไสวเพราะมันไม่หอมหวน เหมือนกัญชากับอามิส เหมือนกับศาสตราจารย์ดร.ไพศิษฐ์ พิพัฒนกุล ปริญญากฎหมาย 3 ทวีป อดีตคณบดีนิติศาสตร์มธ. และหัวหน้าคณะกฤษฎีกา ไม่ผ่านสรรหาตุลาการรัฐธรรมนูญประเภทผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย แพ้อดีต ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีปริญญากฎหมายแค่นิติศาสตร์บัณฑิต ใบเดียว คนๆ นี้ไปช่วยโหวตให้ทักษิณชนะคดีซุกหุ้น

สภาสูงอังกฤษนั้นเป็นสภาขุนนาง สมาชิกมีทั้งสืบสายโลหิต และพระเจ้าแผ่นดินกับพรรคการเมืองตั้ง สภาล่างของอังกฤษเรียกว่า House of Commons แปลว่าสภาคนธรรมดา มีอายุ 5 ปีแต่ยุบได้ ของไทยกับอเมริกันเรียกว่า สภาผู้แทนราษฎรเหมือนกัน อเมริกันเรียกสั้นว่า House มีอายุ 2 ปี ยุบไม่ได้ ของเราเรียกสั้นว่า สภา อายุ 4 ปียุบได้ แต่หลักในการยุบต่างกันลิบลับ สภาอเมริกันไม่มีหน้าที่เลือกประธานาธิบดี (ยกเว้นกรณีพิเศษ) แต่สภาล่างของไทย และอังกฤษมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี

การเลือกนายกฯอังกฤษกับไทยต่างกันคนละโลก ทั้งในพิธี และเนื้อหาของเขาเป็นระบบพรรคที่แท้จริง ของเราเป็นระบบแก๊งเลือกตั้ง ที่อังกฤษจนกระทั่งถึงการเลือกตั้งปี ค.ศ.1998 ในบัตรเลือกตั้งไม่ต้อง ระบุชื่อพรรค เขาก็รู้ว่า พรรคไหนได้เท่าไหร่ พรรคไหนได้เสียงข้างมาก วันรุ่งขึ้นหัวหน้าพรรคก็จะไปจุมพิตพระหัตถ์ (kiss the hand) มีความหมายว่าได้รับพระบรมราชโองการให้ไปตั้งคณะรัฐมนตรีมา(ให้ดู)

พระบรมราชินีนาถจะเสด็จฯเปิดสภา เพื่อประกาศว่า ต่อไปนี้ รัฐบาลของข้าพเจ้าจะออกกฎหมายฉบับนั้นฉบับนี้ อันสอดคล้องกับนโยบายนั้นนโยบายนี้ที่พรรคสัญญากับประชาชนไว้ในคำมั่นของ พรรค(Party Manifesto) ซึ่งแต่ละพรรคจะพิมพ์สวยงามแจก ตอนหาเสียง ทุกอย่างจึงไม่มีอะไรคลุมเครือ รู้กันล่วงหน้าทั้งประเทศ

ไทยเราเพี้ยนขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2517 เมื่อก่อนใช้วิธีคุมตัว กันในโรงแรมหรือลงไปลอยเรือ แล้วก็ประกบตัวตอนโหวตเลือกในสภา ต่อมาหลัง 2534 ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ว่า ของไทยเป็นระบบเผด็จการทุนนิยมผูกขาดพรรค เพราะผู้สมัครต้องสังกัดพรรคและสส.เท่านั้นจึงจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ พรรคไล่สส.ออกได้ แต่กระนั้นก็ยังกลัวการเบี้ยว จึงมีการเสนอชื่อกันแบบปาหี่อย่างที่เสนาะ เทียนทองแสดงและโหวตโดยการขานชื่อให้ทุเรศ ได้ชื่อนายกฯ แล้ว ประธานสภาไทยต้องเข้าเฝ้าฯถวายรายงานทูลขอโปรดเกล้าฯ แต่ต้อง ทำการตรวจสอบคุณสมบัติอื่นๆ อีกครั้งก่อนตามขั้นตอนแบบเดียวกับ รัฐมนตรี เพราะนายกรัฐมนตรีก็คือรัฐมนตรีคนหนึ่ง ต่างแต่ว่าเป็นเต้ย ในหมู่ที่เท่ากัน primus inter pares หรือ First Among Equals

สภาผู้แทนราษฎรอเมริกามีอำนาจหน้าที่ตามที่อธิบายไว้สั้นๆ ว่า Make Laws คือออกกฎหมายอย่างเดียว แต่อังกฤษ เจ้าเก่าเติมอีกคำว่า Look Over Government แปลว่าดูแลควบคุมการทำงานของฝ่ายบริหาร เด็กฝรั่งทุกคนรู้จักหน้าที่ของผู้แทนตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นประถม ของเราจบดุษฎีบัณฑิตหรือเป็นถึงผบ.สารพัด รวมทั้งเป็น กกต.แล้วยังไม่เข้าใจ สภายุคสมัคร-สมชายนั้นเกือบ 2 ปีออกกฎหมายงบประมาณมาใช้เงินฉบับเดียว เท่ากับเป็นแก๊งโจรมาปล้นอำนาจอธิปไตยของปวงชนที่พระมหากษัตริย์ทรงมอบให้ แต่ก็ไม่เห็นกกต.สื่อหรือนักวิชาการว่าอะไร ส่วนการควบคุมฝ่ายบริหารนั้น สส.เป็นทาสคอยวิ่งเลียฝ่ายบริหารเสียมากกว่า

มีความเห็นยังไม่ลงกันว่า สภาล่างอังกฤษกับอเมริกัน ใครมีอำนาจกว่ากัน ส่วนใหญ่เห็นว่าอเมริกัน เพราะประธานาธิบดีต้อง ตามขออนุมัติจากสภาร่ำไป สัปดาห์ที่แล้วถึงเส้นตาย อเมริกาเกือบ ต้องล้มละลายเพราะไม่มีเงินใช้หนี้ หากขาดส่งเมื่อครบกำหนด อเมริกันก็พาเศรษฐกิจโลกลงเหว ในที่สุด 1 สิงหาคม สภากับประธานาธิบดีก็ประนีประนอมกันได้ ยอมออกกฎหมายให้รัฐบาลขยายเพดานหนี้ โล่งใจไปทั้งโลก

อย่างนี้จึงพูดกันว่าระบบการเมืองอเมริกัน มิใช่ระบบประธานาธิบดี แต่หากเป็นการปกครองโดยสภาหรือ Congressional Government ตามชื่อตำราอมตะที่ประธานาธิบดีวูดโร วิลสัน แต่งสมัยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย Princeton

เปรียบผลงานสภาไทยกับอเมริกาและอังกฤษเฉพาะเรื่องออกกฎหมาย ผู้เขียนรู้แล้วว่าสมัครพรรคพลังประชาชน 0 เพื่อไทย-สมชาย 1 ผู้เขียนกดดู Washington Post ว่าสภาที่ 112 ของอเมริกัน 2011-2012 ออกกฎหมายไปกี่ฉบับ และฉบับที่ขยายเพดานหนี้รัฐบาลพรรคไหนลงอย่างไร เพราะพรรครีพับลิกัน มีเสียงข้างมากในสภา มิใช่โอบามา

ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที ปรากฏว่า โหวตขยายเพดานหนี้ตามคำอ้อนวอนของโอบามา ให้ผ่าน 95 เดโมแครต 174 รีพับลิกัน ไม่ให้ผ่าน 95 เดโมแครต 66 รีพับลิกัน รวมแล้ว 269-161 โปรดสังเกตว่า โอบามารอดตายเพราะฝ่ายค้าน และโปรดสังเกตความเป็นอิสระต่อพรรคและภายในพรรคของผู้แทนที่เห็นประโยชน์ สูงสุดของชาติสำคัญกว่าพรรคหรือหัวหน้า จำนวนกฎหมายที่ผ่านสภาสมัยหนึ่งประมาณ 200-600 ฉบับ ปีนี้ผ่านไปแล้ว 350 ฉบับ และตกไป 369 ฉบับ

ผู้เขียนเขียนถามตรงไปที่สภาอังกฤษเมื่อเวลา 10 โมงเช้า 4 ชั่วโมงตอบมาว่า คอยไม่เกิน 1 วัน Thank you for contacting the HCIO. We answer 80% of queries within one working day. If your query is urgent please call 020 7219 4272. Your reference number is CAS-03561-S4Q9Y0. หลังจากนั้นคำตอบก็มาดังนี้ ปี 2009-2010

Total Private Members Bills โดยสมาชิก จำนวน-ตก-ผ่าน 67-60-7

Total Public Bills เสนอโดยรัฐบาล จำนวน-ตก-ผ่าน 90-60-30

ถ้าใครไม่เชื่อหรืออยากรู้อะไรเพิ่มเติม ก็ถามไปได้ที่ Debbie Cesvette, House of Commons Information Office, House of Commons, London SW1A 0AA Phone: 020 7219 4272 E-mail: hcinfo@parliament.uk Web: http://www.parliament.uk Providing information on the work, history and membership of the House of Commons

ข้อสุดท้าย สภาเขาเรียกสมาชิกกันเองว่า Gentleman หรือท่านสุภาพบุรุษ ของเราสภาที่แล้ว เรียกกันว่า ไอ้เหี้ยบ้าง และ ไอ้ควายบ้าง นี่คือสภาจกเปรต

เลือกตั้งคราวนี้ จกเปรตฝูงเดิมมาเกือบครบ และมีหางแดงฝูงใหม่ติดเข้ามาด้วย

คนดีๆ ก็คงจะมีอยู่ เปรียบเทียบกันเองเถิด แต่อย่าสะเออะว่า เรามีระบบเหมือนเขาเลย หากยังเป็นอย่างนี้

ชาติหน้าบ่ายๆ ก็ยังเร็วไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น